ที่มา โลกวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่อาจจะสามารถคุมสถานการณ์ได้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เพราะต่างยังคงหวาดระแวงกัน เมื่อหวาดระแวงก็จะยิ่งทำให้อาฆาตกันมากขึ้น การที่รัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่ปรกติของบ้านเมือง เมื่อยังคงไว้อยู่เราในฐานะประชาชนก็คงต้องคิดให้หนักว่าเขาจะใช้ไปอีกนานแค่ไหน ใช้อย่างไร สมมุติใช้อีกนานจะมีอุปสรรคอะไรกับการดำเนินชีวิตหรือไม่ จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจหรือไม่ เพื่อเราจะได้เตรียมปรับตัวให้อยู่กับมันได้ ผลกระทบทางอ้อมที่วันนี้ชาวต่างชาติเขายังไม่แน่ใจในสถานการณ์ความปลอดภัย หากจะเข้ามาเที่ยวหรือมาลงทุนในประเทศไทย ก็จะเป็นปัญหาที่คาราคาซังไปเรื่อยๆ เห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาระบุว่า น่าจะถึงเวลาที่ควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้แล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะมองว่ายังไม่ถึงเวลาเพราะยังมีผู้ที่จ้องจะก่อการร้ายอยู่ หากต่างฝ่ายต่างยังคงหวาดระแวงกันอยู่อย่างนี้เรื่อยๆก็จะทำให้การพัฒนาประเทศไปได้ช้าหรือไปไม่ได้ แถมประเทศเพื่อนบ้านเขาก็จะใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางกอบโกยเปิดประตูรับ ไม่ว่าจะเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน การค้าขาย ในขณะที่บ้านเราก็คงเงียบเหงาต่อไป ฝรั่งเขาเคยพูดไว้ว่าในภาคพื้นเอเชีย ไทยเป็นประเทศที่เสียโอกาสในการพัฒนาความเจริญมากที่สุดในระยะนี้ เป็นเพราะระบบการเมืองที่ทำให้ไม่เอื้อให้เกิดโอกาส เพราะการเมืองไทยมีแต่เล่นเกมเข้าใส่กัน เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราควรจะหันมาช่วยกันคิดว่าจะเอาอย่างไรดี เรื่องไหนถ้าหากว่าพอจะอะลุ้มอล่วยให้กันได้ หรือพอที่จะผ่อนผันให้กันได้ก็อยากให้ทำ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลนำงบประมาณลงไปเป็นแสนล้าน นำคน (ทหาร-ตำรวจ) ลงไปดูแลสถานการณ์แต่ก็ยังมีทั้งยิง ทั้งระเบิดกันอยู่ทุกวัน นึกถึงญาติโยมที่มาจากปัตตานี ยะลา ตอนนั้นเล่าให้อาตมาฟังว่า “มาเยี่ยมลูกหลานที่กรุงเทพฯนึกว่ากรุงเทพฯจะปลอดภัยกว่าที่บ้าน แต่ที่ไหนได้ มาในช่วงที่รัฐบาลกำลังกระชับพื้นที่ และบ้านลูกก็อยู่ใกล้ๆพื้นที่ที่รัฐบาลกำลังกระชับพอดี เหตุการณ์มันหนักกว่าที่ 3 จังหวัดชายแดนเสียอีก” แกบอกว่าเหมือนหนีเสือปะจระเข้ ราวกับว่าอาจมีโอกาสตายได้มากว่าที่โน่นเสียอีก หากในช่วงนี้ประเทศเราจำเป็นต้องเสี่ยงอะไรบ้างคงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เจ้าหน้าที่บางคนก็เสี่ยงอยู่แล้ว เสี่ยงจนกระทั่งอยากจะใส่เกียร์ว่าง ไม่กล้าทำอะไรให้กับรัฐบาลเต็มที่ เพราะกลัวว่าหากรัฐบาลเปลี่ยนขั้วอำนาจเมื่อไรตัวเองจะแย่ ฉะนั้นการเข้มงวดเรื่องกฎหมายมากๆ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่าคิดว่าจะป้องกันอะไรได้มาก แม้แต่อาจารย์วิริยะท่านเก่งด้านกฎหมายยังเคยออกมาวิเคราะห์กรณี “โฉนดถุงกล้วยแขก” ที่วัดสวนแก้วแพ้คดี ต้องคืนที่ดินให้เขาไป ใน “รายการคุยกับแพะ” ว่าเป็นเพราะกฎหมายบ้านเรามีช่องโหว่ มีช่องว่าง ดังนั้น อย่าคิดว่ามีกฎหมายชนิดนี้แล้วจะป้องกันความเจ็บ ความตายได้ทั้งหมด อาจทำได้แค่ให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ส่วนประชาชนนั้นไม่สะดวกในการประกอบสัมมาอาชีพ จะคิดแต่สะดวกเจ้าหน้าที่แล้วปล่อยประชาชนที่ทำมาหากินต้องลำบาก สุดท้ายเขาจะหากินไม่ได้จะยิ่งแย่ ในต่างจังหวัดหลายแห่งที่อาตมามีโอกาสเดินทางไปได้รับรู้จากชาวบ้านว่าเริ่มแย่ลงๆ แม้แต่ตามปั๊มน้ำมันที่แวะพักรถให้คนขับได้ยืดเส้นยืดสาย ได้ผ่อนคลาย ไปปั๊มไหนก็มีชาวบ้านมาบอก มาคุยว่าแย่ลงๆ ค้าขายไม่สะดวก ที่ดีก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะบ่นว่าไม่ค่อยดี บอกอึดอัด ติดขัด ไม่คล่อง นี่ขนาดชาวบ้านยังบ่น แล้วพวกที่โดนสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินคงจะแย่กว่า อย่างไรขอให้ผู้ที่มีหน้าที่บริหารประเทศชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างการคงไว้ซึ่งกฎหมายที่หลายคนบอกว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กับการยกเลิก อย่างไหนน่าจะทำให้ประชาชนได้ดีกว่ากัน อย่างไหนจะส่งผลเสีย ลองวิเคราะห์ดูว่าอย่างไหนดีกว่ากัน หรืออาจจะขยับเขยื้อนอีกหน่อย เพราะตอนนี้ใช้มานานแล้ว ที่สำคัญเราไม่สามารถบอกได้ว่าประเทศจะกลับมาปรองดองกันได้เพราะมีกฎหมายตัวนี้ หรือประเทศจะสงบเพราะมีกฎหมายตัวนี้ หรือถ้าไม่มีกฎหมายตัวนี้แล้วประเทศเดินหน้าได้คล่องขึ้น น่าจะพิจารณา แต่ถ้าเลิกไปแล้วเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น แย่ลงยังสามารถประกาศใช้ใหม่ได้ สำหรับฝ่ายที่จ้องจะก่อเรื่องขอให้หยุดกันเสียที เพราะคนเขาเบื่อสถานการณ์อย่างนี้เต็มทีแล้ว ทำให้เป็นสถานการณ์ที่สงบเหมือนเดิมจะดีกว่า เจริญพรสำนัก(ข่าว)พระพยอม จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2834 ประจำวัน อังคาร ที่ 6 กรกฏาคม 2010 โดย พระพยอม กัลยาโณ