ที่มา โลกวันนี้ พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แสดงปาฐกถาเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชนตามแนวพุทธ” ในโอกาสที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติครบรอบ 13 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าสื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา จนบางคนประณามสื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตแทนที่จะเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพราะสื่อไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ตัวกลางเพียงอย่างเดียว แต่สื่อต้องนำเสนอข้อเท็จจริงโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐหรือถูกครอบงำ โดยเฉพาะการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่เพียงสั่งปิดสื่อที่เสนอความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังแทรกแซงสื่อกระแสหลักให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ขณะที่สื่อจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะกลายพันธุ์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อย่างที่พระราชวิจิตรปฏิภาณแบ่งสื่อพิมพ์ 2 ลักษณะ โดยเปรียบเสมือนหุบเขาคนโฉดกับด่าน 18 อรหันต์ ซึ่งอาจจำแนกได้ 3 ประเภทคือ 1.สื่อสารธรรม คือสื่อที่เป็นประโยชน์ 2.สื่อสาระแน คือสื่อประเภทยุเรื่องของชาวบ้าน และ 3.สื่อสารเลว คือสื่อประเภทเป็นฝักเป็นฝ่าย มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ที่ตกเป็นข่าว ซึ่งสื่อจะต้องตรวจสอบและควบคุมกันเอง เพื่อให้เป็นสื่อที่ดีที่ให้ความรู้และความจริง ที่สำคัญคือต้องให้ทัศนวิจารณ์เพื่อที่จะเป็นสติปัญญาให้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่การเต้าข่าว พระราชวิจิตรปฏิภาณยังเห็นย่างก้าวของสื่อปัจจุบันว่ามีอยู่ 7 ก้าวคือ 1.ยุ-ทำให้เสียคนมาก็เยอะ 2.ยอ-ยอพวกเดียวกันเอง 3.ลวง-ให้ข่าวลวงๆ 4.ล่อ-เอาผลประโยชน์มาล่อ 5.ขอ-เอาคนรัก คนที่มีอำนาจทางการเมืองมาขอ 6.ขู่-ถ้าไม่ทำตามกูเดี๋ยวเถอะมึง และ 7.ข่ม-ข่มเหงรังแก ทั้ง 7 ย่างก้าวล้วนแต่เป็นย่างก้าวที่สาหัสมากสำหรับสื่อสารธรรม แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับสื่อสาระแนและสื่อสารเลว ซึ่งปาฐกถาธรรมของพระราชวิจิตรปฏิภาณถือเป็นมุมมองที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่เหมือนคนสื่อหรือองค์กรสื่อเองที่วันนี้กลับพยายามโกหกตัวเอง โดยเฉพาะจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ต้องให้ความเป็นธรรมและความจริงกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นกระบอกเสียงของอำนาจรัฐ อย่างการประกาศเข้าร่วมแผนปฏิรูปสื่อของรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลต้องปฏิรูปตัวเองและสื่อของรัฐ หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะปฏิรูปประเทศก็ต้องทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ 2 มาตรฐานจากการใช้อำนาจรัฐ องค์กรสื่อเองก็ต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่หลงทางและหลงผิด กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลอย่างทุกวันนี้บทบรรณาธิการ จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2834 ประจำวัน อังคาร ที่ 6 กรกฏาคม 2010 โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน