ที่มา ข่าวสด
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่โรงแรมสยามซิตี นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดตัวกรรมการ 8 คนอย่างเป็นทางการ
ประกอบด้วย 1.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 2.นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 3.นายเดชา สังขวรรรณ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4.น.พ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี
5.นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน 6.นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย 7.นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์สิทธิมนุษยชน 8.นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
จากนั้นกรรมการแสดงความเห็นถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดังต่อไปนี้
คณิต ณ นคร
ประธาน คอป.
หลังจากนี้กรรมการจะหารือเป็นการภายในก่อนกำหนดแผนงาน การค้นหาความจริงไม่เน้นหาความผิด-ถูก เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรม แต่จะค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยมองตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี"40 เพราะถือเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งแรก
ต้องหาเหตุให้ได้ ว่าทำไมมีรัฐประหาร ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมไทยอ่อนแอ แยกส่วนกันทำงาน
เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ช. อัยการ ต่างคนต่างมีอำนาจทำงานต่างกัน ทั้งที่มีเป้าหมายเหมือนกัน มีลักษณะอำนาจนิยมสูง จึงไม่สามารถดูแลสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น การค้นหาความจริงของคอป. จะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง เปิดเวทีในต่างจังหวัดเพื่อฟังความคิดเห็นของผู้สูญเสีย เป็นการเยียวยาจิตใจภายในมากกว่าการเยียวยาภายนอก
1.คณิต ณ นคร
2.น.พ.รณชัย คงสกนธ์
คอป.จะยึดมั่นหลักการความเป็นอิสระในการดำเนินงานอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นกลาง โปร่งใสและซื่อสัตย์ บนหลัก 3 ประการ คือ
1.ตรวจสอบและค้นหาความจริง โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ และความเสียหายทางทรัพย์สินที่เกิดในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53
รวมถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง และเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
2.ป้องกันความขัดแย้ง ทำให้เกิดความเข้าใจ และเยียวยาในระยะสั้นให้กับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ และ 3.ฟื้นฟูและเยียวยาสังคมไทย รวมถึงองค์กร สถาบัน และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
เราขอเวลานายกฯ ไม่เกิน 2 ปี รายงานทุกๆ 6 เดือน
สำหรับการดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่ง เราต้องหาข้อมูล ขอความร่วมมือจากหน่วยงานยุติธรรม กรอบการทำงานของเราไม่มุ่งลงโทษใคร แต่ต้องการดูว่ารากเหง้าเกิดจากอะไร
ยกตัวอย่าง การปฏิรูปการเมืองครั้งแรกปี"40 มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดี แต่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองล่าสุด เป็นรากเหง้าที่กรรมการต้องลงไปดู จะสามารถสาวไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้
ผมเคยเป็นกรรมการอิสระมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนวิกฤตการเมืองเดือนพ.ค.35 งานก็เสร็จเรียบร้อย แต่น่าเสียดายว่ารายงานเหตุการณ์ไม่ได้นำเสนอสู่สาธารณชน ต่อไปนี้หากมีการค้นพบข้อเท็จจริง สังคมต้องรับทราบ
ครั้งที่ 2 เป็นประธานกรรมการ คตน. เกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ตัดตอนชีวิตคนกว่า 2 พันชีวิต เป็นเรื่องที่ต่างประเทศสนใจ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
3.เดชา สังขวรรณ
4.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
5.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ยอมรับว่าคณะกรรมการชุดนี้เร่งรีบทำงาน เนื่องจากกำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ข้อเท็จจริงก็เผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่หากดำเนินการต่อจะเกิดผลมากมาย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เป็นเรื่องยากที่สุดในชีวิต ทั้งสองชุดที่เคยตรวจสอบ เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แต่ครั้งนี้เหตุการณ์ยังไม่สงบ
เราจะวิเคราะห์ข้อมูลด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำอย่างหยาบ ชี้แจงด้วยความโปร่งใส สุจริต และเป็นกลาง คณะกรรมการจะสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้ปรากฏ
น.พ.รณชัย คงสกนธ์
รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี
เหตุผลสำคัญที่เข้ามาทำ งานคือ ครอบครัวไทยถือเป็นครอบครัวใหญ่ ขณะนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย แม้กระทั่งในสถาบันครอบครัวที่มีความเห็นต่าง จนนำไปสู่สาเหตุของความขัดแย้ง
จึงคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดความปรองดอง เกิดขึ้นได้ต้องยอมรับได้ทุกฝ่าย ท้ายสุดแล้วไม่ว่าแต่ละมุมมองไหนก็มีความจริงอยู่ชุดเดียว ผมเชื่อมั่นในตัวประธานที่มีความตรงแบบไม้บรรทัด เมื่อไม้บรรทัดตรงแล้ว สามารถวัดความจริงได้แน่ๆ
ส่วนข้อสรุปที่จะเกิดเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่นั้น อย่างน้อยต้องแจ้งความคืบหน้าให้สาธารณชนทราบ ถือว่านำไปสู่การปฏิบัติได้บางส่วนแล้ว
เดชา สังขวรรณ
คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
การมารับงานนี้เพราะสังคมไทยกำลังมีปัญหา หากนิ่งดูดาย ไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหา อีกเหตุผลสำคัญคือ นายคณิตบอกชัดเจนว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนคดีความ แต่เพื่อหาข้อเท็จจริงในข้อขัดแย้งและปัญหา ทำให้ผมสบายใจที่จะร่วมงาน
การแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยไม่จำเป็นต้องใช้วัฒนธรรมความรุนแรง สังคมไทยควรเรียนรู้จากบทเรียนแล้วนำมาแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา
ที่สำคัญผมเคยทำงานกับนายคณิตในคณะกรรมการคตน. โดยเห็นแนวทางร่วมกัน
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ศึกษากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มากพอสมควร รวมไปถึงเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เชื่อว่าสามารถนำมาประยุกต์ได้ สิ่งที่ถูกละเมิดระดับแรกคือสัมพันธภาพของคนในสังคม และการรับโทษตามกฎหมายจะตามมาภายหลัง
เราเน้นกระบวนการและเป้าหมาย ถ้าดำเนินการได้ดี มีแนวร่วม เครือข่าย จะทำให้ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ได้ คาดว่าน่าจะเสร็จก่อน 2 ปี สามารถฟื้นฟูสัมพันธภาพของคนในสังคมได้
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ปลัดกระทรวงยุติธรรม
กรอบการทำงานไม่เน้นการหาข้อเท็จจริงว่าใครถูกหรือผิด ทำเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์ เราจะเพิ่มเติมการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงอีก โดยดูข้อเท็จจริงของเหตุ การณ์ จากนั้นค้นคว้าหาสาเหตุของปัญหา
ภาพรวมอยู่ในระยะเวลา 1 ปีเศษ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการต่ออายุการทำงานก็จะอยู่ในระยะ 2 ปี
กรอบการค้นหาความจริงกว้างกว่ากระบวนการยุติธรรม เราไม่มองเฉพาะข้อกล่าวหา แต่จะทำความจริงให้ปรากฏโดยร้อยเรียงภาพให้เห็นว่าความขัดแย้งที่นำมาสู่ความรุนแรงเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด
เพื่อไทย
Thursday, July 8, 2010
เปิดตัว8อรหันต์"ปรองดอง"
รายงานพิเศษ