ที่มา ประชาไท อยู่ใกล้ชิดร่วมทุกข์สุขกับชาวบ้าน เหล่านี้จะต้องเป็นผู้ปลุกปลอบ ให้กำลังใจ ให้แง่คิด ให้สติ ให้ปัญญาเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นธรรมของชาวบ้านให้คงอยู่ และพัฒนาต่อไป เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยที่จังหวัดขอนแก่น มีโอกาสได้ไปกราบนมัสการและสนทนากับ พระครูสุวิธานพัฒนบัณฑิต (สุกันยา อรุโณ) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น มีบางประเด็นที่เราน่าจะชวนกันขบคิด จึงอยากนำเสนอต่อผู้อ่าน 1. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิทยาเขตขอนแก่น นอกจากจะก่อตั้งเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก แก่พระภิกษุสามเณร และฆราวาสในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังมีความหมายในเชิง “ประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” ของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถร) ซึ่งเป็นชาวขอนแก่นที่เป็นผู้บุกเบิกการศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ การส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ การขยายโอกาสทางการศึกษาให้ลูกคนยากจนในชนบทอีสานได้มีโอกาสบวชเรียนมากขึ้น ซึ่งถ้าเขาเหล่านั้นไม่ลาสิกขาบทก็เป็นกำลังสำคัญของพุทธศาสนา ถ้าลาสิกขาบทออกไปก็เป็นคนมีประโยชน์ต่อสังคม แต่ทว่าด้วยความคิดนอกกรอบ ก้าวหน้า มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ประกอบกับในยุคนั้นมี “การเล่นการเมือง” ในวงการคณะสงฆ์เอง และการเมืองของรัฐก็เข้ามาแทรกแซงจึงทำให้สมเด็จพุฒาจารย์ (ขณะนั้นดำรงสมศักดิ์ที่ “พระพิมลธรรม”) แพ้ภัยการเมือง ถูกจับด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลสฤษิ์ ธนะรัชต์ แต่ในขณะที่ถูกบังคับและถูกดึงจีวรออกจากร่างกาย ท่านไม่ยอมเปล่งวาจาสึก ยังยืนยันความเป็นพระภิกษุของตนเอง และประพฤติปฏิบัติเยี่ยงพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน “สันติปาลาราม” ต่อมาเมื่อพ้นโทษ ท่านได้รับการถวายคืนสมณศักดิ์ และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ พร้อมกับได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพุฒาจารย์ และก่อนมรณภาพท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ฉะนั้น สำหรับพระสงฆ์ชาวขอนแก่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “หลวงพ่อพิมลธรรม” หรือ “หลวงพ่ออาจ” ท่านคือแบบอย่างของพระสงฆ์ผู้อุทิศตนเพื่อความเจริญทางการศึกษาและการเผยแผ่พุทธศาสนา ให้โอกาสทางการศึกษากับลูกคนจน เข้าถึงจิตใจของชาวบ้าน รักความเป็นธรรม และต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอย่างโดดเดี่ยวแบบ “ไม้ซีกงัดไม้ซุง” ทว่าในที่สุด “ธรรมย่อมชนะอธรรม” ท่านรองอธิการบดีกล่าวว่า “สถานที่ก่อตั้งวิทยาเขตแห่งนี้คือสถานที่ใกล้เคียงกับวัดที่พระสงฆ์และชาวขอนแก่นทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้หลวงพ่อพิมลธรรมตอนที่ท่านเพิ่งออกจากคุก มันจึงมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อาตมาจึงย้ำกับพระนิสิตที่นี่อยู่เสมอว่า เป็นนิสิตมหาจุฬาฯ ต้องรู้ประวัติหลวงพ่อพิมลธรรม ต้องซึมซับจิตวิญญาณที่รักความเป็นธรรม และต้องไม่ลืมคำเตือนของหลวงพ่อที่เคยตอกย้ำอยู่เสมอๆ ว่า เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของตนเองที่มาจากลูกชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคม” 2. วิทยาเขตแห่งนี้ต้องการสร้างพระที่ฉลาดขึ้น หมายความว่าการศึกษาต้องเน้น “มิติศาสนาเพื่อสังคม” มากขึ้น คือไม่ใช่เรียนวิชาการอย่างเดียวโดยไม่เชื่อมโยงกับทุกข์ของชาวบ้าน เราต้องรู้หลักคำสอนและวิธีคิดแบบพุทธอย่างถูกต้อง พร้อมกับเข้าใจ “ทุกขสัจจะ” ของชาวบ้าน และต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้แบบพุทธเพื่อแบ่งเบาบรรเทาทุกข์ของชาวบ้านได้ เป็นที่พึ่งทางความคิด ทางปัญญาของชาวบ้านได้ “ทุกวันนี้ชาวอีสานขาดผู้นำทางความคิด” ท่านรองอธิการบดีกล่าว “แม่ค้าขายลูกชิ้นเล่าให้อาตมาฟังว่า ที่ออกไปชุมนุมทางการเมืองไม่ใช่เพราะจนนะ เรื่องความยกจนนี่มันจนมาแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายแล้ว มันอยู่กับความจนได้ ไม่มีใครปล่อยให้ตัวเองอดตาย แต่ที่ป้าไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงเพราะมันทนไม่ได้ บ้านเมืองมันไม่ยุติธรรม ทำไมรัฐบาลที่คนอีสานเลือกมา ทำประโยชน์ให้คนจน จึงถูกทหารปฏิวัติ” ท่านเล่าต่อว่า “มันเป็นปรากฏการณ์ที่อาตมาไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่เด็กเล็ก หนุ่มสาว ป้า ลุง คนเฒ่าคนแก่พูดคุยกันแต่เรื่องการเมือง แต่ก่อนคนบ้านเราแทบไม่เคยสนใจการเมือง แต่ตอนนี้เขามองเห็นปัญหาการเมืองว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ เขาคุยกันไปไกลมาก...แต่ที่ชัดเจนมากคือชาวบ้านอีสานเกิดจิตสำนึกเรื่องความเป็นธรรม เขาเห็นว่ารัฐประหารล้มรัฐบาลที่เขาเลือกคือความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐานคือความไม่เป็นธรรม และเขาเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านการเลือกตั้งที่ทุกคนได้ใช้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน...แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนอีสานไม่มีผู้นำทางความคิดที่เป็นคนอีสานด้วยกันเอง” 3. ในมุมมองของท่านรองอธิการบดี “สำนึกความเป็นธรรมทางสังคม” ที่ท่านเห็นว่าเกิดขึ้นแล้วในคนอีสานจำนวนมาก เป็นสำนึกที่มี “คุณค่า” ที่จะต้องไม่เสื่อมสลายไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ ความสูญเสียจากการที่ชาวบ้านออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ฉะนั้น ท่านจึงเห็นว่าพระสงฆ์ที่เป็นลูกของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบในสังคม อยู่ใกล้ชิดร่วมทุกข์สุขกับชาวบ้าน พึ่งพาปัจจัยสี่จากชาวบ้าน และเป็นผู้มีโอกาสศึกษาซึมซับคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่มองว่ามนุษย์มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ได้แบ่งแยกคุณค่าของคนจากความต่างทางฐานะ หรือชาติกำเนิด พระสงฆ์เหล่านี้จะต้องเป็นผู้ปลุกปลอบ ให้กำลังใจ ให้แง่คิด ให้สติ ให้ปัญญาเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นธรรมของชาวบ้านให้คงอยู่ และพัฒนาต่อไป ท่านกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของพระนิสิต เพราะที่จริงพระพุทธเจ้าก็เกี่ยวข้องกับการเมืองเมื่อมีความจำเป็น เช่น การห้ามทัพไม่ให้พระญาติฆ่ากันเองเป็นต้น หากพระนิสิตเห็นใจชาวบ้าน เข้าใจความทุกข์ของชาวบ้าน ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยพยายามรักษาความสำรวม หรือสมณสารูปก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร...” และกล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่จริงเราอยากสร้างเครือข่ายของพระสงฆ์ทั่วภาคออีสาน เพื่อดำรงรักษา สานต่อจิตสำนึกความเป็นธรรมของชาวบ้านให้มีพลังในการต่อสู้ต่อไป โดยต้องทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และหาทางต่อสู้ที่เป็นสันติวิธีจริงๆ” นี่คือ “เสียง” อีกด้านของพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้านอีสาน และมองเห็น “จิตสำนึกความเป็นธรรมทางสังคม” ของชาวบ้านว่า เป็น “จิตสำนึกพลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณค่าควรถนอมรักษา สานต่อ และพัฒนาให้มีพลังต่อไป!