WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, July 7, 2010

ประเทศไทยกับทางเลือกที่จำกัดบทเส้นทางทาสของไอ้แก้วกับอีเย็น?

ที่มา โลกวันนี้


โต๊ะกลมระดมความคิด
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2834 ประจำวัน อังคาร ที่ 6 กรกฏาคม 2010
โดย คุมฟ้า มานมาลี

มนุษย์เราบ่อยไปที่ต้องอาศัยอยู่แล้วมีชีวิตไปด้วยความจำยอม คือหมายถึงว่าชะตากรรมนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือก หรือคล้ายกับเลือกอะไรไม่ได้อีกแล้ว อาจกลายเป็นเส้นทางในแบบเอาไงก็เอากัน...เมื่อขยายภาพกว้างให้เป็นปัญหาในระดับชาติ มีหลายสถานการณ์และเป็นไปในหลายประเทศ แนวคิดเช่นนี้ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองใช้วิธีการที่ผูกขาดอำนาจ สร้างสภาวะต่างๆในการบริหารและจัดการบ้านเมืองไปตามอุดมการณ์หรือกระทำสิ่งต่างๆให้เป็นไปเพียงความต้องการทางอัตวิสัยของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคงเข้าใจได้ว่าเป็นแนวคิดด้านหลักที่จะรักษาฐานอำนาจและผลประโยชน์ แม้ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองจะไม่พึงพอใจสักขนาดไหนก็คงจะยากสำหรับการคัดง้างและต่อต้าน

โดยเฉพาะเมื่อบ้านเมืองนั้นๆตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจเบ็ดเสร็จที่หยั่งรากลึก พร้อมใช้กลไกทุกอย่างที่จะรักษาสิ่งต่างๆให้ดำเนินไปตามความประสงค์ของผู้ปกครอง?

เมื่อสภาวะของอำนาจกดทับลงมาเช่นนั้น ผู้อยู่ภายใต้การปกครองเห็นจะไม่มีทางเลือกอะไรที่มากไปกว่าการน้อมรับและต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ เขาจะขายไข่ไก่ฟองละเท่าไร? มันก็เป็นสิทธิของเขา...ตราบใดที่ผู้ปกครองยังสามารถควบคุมกลไกในการใช้อำนาจเอาไว้ได้อย่างหนาแน่น ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอะไรดีกว่า “ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม” หรือถ้าจะพูดให้ดีกว่านี้สักหน่อย ถึงไม่ยอมรับชะตากรรมแต่มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดให้เหลืออยู่ จะรักไม่รักอย่างไรเมื่ออยู่ภายใต้ “ระบอบการปกครองชนิดคลุมถุงชน” เห็นจะต้องทนกลายเป็นลูกสะใภ้ทาสในเรือนเบี้ยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...เปรียบไปคล้าย “อีเย็น” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นางทาส” ซึ่งนำเสนออยู่เป็นประจำทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี...

การยอมรับชะตากรรมนั้นมีหลายอย่าง หากพูดถึงอีเย็น รายนี้คงต้องอธิบายว่า “ไม่ใช่เพียงอีเย็นจะถูกพันธนาการเอาไว้ด้วยความเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่อีเย็นยังถูกผูกแน่นด้วยความรักที่มีต่อเจ้านาย ผูกเอาไว้ด้วยความภักดีและซื่อสัตย์ที่คิดไปเป็นอื่นไม่ได้เลย” ภาพชีวิตของอีเย็นในละคร “นางทาส” มันจึงลึกล้ำมากเสียยิ่งกว่านางทาสคนใดๆ เพราะความเป็นทาสแท้จริงของอีเย็นยังเป็นสภาวะทาสทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้รับรองว่าแม้จะมีการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท คนอย่างอีเย็นย่อมผูกสมัครรักที่จะเป็นทาสอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะในละครนั้นอีเย็นยังตกเป็นเมียลับๆของท่านเจ้าคุณผู้เป็นนาย...

เปรียบละครนางทาสโดยแสดงผ่านตัวละครอย่างอีเย็น สภาพเช่นนี้ถือเป็นชีวิตที่ไม่มีทางเลือกอย่างโหดร้ายทารุณมากที่สุด ทารุณในแง่ที่ว่าตัวละครอย่างอีเย็นก็พร้อมใจที่จะเจ็บช้ำแม้กล้ำกลืนเพียงใดก็ยอม เนื่องจากทั้งรัก ทั้งหลง สัตย์ซื่อและบูชาเทิดทูนท่านเจ้าคุณผู้เป็นสามีที่ไม่อาจเปิดเผยได้...ชีวิตคนไทยอีกส่วนหนึ่งคงไม่แตกต่างอะไรกับอีเย็น มีสภาพคล้ายเป็นรักซึ่งไม่มีทางเลือกหรือรักที่เลือกไม่ได้

แต่มีละครเก่าในอดีตโดยบทประพันธ์ของ “รพีพร” ชื่อ “ลูกทาส” ในเรื่องนั้นเป็นชีวิตของ “ไอ้แก้ว” ลูกทาสที่ปรารถนาความเป็นไท ทั้งยังโชคดีที่อยู่อาศัยกับนายทาสอย่าง “คุณพระ” ซึ่งคุณพระนั้นก็เมตตาอยากส่งเสริมพวกลูกทาสที่มีแววและนิสัยรักดี ต้องการให้ทาสเหล่านี้ได้มีความก้าวหน้า...กระทั่งต่อมาด้วยการเมตตาปรานีจากคุณพระ พร้อมทั้งเป็นพระมหากรุณาธิคุณซึ่งล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ประกาศยกเลิกความเป็นทาส ส่งผลให้ “ไอ้แก้ว” มีความเจริญก้าวหน้า เข้ารับราชการจนกระทั่งเติบใหญ่ในฐานันดรกลายเป็นขุนน้ำขุนนางขึ้นมา?

ผู้คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งจึงสะท้อนได้จากความเป็นทาสของไอ้แก้วกับความเป็นนางทาสของอีเย็น...คนอย่างอีเย็นแม้จะมีการเลิกทาส สถานภาพเปลี่ยนไป ก็ยังถูกพันธนาการด้วยความคิดที่ถูกครอบเอาไว้ แม้กระทั่งกลายเป็นจิตสำนึกของตัวเองที่ไม่ยอมปลดปล่อยอะไรออกไป? ส่วนทาสอย่างไอ้แก้วเมื่อถูกปลดปล่อยก็ยินดีปรีดา ลงท้ายไอ้แก้วกลายเป็นขุนนางใหญ่ที่เข้าจิตเข้าใจหัวอกของพวกลูกทาสด้วยกันในบางครั้งของอารมณ์

เส้นทางของทาสอย่างอีเย็นกับไอ้แก้วจึงมีคำตอบในเบื้องปลายที่ไม่เหมือนกัน หากถือชีวิตของทาสทั้งสองเป็นอุปลักษณ์ในการเขียนถึง ให้เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในปัจจุบัน เราบอกได้ว่าสังคมไทยนั้นย่อมไม่ปรารถนาทาสอย่างอีเย็นซึ่งไม่ยอมปลดปล่อยตัวเอง มีความเป็นทาสของสภาพอำนาจนิยมและโครงสร้างของจิตสำนึกในตัวทาสเอง

ทาสอย่างไอ้แก้วที่ขวนขวายความเป็นไทก็ไม่น่าจะดีกว่า เพราะภายหลังได้เติบโตเป็นขุนนางก็ใช้ประสบการณ์เดิมเสริมสร้างอำนาจให้ตน ทำการควบคุมและข่มเหงให้ผู้คนอื่นๆได้ตกเป็นเครื่องมือรับใช้เสมือนความเป็นทาสในอดีตของตน ลงท้ายแล้วทาสอย่างไอ้แก้วก็อาจน่ากลัวกว่าอีเย็น...หรือสังคมอย่างไทยๆมันจะมีทางเลือกที่
จำกัดเหลือเกิน?