WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, July 4, 2010

ประธานองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เรียกร้อง 'สีหศักดิ์' ออกคำสั่งไทยเลิก พรก. ฉุกเฉิน

ที่มา ประชาไท


ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ส่งจดหมายเรียกร้องนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ (UNHRC) คนปัจจุบัน ให้ออกคำสั่งแก่รัฐบาลไทยยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2553 นายเบซิล เฟอร์นานโด ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ส่งจดหมายถึงนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้แทนถาวรไทยแห่งสหประชาชาติ ประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ (UNHRC) คนปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่านายสีหศักดิ์จะต้องออกคำสั่งแก่รัฐบาลไทยให้ยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายเฟอร์นานโดระบุว่ารัฐบาลไทยจะต้องยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมถึงพิจารณายกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีผลบังคับใช้มานานกว่า 5 ปี และกำลังจะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 7 ก.ค.2553 โดยระบุว่าถึงแม้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำรัฐบาลไทย จะยังมิได้มีคำสั่งให้ต่ออายุการใช้กฎอัยการศึกในภาคใต้ต่อไป แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกการบังคับใช้เช่นกัน

เนื้อหาในจดหมายได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายสีหศักดิ์ ซึ่งถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย.2553 ระบุว่า “สถานการณ์ (ในกรุงเทพฯ) สงบลงแล้ว” นายเฟอร์นานโดจึงเรียกร้องว่าหากนายสีหศักดิ์กล่าวกับสื่อมวลชนเช่นนั้นจริง ย่อมแสดงว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่รัฐบาลไทยจะต้องคงอำนาจ พรก.ฉุกเฉินเอาไว้ เนื่องจากการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อไป จะเป็นการกระทำผิด กติกาสากล ซึ่งประเทศไทยมีพันธะผูกพันและต้องปฏิบัติตามในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคี

ทั้งนี้ นายเฟอร์นานโดได้กล่าวถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ในข้อ 4 ซึ่งระบุว่า “มาตรการในการบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกควรมีขอบเขต” และ “การต่อเวลาบังคับใช้ต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละสถานการณ์” ซึ่งถ้าหากความจำเป็นเร่งด่วนที่ทำให้ต้องประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว ก็สมควรที่จะประกาศยกเลิกไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ยังได้มีการหยิบยกข้อความในรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งแสดงความวิตกกังวลต่อการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินของไทยเอาไว้ในปี 2548 ซึ่งมีใจความว่า:

“คณะมนตรีฯ มีความกังวลต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ของรัฐบาลไทย) ซึ่งมิได้กำหนดนิยามคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือขอบเขตการบังคับใช้ พรก.ที่ชัดเจน ทั้งยังมิได้กำหนดเงื่อนไขการบังคับใช้มิให้ละเมิดหรือขัดแย้งต่อพันธะอื่นๆ ของประเทศที่มีต่อกติกาสากล ซึ่งรวมถึงกติกาข้อ 4 ของกติกา ICCPR”

“สิ่งที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่งคือ พรก.ดังกล่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินจะได้รับการยกเว้นจากการดำเนินคดีตามกฎหมายและการลงโทษทางระเบียบวินัย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผู้กระทำผิดลอยนวลจากโทษที่สมควรได้รับตามกฎหมาย และการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลใดๆ เป็นเวลานานกว่า 48 ช.ม.โดยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ถือเป็นเรื่องต้องห้ามซึ่งรัฐบาลประเทศภาคีจะต้องหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้น ทั้งยังต้องรับรองว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่ละเมิดเนื้อหาในข้อ 4 ของกติกา ICCPR อีกด้วย” (CCPR/CO/84/THA, 2005, para. 13)

รัฐบาลไทยยังมิได้แก้ไขเนื้อหาหรือข้อบังคับใดๆ ใน พรก.ฉุกเฉิน นับตั้งแต่วันที่คณะมนตรีฯ ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในรายงาน ฉะนั้น การบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ตามเนื้อหาและรูปแบบเดิมเอาไว้จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อพันธะที่ประเทศไทยต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักกติกาสากล
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียแสดงความคาดหวังว่านายสีหศักดิ์จะแสดงบทบาทที่เหมาะสมในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วยการดำเนินมาตรการให้สาธารณชนประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงหรือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ AHRC ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมภายใต้อำนาจของ พรก.ฉุกเฉินทุกคนซึ่งมิได้ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดกฎหมายอาญาข้อใด และจะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมถึงจัดหาทนายมาให้และเปิดโอกาสให้ครอบครัวหรือญาติเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้

ประเด็นสำคัญที่สุดคือการดำเนินคดีหรือตั้งข้อหาผู้ถูกจับกุมจะต้องดำเนินไปอย่างเปิดเผยในกระบวนการชั้นศาล และต้องอนุญาติให้สามารถประกันตัวได้ในระหว่างรอการดำเนินคดี หรือศาลจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอประกอบการตัดสินให้ควบคุมตัวต่อไป โดยจะต้องคุมตัวเอาไว้ในสถานที่ราชการและต้องไม่มีการซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกคุมตัวเกิดขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้องค์กรหรือหน่วยงานอิสระระหว่างประเทศ อาทิ กาชาดสากล เข้าไปสำรวจและสังเกตการร์ในสถานที่คุมขังด้วย