WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, July 6, 2010

วิเคราะห์ปัญหาเรื่องสัญชาติ กรณีการขอตัว "พ.ต.ท.ทักษิณ"เป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ที่มา มติชน


โดย ... วิชัย ศรีรัตน์ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช




ดูเหมือนว่าปัญหา "สัญชาติ" ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นประเด็นปัญหากฎหมายที่ "ชี้เป็นชี้ตาย" ในเรื่องว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาดำเนินคดีอาญาหรือไม่

บทความนี้ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าเรากำลังหลงประเด็น สามเรื่องใหญ่ๆ

หนึ่ง การเข้าใจว่าการที่ พ.ต.ท.ไม่มีสัญชาติไทยแล้วทำให้ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาคดี

สอง การเข้าใจว่า "ประเด็นสัญชาติ" เป็นประเด็นหลักในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจริงๆ มิใช่ทั้งหมด

สาม เข้าใจว่าถ้าไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ถูกไต่สวนความผิด

และไม่ต้องรับผิดใดๆ "ถ้า" เขาทำผิด

ความเสียหายเกิดในไทย : ทักษิณจะมีสัญชาติไทยหรือไม่-ไม่ใช่ปัญหา

ประเทศไทยมีอธิปไตยทางศาลมาร้อยกว่าปี การที่บุคคลหนึ่ง (ไม่ว่าจะสัญชาติใดๆ) กระทำความผิดในดินแดนไทย หรือทำความผิดต่อประเทศไทย ศาลไทยย่อมมีอำนาจในการพิพากษาลงโทษต่อบุคคลนั้น

ถ้าเราไปพิจารณาเงื่อนไขสัญชาติก่อน กล่าวคือ ให้ศาลของรัฐผู้ที่บุคคลนั้นมีสัญชาติพิจารณาความผิด (ที่ทำลงในประเทศไทย) เท่ากับว่าเราถอยหลังไปใช้หลักสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งไม่มีประเทศไหนใช้หลักนี้แล้ว

กรณีเช่น คดี ป เป็ด ยืนยันได้เป็นอย่างดี ป เป็ด ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยแต่ทำความผิดในอเมริกา ถือว่ารัฐอเมริกันเสียหาย ศาลอเมริกาย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษ ป เป็ด โดยไม่ต้องคำนึงว่า ป เป็ด มีกี่สัญชาติ

ดังนั้น ในกรณีนี้ การที่เรากลับไปพิจารณาว่าบุคคลนั้นมีสัญชาติไทย หรือเสียสัญชาติไทย หรือมีกี่สัญชาติ จึง "ผิดประเด็น และไม่มีประโยชน์ใดๆ"

แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่ที่ว่า (1) ประเทศไทย (รัฐ หรือบุคคล) ได้รับความเสียหายหรือไม่ หรือ (2) ความผิดนั้นกระทำลงในแผ่นดินไทยหรือไม่ หรือ (3) เป็นความผิดสากลหรือไม่

ดังนั้น ถ้าเข้าอย่างหนึ่งอย่างใดในสามข้อข้างต้น ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดี "ส่วนทักษิณจะมีกี่สัญชาติ ไม่ใช่ปัญหา"

ประเด็นจึงมีเพียงว่า จะนำตัวมาขึ้นศาลได้อย่างไร เพราะเขาอยู่ในอธิปไตยของอีกประเทศ เราจะบุกไปจับตัวมาขึ้นศาลไทยไม่ได้ เมื่อไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะให้มอนเตเนโกรส่งตัวให้เฉยๆ ก็ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นศักดิ์ศรีของรัฐที่จะไม่ทำคำบงการของรัฐอื่น

ดังนั้น ทางปฏิบัติจึงมีหลักถ้อยที่ถ้อยอาศัย "เราจะส่งให้ท่าน ถ้าท่านจะส่งให้เรา" (ซึ่งปัจจุบันหลักนี้ได้แปลงมาเป็นข้อสัญญาหมดแล้ว)

สัญชาติมอนเตเนโกรหรือไม่ : ปัญหาของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

คดีนี้ อัยการคงไม่ต้องเสียเวลากับการหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์สัญชาติไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่น่าจะใช้เวลาในการหาข้อมูลว่าทักษิณ "มีสัญชาติมอนเตเนโกรหรือไม่" เนื่องจากรัฐธรรมนูญมอนเตเนโกร มาตรา 12 บัญญัติว่า

"พลเมืองมอนเตเนโกร (Montenegrin citizen) จะไม่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศหรือถูกส่งตัวฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใด เว้นแต่จะเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ"

ประเด็นนี้ต่างจากการพิจารณาเรื่อง "การมีหรือเสียสัญชาติไทย" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นประเด็นกฎหมายเรื่อง "การส่งผู้ร้ายข้ามแดน" (ไม่ใช่ประเด็นอำนาจศาลไทยในการพิจารณาคดีอาญา)

นั่นก็คือ รัฐบาลไทยต้องต่อสู้ให้ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ "ไม่ได้เป็นพลเมืองมอนเตเนโกร" ดังนั้น สิ่งที่อัยการไทยต้องทำคือ พิสูจน์สัญชาติมอนเตเนโกรของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะถ้ารัฐบาลไทยพิสูจน์ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีสัญชาติมอนเตเนโกร เขาก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ

นั่นคือ มอนเตเนโกรสามารถที่จะส่งตัวให้รัฐอื่นได้ เนื่องจากเขาไม่เป็นพลเมือง (ส่วนข้ออ้างไม่ส่งเนื่องจากสาเหตุด้านสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง)

สัญชาติมอนเตเนโกร : บนความคลุมเครือ

สัญชาติมอนเตเนโกรของทักษิณ มีความคลุมเครืออยู่พอสมควร ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและแง่กฎหมาย

ในเรื่องข้อเท็จ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปใด ว่าทักษิณได้สัญชาติมอนเตเนโกรหรือยัง เพราะมีเพียงคำอ้างของรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศมอนเตเนโกรออกมาชี้แจงผ่านสื่อว่าทักษิณเป็นพลเมืองของมอนเตเนโกร ซึ่งเป็นแต่เพียงข้อมูลจาก "แหล่งข่าว"

ซึ่งเราจะได้ข้อสรุปข้อเท็จจริงก็ต่อเมื่อรัฐบาลมอนเตเนโกรได้ทำจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลไทยหรือองค์การตำรวจสากลว่าจะไม่ส่งตัวให้ เนื่องจากทักษิณเป็น "พลเมือง" และการส่งพลเมืองขัดรัฐธรรมนูญมอนเตเนโกร (จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับการปฏิเสธหรือยัง)

ในเรื่องข้อกฎหมาย จากการพิจารณากฎหมายสัญชาติมอนเตเนโกร พบว่ายังมีความคลางแคลงใจในประเด็นนี้ กล่าวคือ ตาม "รัฐบัญญัติแห่งมอนเตเนโกรว่าด้วยสัญชาติ" ค.ศ.1999 (montenegro Citizenship Law, Decree No. 01-1982/2) มาตรา 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการได้สัญชาติมอนเตเนโกรไว้ 4 กรณี คือ

(1) โดยสายเลือด (พ่อหรือแม่เป็นคนมอนเต)

หรือ (2) โดยการเกิดในดินแดนของมอนเตเนโกร

หรือ (3) โดยการจดทะเบียน (โดยการขอสัญชาติ)

หรือ (4) โดยสนธิสัญญาพันธไมตรี

จะเห็นได้ว่าข้ออื่นๆ คงไม่เข้าเงื่อนไขกรณีสัญชาติมอนเตเนโกรของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ข้อที่น่าพิจารณาคือ ข้อ (3) อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 9 รัฐบัญญัติฉบับนี้เองได้ตั้งเงื่อนไขด้านระยะเวลาในกรณีการได้สัญชาติโดยการจดทะเบียน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า

"การได้สัญชาติโดยการจดทะเบียนนั้น บุคคลนั้นจะต้องมีอายุกว่า 18 ปี และพำนักอยู่ในดินแดนมอนเตเนโกรไม่น้อยกว่า 10 ปี ก่อนการขอจดทะเบียน (have rosiding in the Republic of Montenegro not earlier than 10 years prior to applying for citizenship)"

ประเด็นที่สงสัยคือว่า "ทักษิณได้พำนักในมอนเตเนโกรมาครบ 10 ปีแล้วหรือไม่ และมีหลักฐานการขอจดทะเบียนเมื่อใด"

นอกจากนั้น ปัญหาอาจมีว่าทางปฏิบัติมีการให้สัญชาติเฉพาะกรณีแก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ หรือให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ ยังมีความคลุมเครือทางกฎหมายว่า พลเมืองเหล่านี้ถือว่ามีสัญชาติและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการได้มาตามมาตรา 2 หรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเป็นการบ้านของอัยการฝ่ายไทยในการหาข้อมูลพิสูจน์

สัญญาผู้ร้ายข้ามแดน?

: ทางออกถ้า พ.ต.ท.ทักษิณมีสัญชาติมอนเตเนโกร

แม้ว่ารัฐธรรมนูญมอนเตเนโกรมีข้อยกเว้นให้ส่งพลเมืองฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับมอนเตเนโกร ก็สามารถขอให้มอนเตเนโกรส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้

ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่น่าเข้าข่ายการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง ซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะความผิดนั้นได้กระทำลง ขณะที่กฎหมายได้บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าเป็นความผิด

แต่การทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหาใช่ทางออกกรณีนี้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถคัดค้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

(นั่นคือ ข้ออ้างว่าคดีมีเหตุจูงใจทางการเมือง เสี่ยงต่อการถูกทรมาน และสภาพเรือนจำที่เลวร้าย และเสี่ยงต่อโทษประหารชีวิต)

ความเป็นไปได้ : พิจารณาในศาลมอนเตเนโกร

ผู้เขียนเห็นว่าข้อสรุปนี้ "มีความเป็นไปได้มากที่สุด" ด้วยเหตุผลทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญชาติ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน

คำถามก็คือว่า คดีนี้ศาลมอนเตเนโกรมีอำนาจพิจารณาคดีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่

คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับกฎหมายมอนเตเนโกรเรื่องอำนาจศาลเหนือคดีอาญา (Montenegro Criminal Code) และความผิดนั้นต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของมอนเตเนโกรด้วย หรือที่เรียกว่ามีฐานความผิดเหมือนกัน

ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบ Montenegro Criminal Code มีความสอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาของไทยหลายประการ ไม่ว่าหลักเรื่องอำนาจศาล เหนือดินแดน เหนือตัวบุคคล หรือเหนือความผิดสากล (มาตรา 134-136) หลักในเรื่องเจตนา และองค์ประกอบความผิด ที่สำคัญคือ "การยุยง ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด" (มาตรา 24-25) เป็นความผิดเช่นเดียวกันกับกฎหมายไทย

แต่ที่แตกต่างกันชัดเจนคือ

หนึ่ง อัตราโทษ โทษร้ายแรงสูงสุดในคดีอาญา คือ จำคุกไม่เกิน 30 ปี (ของไทย ความผิดฐานก่อการร้าย ประหารชีวิต)

สอง ความผิดฐานก่อการร้ายไม่มีในประมวลกฎหมายของมอนเตเนโกร แต่ความผิดที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่กฎหมายไทยเรียกว่า "การก่อการร้าย" บัญญัติอยู่ในมาตราต่างๆ เช่น ฐาน การก่อภยันตรายต่อสาธารณะ โดยการวางเพลิง ฯลฯ หรือความผิดฐานฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย

(ข้อแตกต่างทางกฎหมายคือ ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อข่มขู่รัฐบาล ผลคือ คดีง่ายขึ้น แต่ไทยต้องเปลี่ยนข้อหาเป็นความผิดพื้นฐาน)

ประเด็นสุดท้าย

เมื่อดูเหตุผลที่ยกมาแล้วจะเห็นได้ว่ามิใช่เรื่องง่ายในการที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐบาลเชื่อว่าต้องรับผิดชอบในคดีอาญามาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลงโทษในกรณีที่เขากระทำผิด

และถ้านำเหตุผลทั้งหมดมาผนวกกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณจ้าง GJ Alexander Knoops ซึ่งใครๆ บอกว่าจ้างมาเพื่อฟ้องรัฐบาลไทยฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่ถ้าเราได้รู้ว่า Knoops ผู้นี้คือผู้เชี่ยวชาญฝ่าย "จำเลย" ในคดีอาญาระหว่างประเทศ (หนังสือสร้างชื่อของ Knoops คือ Defenses in Contemporary International Criminal Law พิมพ์โดย Martinus Nishoff สำนักพิมพ์ตำรากฎหมายระหว่างประเทศที่ดีที่สุด) ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า ทักษิณเตรียมตัวเป็น "จำเลย" ในศาลมอนเตเนโกรเป็นอย่างดี

นี่คงเป็นคำตอบว่า ทำไมทักษิณเลือกมีสัญชาติมอนเตเนโกร พ.ต.ท.ทักษิณมองเกมได้อย่างทะลุปรุโปร่งและทำการบ้านดี

งานนี้ "ลากยาว"