วันนี้ 13 มกราคม ถือเป็นวันแรกที่มีการจัดเลือกตั้งใหม่ ส.ส. ตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
หลังจากมีมติแจกใบแดงใบเหลืองให้แก่ว่าที่ ส.ส. ที่ทุจริต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
สำหรับว่าที่ ส.ส.ที่โดน กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือแจกใบแดง เพราะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการทุจริตเลือกตั้งชัดเจน
ต้องโดนไล่ออกจากสนาม ไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งใหม่
ส่วนว่าที่ ส.ส.ที่ กกต.มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือแจกใบเหลือง เนื่องจากมีหลักฐานว่าได้ประโยชน์ จากการที่มีผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขั้นว่าเป็นตัวการในการกระทำผิด
ไม่โดนไล่ออกจากสนาม ยังมีโอกาสลงเลือกตั้งแก้ตัวใหม่ได้
ทั้งนี้ ตามโปรแกรมการจัดเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
วันที่ 13 มกราคม จะมีการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.นครราชสีมา เขต 3 เนื่องจากว่าที่ ส.ส. พรรคพลังประชาชน 3 คน โดนใบเหลือง
วันที่ 17 มกราคม จะมีการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 แทนว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน 3 คน ที่โดนใบแดง
วันที่ 20 มกราคม จะมีการเลือกตั้งใหม่หลายเขต อาทิ เลือกตั้งใหม่ ส.ส.ชัยนาท แทนว่าที่ ส.ส.พรรคชาติไทย 2 คน ที่โดนแจกใบแดง
การเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 1 จำนวน 1 ที่นั่ง เนื่องจากว่าที่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ โดนใบเหลือง
เลือกตั้งใหม่ ส.ส.อุดรธานี เขต 1 จำนวน 3 ที่นั่ง เลือกตั้งใหม่ ส.ส.อุดรธานี เขต 2 จำนวน 3 ที่นั่ง เนื่องจากว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดนใบเหลือง และเลือกตั้งใหม่ ส.ส.อุดรธานี เขต 3 จำนวน 2 ที่นั่ง เพราะว่าที่ ส.ส.จากพรรคพลังประชาชน โดนใบเหลืองและใบแดง
เลือกตั้งใหม่ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 2 จำนวน 1 ที่นั่ง เพราะว่าที่ ส.ส.พรรคชาติไทย โดนแจกใบเหลือง เลือกตั้งใหม่ ส.ส.ลำปาง เขต 1 จำนวน 1 ที่นั่ง เนื่องจากว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดนใบเหลือง
นอกจากนี้ หาก กกต.มีมติแจกใบแดงใบเหลืองเพิ่มเติมให้แก่บรรดาว่าที่ ส.ส.ที่มีเรื่องร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งในสำนวนอื่นๆที่เหลืออยู่ ก็คงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่พร้อมกันไปในวันที่ 20 มกราคม
เนื่องจากตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง กกต.จะมีเขตอำนาจในการแจกใบแดงใบเหลืองและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในห้วงก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป
เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ภายใน 30 วันนับแต่ วันเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้ สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
และกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องมีจำนวน ส.ส. อย่างน้อยร้อยละ 95 หรือ 456คน จากทั้งหมด 480 คน
นั่นก็คือ ไม่เกินวันที่ 22 มกราคม กกต.ต้องรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างน้อย 456 คน จึงสามารถเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งยังได้กำหนดว่า
ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หาก กกต.พบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัคร ส.ส.กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง
ให้ กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.ที่ทุจริตการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือแจกใบแดงใบเหลือง
โดยในกรณีที่แจกใบแดง ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นชอบ
แต่ในกรณีที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือก ตั้งใดไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือ ส.ส.ผู้ใดกระทำการทุจริตทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองได้รับเลือกตั้ง
ให้กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณาไต่สวนและสั่งให้มีการ เลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้นได้
นั่นหมายความว่า การตามสอย ส.ส.ที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้วเป็นอำนาจของศาลฎีกา เป็นผู้ชี้ขาด
ดังนั้น ในขณะนี้จนถึงวันที่ 22 มกราคม จึงเป็นห้วงเวลาที่อยู่ในเขตอำนาจของ กกต.ที่จะแจกใบแดงใบเหลืองว่าที่ ส.ส.ที่กระทำทุจริตได้
เพียงแต่กรณีการแจกใบแดง ต้องเผื่อเวลาในการส่งสำนวนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็น
และเมื่อผ่านห้วงเวลา 30 วัน มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 95เปอร์เซ็นต์ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประชุมรัฐสภา เป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง
จากนั้นก็ต้องมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ และประชุมสภาฯเลือกนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งรัฐบาล แถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารประเทศ
ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามเงื่อนเวลาและขั้นตอนของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
มาถึงวันนี้แม้การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งยังไม่สะเด็ดน้ำ หน้าตาของรัฐบาลยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน
แต่เป็นที่รู้กันว่า พรรคพลังประชาชนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ที่ประกอบด้วย
พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช
และมีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จ่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
โดยรูปการณ์โฉมหน้ารัฐบาลคงต้องออกมาในรูปแบบนี้
ยกเว้นเสียแต่จะเกิดเหตุอื่นๆ ที่มาสร้างความผันแปร
และเมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งยังไม่สะเด็ดน้ำ
ชัดเจนว่า ฝ่ายที่ได้เปรียบทางการเมือง ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง อย่างพรรคพลังประชาชน ยังตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบทางกฎหมาย
เพราะมีหลายเรื่องหลายคดีที่ต้องรอการตัดสิน อาทิ
คดีที่นายสราวุธ ทองเพ็ญ เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งขอให้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ
คดีที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ขอให้ วินิจฉัยกรณีนายสมัคร และพรรคพลังประชาชน เป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
คดีที่พรรคพลังประชาชนปลอมลายเซ็นในใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคของนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน
รวมทั้งกรณี กกต.สอบสวนเรื่องร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.ระบบสัดส่วน รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แจกเงินหัวคะแนน
ต้องลุ้นเสียวถึงขั้นยุบพรรค
ในขณะที่ฝ่ายที่เสียเปรียบทางการเมือง เป็นรองในการเลือกตั้ง แต่ไม่มีคดีร้ายแรงอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำอะไรไม่ได้
นอกจากนั่งรอให้คู่ต่อสู้โดนใบแดง ใบเหลือง รอผลคดีที่ศาลจะชี้ขาดออกมา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง เพราะการตรวจสอบการเลือกตั้งยังไม่ถึงจุดสะเด็ดน้ำ
การที่จู่ๆ คุณหญิงพจนมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท. ทักษิณ เดินทางกลับมาประเทศไทย
พร้อมเข้ามอบตัวสู้คดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก และคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซีแอสเซทฯ
แน่นอน แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกแถลงการณ์ ระบุเหตุผลการเดินทางกลับประเทศไทยของคุณหญิงพจมานอย่างชัดเจน 3-4 ข้อ
รวมทั้ง นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาตอกย้ำอีก 2-3 รอบว่า
คุณหญิงพจมานกลับมาเมืองไทย เพื่อต่อสู้คดีและทำภารกิจต่างๆ ไม่ใช่ กลับเข้ามาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหรือจัดโผ ครม.
แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการเมืองและสภากาแฟกันไปต่างๆนานา ในทำนองว่า
“นายหญิง” อาจเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆทาง การเมืองให้เกิดความลงตัว
เพราะคอการเมืองรู้ๆกันอยู่ว่า การเมืองยุคนี้เป็นยุคร่างทรง
ที่มีทั้งหัวหน้าพรรคร่างทรง กรรมการบริหารพรรคร่างทรง รวมไปถึงอาจมีทั้งนายกรัฐมนตรีร่างทรง และรัฐมนตรีร่างทรง
ถ้ามีคนที่เป็นหลัก มาการันตี
ทุกอย่างก็เจรจาลงตัวง่าย
แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงของเงื่อนไขในปัจจุบัน การเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและพรรค การเมืองของคุณหญิงพจมาน ก็ไม่ใช่จะทำได้สะดวก
เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
ถ้าคุณหญิงพจมาน หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ขยับเข้ามาบัญชาการเรื่องต่างๆทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เหมือนในสมัยที่บัญชาการพรรคไทยรักไทย
ก็อาจโดนข้อหา “นอมินี”
แม้แต่นายสมัครเอง ในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และได้พูดถึงเรื่องนอมินี
ก็กลายมาเป็นคดีการเมืองฟ้องกันอยู่ในขณะนี้
ที่สำคัญ หากปมประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นมาในช่วงที่มีนายกฯและมีรัฐบาลแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน
ถึงขั้นมีการฟ้องร้องให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค
ได้ง่ายๆเช่นกัน.
“ทีมการเมือง”
ข่าวการเมือง(วิเคราะห์)