WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, January 30, 2008

สัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (2) : แล่เนื้อเถือหนัง ‘ตุลาการภิวัฒน์’ แบบไทยๆ

สัมภาษณ์โดย มุทิตา เชื้อชั่ง และชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ที่มา
ประชาไท
24 มกราคม 2551

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมาตลอด 2 ปี อำนาจตุลาการได้มีบทบาทสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กระทั่งมีนักวิชาการออกมาชื่นชม และเรียกขานอำนาจตุลาการในยุคนี้ว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’

การที่ศาลกลายเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง การที่กฎหมายถูกกำหนดขึ้น ถูกใช้ ถูกตีความท่ามกลางคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ที่พุ่งตรงไปในระดับหลักการอย่างมากมาย คนใช้กฎหมายกับการเมือง แนบชิดกันอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นโดยไม่เคอะเขิน และได้รับแรงสนับสนุนจากสังคม ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อหลักนิติรัฐ และทำให้อำนาจตุลาการ ได้ หรือ เสีย อะไรไปบ้างระหว่างทาง

*****************************

ตอนที่ ๑ อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย


“เราใช้ต้นทุนต่างๆ มาเยอะในช่วงปีกว่าๆ อำนาจ พลัง บารมี ในหลายๆ เรื่อง แล้วมันสึกหรอไปหมด วันนี้ต้นทุนทางสังคมของชนชั้นนำจำนวนมากก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว แม้แต่ศาล ตั้งแต่คุณให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตั้งแต่คุณไม่ให้ประกันตัว กกต.หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ผมมองในทางกลับกันว่า อีกด้านหนึ่งมันกัดเซาะตัวระบบโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้”

*****************************

ตอนที่ ๒ แล่เนื้อเถือหนัง ‘ตุลาการภิวัฒน์’ แบบไทยๆ
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องตุลาการภิวัฒน์

*** ทุกวันนี้ เนื้อหาของกฎหมายเป็นยังไง โดยเฉพาะกฎหมายสูงสุด
ผมว่าเนื้อความของกฎหมายมีปัญหาแล้วในหลายเรื่อง ก็เหลือแต่คนใช้ คุณจะใช้กฎหมายในลักษณะที่เป็นธรรมไหม ที่ผ่านมา เราใช้ต้นทุนต่างๆ มาเยอะในช่วงปีกว่าๆ อำนาจ พลัง บารมี ในหลายๆ เรื่องเข้ามาแล้วมันสึกหรอไปหมด วันนี้ต้นทุนทางสังคมของชนชั้นนำจำนวนมากก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว แม้แต่ศาล ตั้งแต่คุณให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตั้งแต่คุณไม่ให้ประกันตัว กกต.หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ผมมองในทางกลับกันว่าอีกด้านหนึ่งมันกัดเซาะตัวระบบโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ผมตอบไม่ได้ว่าการกัดเซาะแบบนี้มันจะนานเท่าไรถึงจะทำลายตัวโครงกฎหมายทั้งโครง

*** ที่ผ่านมา นักกฎหมายก็ไม่เห็นทำอะไรในการพยายามตรวจสอบการใช้อำนาจศาล นักวิชาการด้านอื่นๆ ยิ่งไปกันใหญ่ เรียกขานกันเลยว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’
ก็จริง อำนาจตุลาการถือเป็นอำนาจที่ 3 ในระบอบประชาธิปไตย เขาบอกว่ามันเป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจที่ active ศาลเริ่มการเองไม่ได้ ที่ไหนไม่มีการฟ้องคดีที่นั่นไม่มีการพิพากษา แต่เราก็รับรู้เหมือนกันในมุมหนึ่งว่าอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดอาจเป็นอันตรายมากที่สุดได้ถ้ามันเริ่ม active หรือขยายหรือก้าวล่วงไปสู่อำนาจอื่น

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราอาจไม่ได้ไปมองศาล วงการกฎหมายเองก็คงไม่ได้มองระบบต่างๆ มองในแง่ดีมันทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์อะไรได้มากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในช่วงที่มีปัญหา มันจะเสียอะไรไปบ้าง

ปัญหาคือโดยพลังที่อำนาจตุลาการมีแต่เดิม มันทำให้คนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และในบ้านเราก็มีกฎหมายบังคับอยู่ จริงๆ การมีกฎหมายคุ้มครองอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องแปลก มันต้องมีความคุ้มครองคนทำงาน แต่ปัญหาคือความพอดีซึ่งขาดมากในบ้านเรา เมื่อไม่พอเหมาะพอประมาณ มันก็คือการกดขี่ในอีกด้านหนึ่ง ทำให้พูดไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี่แหละที่ยุ่งยาก ใครจะเอากระดิ่งไปผูกคอแมว

แต่เอาเข้าจริง มันก็มีความเปลี่ยนแปลง สังคมมีวิวัฒนาการ อะไรที่ถูกตั้งคำถามมันก็จะถูกถามมากขึ้น ผมเชื่อในดุลยภาพของสังคม อะไรที่เกินเลยไปจะต้องถูกดึงกลับมา แต่จะใช้เวลาแค่ไหนเท่านั้นเอง

*** ‘ตุลาการภิวัฒน์’
ตุลาภิวัฒน์ ถ้าไปดูรากฐานที่มาในภาษาอังกฤษ เรียกว่า judicial review คือการที่ฝ่ายศาลหรือฝ่ายตุลาการ ใช้อำนาจในทางตุลาการไปทบทวน ตรวจสอบการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ และทางบริหารหรือทางปกครอง

มันคือการเข้าตรวจสอบว่าการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาว่าอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไหม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานอันหนึ่งของนิติรัฐ หรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ที่ถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ....

ในอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ judicial review เขาจะมองว่า หลักประชาธิปไตยต้องถูกกำกับโดยนิติรัฐด้วย สองเสาหลักนี้เป็นเสาหลักในการค้ำยันประเทศเอาไว้ เพราะถ้าคุณปล่อยให้ผู้แทนราษฎรออกกฎหมายยังไงก็ได้ โดยไม่มีใครเหนี่ยวรั้งเลย อันตรายก็จะเกิด ประเทศที่เจอกับปัญหานี้ชัดเจนคือ เยอรมนี เยอรมนีจึงเกิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วเขาก็ใช้อำนาจในทางตุลาการไปทบทวน

อีกกรณีคือการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครอง คือกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองออกกฎ สั่งการไปกระทบสิทธิประชาชน หลักนิติรัฐก็เรียกร้องว่าเวลาที่พวกนี้ใช้อำนาจต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เมื่อเขาใช้อำนาจล่วงกรอบของกฎหมาย ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบว่าการใช้อำนาจนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็คือศาลปกครองนั่นเอง หรือในประเทศที่ไม่มีศาลปกครองก็ใช้ศาลยุติธรรมแทน

*** หมายความว่าต้องสำรวมในการใช้อำนาจด้วย
ใช่ เพราะมันมีหลักอยู่ว่า การที่เราใช้อำนาจตุลาการเข้าไปควบคุม ตรวจสอบอำนาจพวกนี้ ฝ่ายศาลเองต้องระวังและสำรวมการใช้อำนาจ หมายความว่า ศาลต้องเห็นประเด็นกฎหมายที่อยู่ในบรรดาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นกฎหมายในปัญหาทางการเมือง ซึ่งมันยุ่งยากซับซ้อนมาก ศาลจะต้องดึงเอาประเด็นทางกฎหมายออกมาแล้วทำให้เป็นประเด็นที่มันชัด แล้วมีเหตุผลในทางกฎหมายเวลาที่ตัดสิน แล้วตัดสินบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย

ศาลต้องระวังไม่ไปแสดงออกซึ่งเจตจำนงของการเมืองแทนองค์กรอื่น เช่น ถ้าจะไปวินิจฉัยว่า กฎหมายที่สภาตราขึ้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลต้องชี้ให้ได้ว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร แล้วมีเหตุผลรองรับ ไม่ใช่ศาลเห็นว่า ศาลไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ หรือเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เหมาะ แม้ว่าศาลเห็นเช่นนั้นจริงก็เอาเจตจำนงของตัวเองไปแทนที่เจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ศาลไม่มีอำนาจ ถ้าศาลทำอย่างนั้นเท่ากับว่าศาลทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ...

คำพิพากษาที่ดีต้อง educate หรือให้การศึกษากับทั้งคู่ความและสาธารณะ การให้เหตุผลอย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่ตอนต้นว่า คุณให้เหตุผลสั้นๆ ไม่ได้ เรื่องที่มันยิ่งสำคัญคุณต้องให้เหตุผลยาว และต้องชั่งน้ำหนักทุกด้าน

คุณยอมบอกว่า การเลือกตั้งโมฆะ เพราะเหตุว่า กกต. จัดคูหาเลือกตั้งถูกหรือผิด หันคูหาเข้าผนัง เท่านี้ไม่ได้ แต่คุณต้องให้เหตุผลต่อไปว่า มันทำลายเจตจำนงประชาชนอย่างไร แล้วคะแนนเสียงที่ออกมามันไม่นับเป็นเจตจำนงของประชาชนด้วยเหตุอะไร การที่ศาลจะไปตัดสินแบบนี้ ศาลไปทำลายอำนาจของปวงชนหรือไม่ อำนาจอธิปไตยของปวงชนคืออะไร คุณต้องให้เหตุผลในเชิงหลักการทั้งหมด แล้วคุณถึงจะบอกว่าคุณจะตัดสิน...

ผู้พิพากษาของศาลออกมาจากกระบวนยุติธรรม คุณเข้าไปทำงานในทางบริหาร ภายใต้การนำของรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจ ส่งคนออกไปในหน่วยงานอื่น โดยเชื่อว่า คนที่มาจากศาลนั้นเป็นคนดีกว่าคนที่อยู่ในหน่วยงานอื่น ทำไมเราถึงคิดอย่างนั้น ทำไมไม่คิดว่าคนที่อยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นคนดีมีคุณธรรมเหมือนกับคนในตุลาการ คนของกรมสรรพากรที่เขาเก่งทำไมไม่คิดว่าเขาเป็นคนดี ผมไม่ได้บอกว่าศาลไม่ดี ผมรู้จักผู้พิพากษาหลายคน มีเพื่อนเป็นผู้พิพากษา มีลูกศิษย์เป็นผู้พิพากษา หลายคนเป็นคนดี มีคนมีความสามารถเยอะ

แต่ในทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วคนดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรที่ถูกต้องเสมอ คนดีกับความถูกต้องมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันอาจจะเป็นคนละเรื่องก็ได้ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องในทางการเมืองที่มีความสลับซับซ้อน แล้วท่านผู้พิพากษาที่อยู่ระบบอย่างนี้ไม่คุ้นเคยหรอกกับไอ้ระบบการเมืองที่มันซับซ้อน

*** แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เขาอ้างศาสตร์ของอาจารย์ไปแล้วเรียบร้อย แล้วก็เคลือบด้วยเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม เรื่องนี้จะแยกแยะยังไง เพราะมันถูกผูกโยงกันไป แล้วความดีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ตัวคุณธรรมนั้นดี มนุษย์ต้องมีคุณธรรม เราก็ยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องแยกระหว่างตัวคุณธรรมกับตัวคนซึ่งอ้างคุณธรรมซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เหมือนกับที่ผมพยายามจะแยกว่า คุณต้องแยกระหว่างพระเจ้าในศาสนาคริสต์กับศาสนจักรซึ่งอ้างพระเจ้ามาดำเนินการต่างๆ ในนามของพระเจ้า เพราะทั้งศาสนจักรในยุคสมัยกลางที่อ้างพระเจ้า และคนที่อ้างว่าตัวเองมีคุณธรรมในยุคสมัยแห่งเรา ก็ต่างจะอ้างเอาพระเจ้าหรือคุณธรรม มาใช้ในทางซึ่งเป็นประโยชน์กับตัว

แน่นอน คนบางคนเป็นคนดีมีคุณธรรมก็ได้ แต่ถามว่าคนดีมีคุณธรรมทำอะไรไม่ผิดเลยเหรอ มันผิดกันได้ ปัญหาคือ เมื่อคุณอ้างว่าคุณเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว ในด้านหนึ่งคุณก็มีความคิด ความฝัน ความเชื่อของคุณ แต่มันมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีความคิด ความเชื่อ ความฝันไม่ตรงกับคุณ อย่างผมอาจมีความคิด ความฝัน ความเชื่อ ไม่ตรงกับคนซึ่งเป็นคนดีมีคุณธรรม หรืออ้างตัวเองเป็นคนดีมีคุณธรรม ถามว่าถ้าอย่างนั้น ผมเป็นเลวใช่ไหมครับ ที่สุดแล้วหลักแบบนี้มันใช้ไม่ได้

เหมือนเวลาที่บอกให้ประชาชนเลือกคนดีเวลาที่มีการเลือกตั้ง มันเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นเรื่องการเมือง การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ คนชั้นล่างก็ต้องเลือกคนที่มีผลประโยชน์ให้เขา ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงก็เหมือนกัน คุณเลือกคนที่คุณใกล้ชิด คุณมีผลประโยชน์เกี่ยวพัน มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วถามว่าทำไมคุณไม่ตำหนิชนชั้นสูงบ้าง แค่เพียงคุณอ้างว่าด้านนี้มีคุณธรรมเท่านั้นหรือ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะเข้าข้างอีกด้านหนึ่ง แต่ผมกำลังจะบอกว่า มันคือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งหมดเหมือนกัน ผมยังไม่เคยเห็นสถาบันไหนไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง

--------------------------------------------

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ประชาไท
http://www.prachatai.com/05web/th/home/11007

--------------------------------------------

จาก Thai E-News