ปฏิบัติหน้าที่ “ครั้งแรก” ในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เป็น “กลาง” สมกับที่ลั่นวาจาไว้ สำหรับ “ลูกบ้อจาย” จากเชียงราย นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าดีเราต้องชมกัน ส่วนจะรักษาความเป็น “กลาง” ไปได้นานขนาดไหน ต้องตามดู
การโหวต “นายกรัฐมนตรีคนที่ 25” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28 ม.ค. น่าจะเป็นสัญญาณยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “ฝ่ายค้าน มืออาชีพพรรคเดียว” อย่างพรรคประชาธิปัตย์นั้นทำหน้าที่ได้ “สมราคา”
เราไม่ห่วงเลยว่าฝ่ายบริหารจะไปใช้อำนาจมากมายขนาดไหน เพราะเรามีฝ่าย “ตรวจสอบ” ที่เข้มแข็งคอยเป็นหูเป็นตา จะมี “ติติง” อยู่อย่างก็ตรงที่ อดฟังวิสัยทัศน์ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เท่านั้น
เพราะ “เสียงส่วนใหญ่” ของสภาผู้แทนราษฎร ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่เหตุผลที่ว่า ได้แสดงวิสัยทัศน์มาในช่วงของการหาเสียงจนประชาชนเลือกเข้ามาด้วยเสียงข้างมากนั้นน่าจะพอแล้ว “ก็ใช่”
แต่หากจำได้จะพบว่า ตลอดเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ปฏิเสธมาโดยตลอดที่จะแสดงวิสัยทัศน์กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
สังคมไทยจึงอดเห็นการ “ดีเบต” ของผู้ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และวันนี้ก็อดดู “มวยคนละรุ่น” อีกครั้ง
แต่หลังจากวันนี้โอกาสที่ “ประชา ชน” จะได้เห็นสาระและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค ต้องรอฟังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ยังไม่กำหนดเป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อไร แต่แว่ว ๆ พรรคพลังประชาชนในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล “เตรียมการ” เรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว รอเพียงความชัดเจนเรื่องคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะมาหารือกันเพื่อกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลและแถลงต่อรัฐสภา
ซึ่งในการประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ “ครั้งแรก” ในฐานะประธานรัฐสภา ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทน ราษฎร ซึ่งต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่ “ได้ดี- เข้าตา” ขนาดไหน
การแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้นตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า จะไม่มีการ “ลงมติ” แต่ให้มีการ “อภิปราย” ได้เท่านั้น
เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เชื่อเหลือเกินว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร คงสั่งให้มีการ “ถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา”
สังคมจะได้ฟังเสียทีว่า “ใครตัวจริงเสียงจริง” และ “ใครเป็นนอมินีของใคร”.