นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติให้นายประชัย เลี่ยวไพรัช พ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.) ว่า
หลังจากนี้นายประชัยจะต้องส่งรายงานทางการเงินให้กกต.ทราบภายใน 30 วันในขณะที่อยู่ระหว่างการ เป็นหัวหน้าพรรค นับจากวันที่ กกต.มีมติตอบข้อหารือ ส่วนพรรคมัชฌิมาฯ นั้นจะต้องดำเนินการจัดประชุมพรรค เพื่อหาหัวหน้าพรรคคนใหม่และส่งรายงานการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคให้ กกต.รับทราบภายใน 45 วัน ซึ่งแรกทีเดียวจะต้องนับจากวันที่หัวหน้าพรรคฯ พ้นสภาพการเป็นหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคแล้วนั่นก็คือนับจากวันที่ 4 ธ.ค.2550 แต่กรณีนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองอาจจะมองว่าพรรคดังกล่าว ค่อนข้างจะมีปัญหาภายใน ก็เลยให้นับตั้งแต่กกต. ตอบข้อหารือ
นางสดศรี กล่าวว่า โดยระหว่างนี้นายประมวล เลี่ยวไพรัช รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 จะเป็นผู้รักษาการ แทนหัวหน้าพรรค
แต่ถ้ากระบวนการการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกระบวนการรายชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ไม่มี ีนายประมวลร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็ต้องไปดูว่า ข้อบังคับพรรคเขียนเปิดช่องไว้หรือไม่ หากข้อบังคับเปิดช่องไว้ก็ไม่มีปัญหา เมื่อถามว่า กรณีที่พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ ออกมาระบุว่า การที่นายประชัยพ้นหัวหน้าพรรคก่อนเลือกตั้งและนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะเป็นผลดีต่อการพิจารณาเรื่องยุบพรรค เพราะถือว่านายสุนทรพ้นจากกรรมการบริหารพรรคไปแล้วนั้น
นางสดศรี กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องยุบพรรคมัชฌิมาฯ นี้เป็นคนละประเด็นกับการให้นายประชัยพ้น จากการเป็นหัวหน้าพรรค แม้จะมีการดำเนินการประชุมเพื่อเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคใหม่แล้ว แต่การกระทำของนายสุนทรในฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ยังอยู่ เพราะถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว จนส่งผลให้ กกต.มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
'เมื่อพรรคมัชฌิมาธิปไตยมีการประชุมเพื่อเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่และเปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยสมมุติ ว่า นายสุนทรอาจจะไม่ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคต่อไป แต่ความผิดของนายสุนทรในฐานะกรรมการบริหารพรรคก็ยังอยู่ หากกกต.สอบสวนจนได้ข้อเท็จจริงว่าสมควรยุบพรรค และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการยุบพรรคก็ต้องไปสู้กันศาล เพราะประเด็นนี้แล้วแต่การตีความของตุลาการ'นางสดศรี กล่าว