โดย กองบรรณาธิการ
ที่มา เวบไซต์ มหาประชาชน
30 มกราคม 2551
“งาช้างไม่อาจงอกจากปากหมาฉันใด ประชาธิปไตยก็ไม่อาจงอกจากปลายกระบอกปืนฉันนั้น”
วลีอมตะการเมือง ที่ยังซ่อนความหมายไว้อย่างลุ่มลึก ล้ำค่า เป็นอมตะ
เช่นว่านี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่กำเนิดจาก “องคาพยพ” ภายใต้การทำรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่แปรสภาพมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปัจจุบัน จึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า จะเป็นกระบวนการไปสู่ “ประชาธิปไตย” ได้อย่างแท้จริง ตามที่สังคมใฝ่ฝัน
เนื่องเพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ครอบงำโดย คมช. ได้มีความพยายามแทรกแซง ทั้งบนดิน ใต้ดิน อย่างต่อเนื่อง เพื่อ “บิดเบือน-เบี่ยงเบน” เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ไปสู่ “เป้าหมาย” รัฐธรรมนูญของ คมช. โดย คมช. เพื่อ คมช.
“เป้าหมาย” ตามแผนบันได 4 ขั้นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร สะท้อนถึงวลีอมตะการเมืองที่ว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ย่อมร่างกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น”
เช่นว่านี้ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ภายใต้เงาร่าง คมช. จึงไม่อาจสลัดคราบ “รัฐธรรมนูญทหาร” ให้หลุดพ้นไปได้จากเงาในกระจก
เมื่อ “รัฐธรรมนูญ 2550” ที่ไม่มีความชอบธรรมแต่เบื้องต้น จึงไม่อาจพิจารณาลงไปในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ว่าเป็นอย่างไร
ความไม่ชอบธรรมเบื้องต้นที่ว่า
ประการหนึ่ง กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากคณะรัฐประหารมีอำนาจในการเเต่งตั้ง มิได้มาจากการประชาชน
อีกประการหนึ่ง วิธีการคัดเลือกสมัชชาเเห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 2,000 คน ไม่โปร่งใส เเละขาดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก หรืออีกประการหนึ่ง ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวกำหนดให้คณะรัฐประหารเเต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรณีพิเศษได้อีก 10 ท่าน
โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่มีกระบวนการ “จัดตั้ง” ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องความไม่เป็นกลางทางการเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงถูกกล่าวขานว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ อำมาตยาธิปไตย” แม้แต่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังระบุว่า การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับกองทัพ ซึ่งตรงข้ามกับกระบวนการประชาธิปไตย
เช่นว่านี้ ตลอดเส้นทางจากวันทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สู่วันเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 เราจึงเห็นสิ่งบอกเหตุ เห็นถึงความผิดปกติ รับรู้ “ธง” ที่โบกสะบัด ส่งสัญญาณต่อกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. 23 ธันวาคม 2550 ไม่อาจเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงกระบวนการเพื่อสกัดกั้น “ขั้วอำนาจเก่า” ไม่ให้กลับเข้าสู่อำนาจรัฐ ที่ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น ซ่อนเร้นวาระแอบแฝงในหลากรูปแบบ
ความผิดปกติที่มีการเปิดเผยอย่างแจ่มชัดไปแล้วในเรื่อง “เอกสารลับ” เพื่อสกัดกั้นอำนาจเก่า และเป็นความผิดปกติซ้ำ ที่ “เอกสารลับ” ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 4 ต่อ 1 เป่าคดีทิ้ง พลิกมติจาก “ดำ” เป็น “ขาว” สะท้อนการทำหน้าที่ กกต.อยู่ในระนาบเดียวกันกับ คมช.
ความผิดปกติของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ที่ไม่เป็นไปอย่างยุติธรรม โดยที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ต่างรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงการถูกกดดันจากกลไกรัฐ โดยเฉพาะการข่มขู่ คุกคามของฝ่ายทหาร
ความผิดปกติ ที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ก็พร้อมเปิดเผยชื่อ-ชั้นยศทหาร ที่เข้าไปคุกคามในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่ปล่อยข่าวโคมลอย ทว่าอำนาจรัฐกลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง
ความผิดปกติที่มีความพยายามคุกคามผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน อย่างต่อเนื่อง โดยปาระเบิดเข้าใส่ที่ทำการพรรคพลังประชาชน เขตเลือกตั้งที่ 3 ริมถนนสุคนธสวัสดิ์ ย่านลาดพร้าว ค่ำวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา และในวันเดียวกันก็มีการจับทหารยศนายสิบพร้อมอาวุธสงครามครบมือ ที่สะกดรอย ติดตาม ป้วนเปี้ยนอยู่หน้าบ้านผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่จังหวัดลำพูน มานานหลายวัน
ความผิดปกติที่ “กลไกรัฐ” ขับเคลื่อนไปในทิศทางเพื่อขัดขวาง สกัดกั้นผู้สมัคร ส.ส. ในสังกัดพรรคพลังประชาชน ขณะที่ฝ่ายตรงกันข้าม กลับได้รับความสะดวกอย่างอิสระ
ความผิดปกติที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลูกในไส้ คมช.พยายามเร่งรีบ ผลักดันการผ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่มอบอำนาจให้ทหารอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ไม่ต่างจากการ “ปฏิวัติเงียบ” โดยฝ่ายนิติบัญญัติจัดตั้ง ยึดอำนาจ มอบให้กับทหารอย่างกว้างขวาง ไม่ต่างจากการ “เขียนเช็คเปล่า”
ความผิดปกติที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งนอกเขตจังหวัดและในเขตจังหวัดกว่า 3 ล้านคน โดยที่การเก็บหีบบัตรนาน 1 สัปดาห์ ได้สร้างข้อเคลือบแคลงสงสัยความโปร่งใส
ความผิดปกติที่มีการสร้างกระแส แม้พรรคที่ชนะเลือกตั้ง มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ก็ไม่อาจได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ความผิดปกติที่มีความพยายามจับขั้วตั้งรัฐบาลล่วงหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช ทั้งที่ยังไม่ทราบผลเลือกตั้ง
ความผิดปกติที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธาน ครส. เข้าพบ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสข่าว “เลื่อน-ล้มเลือกตั้ง”
ความผิดปกติที่ นางสดศรี สัตยธรรม ออกมาตอกย้ำ ยืนยันมีการข่มขู่จาก “อำนาจมืด” ต่อ 5 กกต.ส่งสัญญาณในระนาบเดียวกับ “เลื่อน-ล้มเลือกตั้ง”
“ล้ม” และ “เลื่อนเลือกตั้ง” เพื่อยืดระยะเวลาการบดขยี้ “ขั้วอำนาจเก่า” โดยที่มุ่งหวังผลเบี่ยงเบนผลเลือกตั้ง ให้ผิดจากโพลล์ที่ตอกย้ำในชัยชนะของพรรคพลังประชาชน
ความพยายาม “ล้ม” และ “เลื่อนเลือกตั้ง” สะท้อนถึงแผนบันได 4 ขั้น ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ประกาศตามล้างเผ่าพันธุ์ขั้วอำนาจเก่า ไม่สัมฤทธิ์ผล
แผนบันได 5 ข้อ ที่ว่า
1. ยุบพรรคจะต้องเกิดขึ้น
2. คดีคอร์รัปชั่นจะปรากฏ
3. พรรคจะเริ่มแตกและวิ่งกระจัดกระจาย
4. คดีจะสิ้นสุด และ
5. ลงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้ง ส.ส.
เป็นแผนบันได 5 ขั้น ที่คณะรัฐประหารไม่อาจฆ่าขั้วอำนาจเก่าให้ตายได้
“ฆ่าทักษิณไม่ตาย”
ทั้งหมดนี้เป็นความผิดปกติ บนความหวาดระแวง เมื่อข้ออ้าง 4 ข้อ ในการทำรัฐประหารล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ข้ออ้าง 4 ข้อ เหตุแห่งการทำรัฐประหารที่ว่า
1. ประชาชนแตกความสามัคคี ขาดความสมานฉันท์
2. มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
3. มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
4. เรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ
ผ่านมากว่า 1 ปี ข้ออ้างเหล่านี้ ไม่สามารถพิสูจน์ให้สังคมเห็นได้อย่างกระจ่างชัด ซ้ำร้ายผ่านมากว่า 1 ปี รัฐบาลภายใต้อุ้งมือทหาร กลับทำประเทศชาติติดหล่มอยู่ในหลุมวิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมอย่างรอบด้าน สวนทางกับยุค “รัฐบาลทักษิณ” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น “ผู้นำประเทศ” แห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำแห่งการพัฒนาประเทศอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ที่ยกคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยขึ้นมาสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า
นโยบายหลากหลายได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการทุนการศึกษาเด็กยากจน ฯลฯ เป็นนโยบายที่ครองใจประชาชนอย่างเหนียวแน่นผลงานครองใจประชาชน ที่สะท้อนกลับมาอย่างเหนียวแน่นในรูปแบบผลสำรวจโพลล์ทุกสำนัก ที่ตอกย้ำ ยืนยันการเลือกตั้ง ส.ส.23 ธันวาคม จะเป็นชัยชนะของพรรคพลังประชาชน เป็นผลสำรวจโพลล์ที่มั่นคงอันสะท้อนชัยชนะเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ออกสตาร์ทจนผ่านเข้าสู่โค้งสุดท้าย
เป็นชัยชนะอย่างเหนียวแน่น ท่ามกลางการเผชิญปัญหา อุปสรรค แผนสกัดกั้น ทั้งเกมบนดินและใต้ดิน
เป็นชัยชนะท่ามกลางความหวาดระแวงของกองทัพ ภายใต้กำกับ คมช.ที่แสดงอาการหวาดหวั่นอย่างหนัก
เป็นความหวาดระแวงของ “คณะรัฐประหาร” ที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาโลก
หวั่นไหวอย่างหนักที่กำลังเข้าสู่วาระสุดท้ายแห่งการสิ้นสุดอำนาจ โดยถูก “มติประชาชน” โค่นล้มอำนาจเผด็จการ ในผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550
เพื่อไทย
Thursday, January 31, 2008
รัฐประหาร “สันหลังหวะ” เมื่อ 'ฆ่าทักษิณไม่ตาย'
จาก Thai E-News