รฟท. กังวลต้นทุนวัสดุพุ่ง กระทบทางโครงการรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง เชื่อผู้รับเหมาหาทางออกได้ พร้อมเร่งปรับแผนรถไฟทางคู่ระยะทางที่ 2 ขานรับนโยบาย “สมัคร” ก่อน เม.ย. นี้ นายนคร จันทรศร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตอนฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง กับกลุ่มกิจการร่วมค้าทีเอสซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด ระยะทาง 78 กม. วงเงิน 3,926 ล้านบาท โดยยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์ราคาต้นทุนวัสดุที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อค่าก่อสร้างที่ผู้รับเหมาเสนอไว้ แต่การทำโครงการมีความเสี่ยง ซึ่งเมื่อเซ็นสัญญากันแล้วผู้รับเหมาก็ต้องรับความเสี่ยง และต้องหาวิธีการบริหารจัดการให้ดี ทั้งนี้การพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกับสำนักนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในการปรับเพิ่มแนวเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่สถานีโคราชขึ้นไป ซึ่งในแผนเดิมยังมีการขยายเส้นทางในส่วนนี้ไม่มาก เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าประเภทน้ำตาล และมีแผนเชื่อมต่อเส้นทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาวและจีนในอนาคตด้วย รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะทางที่ 2 สายชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า–ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 176 กม. ซึ่งออกแบบเสร็จแล้ว แต่ติดเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเส้นทางผ่านเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ที่ รฟท. จะว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวน สนข. เห็นว่าควรเร่งรัดโครงการเพราะมีความจำเป็น โดยจะเร่งสรุปเสนอแนวเส้นทางเพื่อให้ทันในการประชุมคณะพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและขนส่งมวลชน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนเมษายนนี้ สำหรับโครงการก่อสร้างทางคู่ จะช่วยส่งเสริมการขนส่งระบบราง ซึ่งแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางคู่สายชายฝั่งตะวันออก ตอนฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการจัดการสินค้าทางรถไฟเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และต้นทุนการให้บริการขนส่งแบบครบวงจร