* แพทยสภาชี้ผิดอาญา-จรรยาบรรณ
“แพทยสภา” ซัดหมอจุฬาฯ ที่ออกมาประกาศไม่รับรักษาตำรวจ เพราะเจ็บแค้นแทนพันธมิตรฯ พฤติกรรมไม่เหมาะสม อาจถึงขั้นมีความผิดทั้งจรรยาบรรณและเป็นคดีอาญา พร้อมจ่อตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ขณะที่แพทย์เรียงหน้าตำหนิไม่ใช่มติของโรงพยาบาล แค่เป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่สมควรแอบอ้าง จี้แพทยสภาพิจารณาเฉียบขาด หากขาดความเหมาะสมเป็นหมอก็สมควรถอนใบอนุญาต ขณะเดียวกันกัปตันการบินไทย ออกอาการอวดดีประกาศไล่ ส.ส.พลังประชาชน ขึ้นเครื่อง อ้างปราบประชาชน ห่วงถ้าสภาพจิตไม่ปกติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ผู้โดยสารอันตรายแน่
* จี้ตรวจสภาพจิตกัปตันบินไทย-ห่วงผู้โดยสาร
จากกรณีที่มีกลุ่มแพทย์บางกลุ่มได้ออกมาแสดงพฤติกรรมชวนให้ชาวบ้านตกใจ ด้วยการอ้างเป็นกลุ่มอาจารย์แพทย์ พยาบาล และแพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน ออกแถลงการณ์ประณามผู้สั่งการ และตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบ และที่ร้ายที่สุดก็คือการประกาศว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะนำร่องเป็นแห่งแรกที่จะใช้มาตรการไม่รับตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
หมอชั่วประกาศไม่รักษาคนไข้
โดย นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมา
ประกาศว่า วันนี้ คณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้งดตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการทางสังคมที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าแพทย์และพยาบาลไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่รุนแรง
สำหรับกลุ่มแพทย์ที่ร่วมออกแถลงการณ์ครั้งนี้ ได้อ้างว่าประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาสงขลานครินทร์
นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มต้นใช้มาตรการดังกล่าวเฉพาะโรงพยาบาลจุฬาฯ เท่านั้น และได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกลุ่มอาจารย์แพทย์ พยาบาล และ แพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน เพื่อให้ใช้มาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกสถาบันตอบรับและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
แพทยสภาซัดผิดจรรยาบรรณ
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลักการทั่วไปในเรื่องของจริยธรรมและเสรีภาพการประกอบวิชาชีพแพทย์ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ หากมีผู้บาทเจ็บในภาวะฉุกเฉินซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะปฏิเสธการรักษาไม่ได้ถึงแม้ผู้บาดเจ็บจะเป็นศัตรูเป็นผู้ร้ายก็ต้องทำการรักษาตามหลักจริยธรรม แต่หากได้รับบาดเจ็บที่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์สามารถปฏิเสธการรักษาได้โดยการให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นแทน รวมทั้งหากเป็นการรักษาที่เกินความสามารถของแพทย์ แพทย์ก็สามารถที่จะปฏิเสธการรักษาได้
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่หากมีบาดแผลฉกรรจ์ และถึงขั้นรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตตามหลักแล้วแพทย์ต้องทำการรักษาไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้
“หากเป็นเรื่องฉุกเฉินแพทย์จะปฏิเสธการรักษาไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดทางอาญา ในการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ อย่างไรก็ตามผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเอาผิดมาได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ทางแพทยสภาจะได้มีการตรวจสอบข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามยังไม่มีกรณีที่ฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวเข้ามา
นายกแพทยสภา กล่าวด้วยว่า หากแพทย์จะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง จะรักหรือเกลียดใครถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ไม่ควรเอามายุ่งเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้แยกให้ออกและมีความเป็นกลางในเรื่องของความเจ็บป่วยที่รุนแรงต้องช่วยเหลือทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน
จุฬาฯ ยันไม่ได้แถลงในนามรพ.
ด้าน ศ.นพ.ธีรพงษ์ เจริญวิทย์ รอง ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในฐานะ รพ.จุฬาฯเป็นองค์ของสภากาชาดไทย ต้องยึดมั่นในหลักการความเป็นกลาง และรักษาผู้ป่วยทุกคนโดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นใคร ฝ่ายใด การแสดงความเห็นเป็นสิทธิของแพทย์ซึ่งเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ไม่ได้หมายความว่าถูกหรือผิด แต่ยืนยันว่าการแถลงข่าวไม่ได้ทำในนามโรงพยาบาล แต่ทำในนามกลุ่ม หรือบุคคล ซึ่งในองค์กรเดียวกันอาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง
ทางด้านนายแพทย์ศิริชัย หงส์สงวนศรี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทางกลุ่มดังกล่าวก็ได้ออกมาชี้แจ้งแล้วว่า การออกแถลงการณ์นั้นเปรียบเสมือน เป็นการทำเชิงสัญลักษณ์ เป็นลักษณะของการแสดงออกว่าไม่พอใจตำรวจ เป็นเรื่องความเห็นส่วนบุคคล
“ความจริงแล้ว แพทย์ไม่สามารถเลือกได้หรอกว่าจะรักษาหรือไม่รักษาใคร เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามหลักที่เราเรียนมา ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีความพอใจแต่ถึงอย่างไรถ้ามีผู้บาดเจ็บแพทย์ต้องพยายามรักษาให้อย่างดีที่สุด” นพ.ศิริชัยกล่าว
จี้แพทยสภาสอบถอดใบอนุญาต
ด้าน ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ เปิดเผยว่า มันเป็นไปไม่ได้ทางการแพทย์ เพราะว่าแพทย์ต้องรักษาคนป่วยทุกคน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต้องยึดเป็นหลักแบบเดียวกัน การที่แพทย์ออกมาพูดแบบนั้นแสดงว่าเขาไม่ใช่แพทย์ที่แท้จริง
“ผมเห็นว่าเรื่องนี้ทางแพทยสภาน่าจะเข้ามาตรวจสอบ ว่าการกระทำดังกล่าวมีเป้าประสงค์ หรือมีความต้องการที่จะให้มีความเสื่อมเสียเรื่องจรรยาบรรณ หรือภาพลักษณ์ของความเป็นแพทย์หรือไม่ แต่ถึงที่สุดแล้วจะมีการพิจารณาให้เพิกถอนใบอนุญาตวิชาชีพหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับทางมติของแพทยสภาว่ามีอย่างไร เราเข้าไปก้าวกายตรงนั้นไม่ได้” นพ.สันต์กล่าว
หมอไม่มีสิทธิ์ปัดรักษาคนไข้
ส่วนนายแพทย์เหวง โตจิราการ ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าแพทย์ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธรักษาคนไข้ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม แม้แต่ในสงครามแพทย์ชาวอเมริกันจะปฏิเสธที่จะรักษาทหารเยอรมันยังไม่ได้เลย หรือรักษาในลักษณะตั้งใจทำให้คนไข้เสียชีวิตก็ย่อมทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้วโรงพยาบาลของชาวอเมริกันต้องรับรับรักษาคนไข้ทุกราย
หรืออย่างในสมัยสงครามเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา ก็ได้เห็นมาตรการสูงส่งทางการแพทย์ที่รักษาคนที่บาดเจ็บในสงครามแม้จะไม่ใช่ฝ่ายตนเองก็ตาม
การปฏิเสธไม่รักษาผู้บาดเจ็บทำไม่ได้ นั่นคือจรรยาบรรณแพทย์ ขนาดในสงครามต่างๆ แต่ละประเทศฆ่ากันกินเลือดกินเนื้อ ยังรักษาคนเจ็บของอีกฝ่าย แล้วทำไมการปะทะกันในประเทศไทยกันเองเช่นนี้แพทย์จึงปฏิเสธที่จะรักษา
อย่างไรก็ตาม ฝากข้อคิดไว้ว่าแพทย์ไม่ควรใช้ทัศนะทางการเมืองมาเลือกปฏิบัติกับคนไข้ ว่าจะรักษาอาการของคนเจ็บฝ่ายทางนั้นทางนี้
ขณะเดียวกัน รายการ “ความจริงวันนี้” ก็ได้ประนามแนวคิดของหมอคนดังกล่าวเช่นเดียวกัน ว่าเป็นความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
กัปตันบินไทยมารยาทชั่วไล่ส.ส.
ขณะเดียวกันก็มีเรื่องกัปตันการบินไทย หัวใจพันธมิตรฯ แสดงมารยาทเลวต่อผู้โดยสาร โดยในเวลาประมาณ 06.15 น. วันที่ 8 ตุลาคม เที่ยวบินที่ TG1040 ของบริษัทการบินไทยจากท่าอากาศยานดอนเมือง มุ่งตรงไปยังท่าอากาศยาน จ.ขอนแก่น กัปตันของเครื่องบินได้ปิดประตูเครื่องบินปฏิเสธรับ นางฟาริดา สุไลมาน ส.ส.สุรินทร์ เขต 1 พรรคพลังประชาชน ขึ้นเครื่อง แถมยังประกาศว่า “เที่ยวบินนี้ไม่รับทรราช เที่ยวบินนี้ไม่รับ ส.ส.พลังประชาชนและนักการเมืองที่ทำร้ายประชาชนขึ้นเครื่อง ผมจะไม่รับพวกคุณขึ้นเครื่องตลอดชีวิต”
และต่อมาในเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน เที่ยวบินการบินไทย ทีจี 1002 ดอนเมือง-อุดรธานี กัปตันและนักบินประกาศที่จะไม่รับ ส.ส.พลังประชาชน 2 คน ประกอบไปด้วย นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคพลังประชาชน และ นางชมพู จันทาทอง ส.ส. หนองคาย เขต 1 พรรคพลังประชาชน ขึ้นเครื่องด้วยเช่นกัน
กรณีดังกล่าวผู้บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวถึงกรณีกัปตันการบินไทยไม่ให้นางฟาริดา ขึ้นเครื่องบิน ว่า เบื้องต้นจะเรียก นายจักรกฤษณ์ พงษ์ศิริ กัปตันคนดังกล่าวมาสอบสวน เพื่อทราบถึงข้อเท็จจริงก่อน
ขณะที่นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพฯ การบินไทย กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ โดยนักบินมีโอกาสปฏิเสธผู้โดยสารได้ หากร่วมเส้นทางบินแล้วเกิดความไม่สบายใจ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกลาวว่าเป็นเรื่องฝ่ายบริษัทการบินไทยจะดูแลตรวจสอบ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าแม้เป็นเอกสิทธิ์ของกัปตันที่จะให้ใครอยู่บนเครื่องหรือไม่อย่างไรก็ได้นั้นก็ว่ากันไป เพียงแต่ว่าเหตุผลทางการเมืองที่จะใช้กล่าวอ้างนั้นก็ต้องดูด้วยว่าใช้เอกสิทธิ์โดยชอบหรือไม่
"เพราะความไม่สบายใจอันเป็นความรู้สึกของกัปตันก็เกิดขึ้นได้ แต่การใช้เหตุผลทางการเมืองว่าไม่พอใจฝักฝ่ายการเมืองแล้วตัดสินใจดำเนินการแบบนี้ถือว่าเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้โดยสารซึ่งเขามาตามกติกาถูกต้องทุกอย่างโดยมีการซื้อตั๋ว"นายณัฐวุฒิ กล่าว
ด้านนางฟาริดา สุไลมาน ฝากถึงการบินไทย ให้มีการตรวจสภาวะจิตกัปตัน “อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องสภาวะทางจิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถแยกแยะเหตุและผลได้ประชาชนหรือผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้ คงไม่ปลอดภัย”
ขยายความ
ข้อบังคับแพทยสภาว่า
ด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (3) (ช) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 คณะกรรมการแพทยสภาออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมไว้ดังต่อไปนี้
หมวด 1
หลักทั่วไป
ข้อ 1. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมาย ของบ้านเมือง
ข้อ 2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
ข้อ 3. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี โดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง