WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, January 25, 2009

การเมืองคั่งแค้น ลอยแพประชาชน

ที่มา ไทยรัฐ

ทันทีที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปนัดแรก

บรรยากาศการประชุมสภาฯ ที่เคยเห็นความร่วมไม้ ร่วมมือ ถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล โดยมีวิปเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้การประชุมสภาฯ เป็นไปด้วยความราบรื่น

หายไป ไม่มีให้เห็น

สิ่งที่ปรากฏ มีแต่การตั้งป้อมเผชิญหน้า

เปิดฉากขึ้นมา ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็เดินหน้าเล่นงานนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทันที

โดยขอหารือกรณีการสั่งย้ายสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลไปเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา

อภิปรายโจมตีอย่างเผ็ดร้อน เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ

แต่นายชัยก็ออกตัวว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้ยื่นคำร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ขอให้รอคำพิพากษาของศาลเพื่อให้ได้ข้อยุติ

ขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเรื่องแรก เพื่อรับทราบรายงานการโอนงบประมาณของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่ค้างมาจากการประชุมสมัยที่แล้ว

ฝ่ายค้านก็เล่นเกมขอนับองค์ประชุมทันที

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องระดม ส.ส.เข้าห้องประชุมสภาฯ กันจ้าละหวั่น ผลปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในประชุม 235 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ หรือ 228 เสียง เพียง 7 เสียง

รอดจากสภาล่มไปได้หวุดหวิด

และเมื่อการประชุมดำเนินต่อไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็ลุกขึ้นขอนับองค์ประชุมอีกครั้ง

โดยผลการนับองค์ประชุมครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมสภาฯ 233 คน เกินกึ่งหนึ่งแค่ 5 เสียง

ผ่านเกมนับองค์ประชุมไปได้ แบบเฉียดฉิว

ท่ามกลางการอภิปรายโจมตี ไล่ประธานสภาฯ ไล่นายกฯ ไล่รัฐบาล

ระบายความอัดอั้น ฝังแค้น กันเต็มที่

จนกลายเป็นปรากฏการณ์ เสื้อแดง-เสื้อเหลืองในสภาฯ

ที่สำคัญ การที่ฝ่ายค้านเล่นเกมเสนอนับองค์ประชุมถึง 2 ครั้ง 2 คราในเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ฝ่ายรัฐบาลสามารถระดมคนเข้าห้องประชุมสภาฯได้แบบหวุดหวิด

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้การประชุมสภาฯ ต้องสะดุด เสียเวลาของส่วนรวม ไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะหาช่องตีรวนกันทุกวินาที

ทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับเอ่ยปากว่า เป็นกงกรรมกงเกวียน

เปรียบเปรยในทำนองว่า พรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นฝ่ายค้าน เคยเล่นเกมนับองค์ประชุมมาก่อน พอพลิกขั้วมาเป็นรัฐบาล ก็โดนฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุมบ้าง

ในขณะที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกตัวว่า วิธีการที่ขอให้นับองค์ประชุมแตกต่างจากที่พรรคประชาธิปัตย์เคยดำเนินการ ทั้งเนื้อหาและเหตุผลในการขอนับองค์ประชุม

แต่อย่างไรก็ตาม อาการชุลมุนจากเกมขอนับองค์ประชุม ก็ยังต่อเนื่องมาถึงการประชุมสภาฯในวันที่สอง

ก่อนเข้าสู่วาระรับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ฝ่ายค้านได้ขอนับองค์ประชุมอีกรอบ

ผลปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 219 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ โดยประธานได้สั่งปิดประชุมทันที

สภาล่ม ประเดิมเปิดสมัยประชุม

จากปรากฏการณ์ความร้อนแรงในการประชุมสภาฯ ทำให้มีคำถามตามมาว่าเหตุใดจึงมีเหตุการณ์เช่นนี้

คำตอบก็คือ เป็นเพราะการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากการพลิกขั้วการเมือง

อันเนื่องมาจากเกิดปัญหาม็อบเสื้อเหลืองต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน จนประเทศเดินหน้าไปไม่ได้

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ปฏิบัติการพลิกขั้ว หันมาสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ผนึกเสียงชูพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มาโดยปกติ ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

แต่เป็นรัฐบาลจากการหักดิบ ส่วนผสมของรัฐบาลเกิดจากการหักหลัง พลิกขั้ว

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้งปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เข้าสภาฯมาเป็นอันดับหนึ่ง

จัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช

ท่ามกลางเสียงกล่าวหาว่า นายสมัครเป็นนายกฯนอมินี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ในช่วงแรกที่นายสมัครเข้ามาเป็นนายกฯ สังคมให้โอกาสทำงานอย่างเต็มที่ เพราะต้องการเห็นความสมานฉันท์เกิดขึ้นในบ้านเมือง

แต่ผ่านไปไม่เท่าไหร่ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ก็ขยับจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกคดีให้ นายใหญ่

ส่งผลให้เกิดการเมืองนอกสภา กลุ่มพันธมิตรฯ ม็อบเสื้อเหลือง ยึดทำเนียบรัฐบาลชุมนุมต่อต้านยืดเยื้อ

รัฐบาลต้องระเหเร่ร่อนไปประชุม ครม.ที่กองบัญชาการกองทัพไทย

จนกระทั่งนายสมัครเจอคดีชิมไปบ่นไป หลุดจากตำแหน่งนายกฯ

เมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่ง พรรคพลังประชาชนได้หนุนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกฯแทน

แต่ทำเนียบรัฐบาลก็ยังโดนม็อบเสื้อเหลืองยึดต่อเนื่อง จนต้องไปตั้งทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ที่อาคารสนามบินดอนเมือง

ขณะที่การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ก็มีการเสียเลือดเสียเนื้อ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก สถานการณ์ลุกลาม ม็อบเสื้อเหลืองบุกปิดล้อมสนามบินดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

มีอำนาจรัฐ มีตำแหน่ง แต่บริหารประเทศไม่ได้

ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะติดหล่ม ทำให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนทนไม่ไหว มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก เพื่อยุติปัญหา

แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย ก็ยังตื๊อขออยู่ในอำนาจต่อไป

จนในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินชี้ขาด ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ส่งผลให้นายสมชาย ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ

สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย และทำให้เกิดการพลิกขั้วของกลุ่มเพื่อนเนวินและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

ท่ามกลางเสียงขานรับของสังคม ที่เบื่อหน่าย เข็ดขยาดกับปัญหาความแตกแยกและการชุมนุมประท้วง ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

แต่สำหรับฝ่ายที่โดนพลิกขั้ว สูญเสียอำนาจรัฐ สูญเสียผลประโยชน์ รวมถึง นายใหญ่ที่ต้องสูญเสียอำนาจในการต่อรองเพื่อทวงสมบัติคืน

แน่นอน ย่อมฝังแค้น

และด้วยปมเหตุนี้ จึงทำให้การเมืองในสภาฯ ยุคพลิกขั้ว ไม่ใช่การต่อสู้กันแบบธรรมดา

แต่เป็นการเมืองเพื่อการล้างแค้น โดยไม่คำนึงแนวทางในระบอบประชาธิปไตย

ตั้งป้อมชำระแค้นกันเป็นหลัก

นอกสภาเล่นแรง ม็อบเสื้อแดงใช้อิฐบล็อกทุ่มใส่รถของ ส.ส.ในวันโหวตเลือกนายกฯ ก่อนผันมาเป็นยุทธการปาไข่ใส่คนของรัฐบาล

ล่าสุด อารมณ์คั่งแค้น สีแดงสีเหลืองที่เคยอยู่นอกสภา ขยายลามเข้าไปในสภาฯแล้ว

ทั้งนี้จากปรากฏการณ์นับองค์ประชุมที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การระบายแค้นทางการเมืองส่งผลต่อการทำงานของสภาฯ ไม่มีบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน

ที่สำคัญ จากนี้ไปการที่ฝ่ายบริหารจะเสนอกฎหมายต่างๆที่จะใช้ในการแก้ปัญหาของชาติ ก็อาจสะดุดเพราะถูกตีรวน และถึงแม้จะผ่านสภาฯไปได้ โดยเสียงของรัฐบาลล้วนๆ แต่ก็คงขลุกขลัก ไม่ลื่นไหล

ไม่มีบรรยากาศของความสมานฉันท์ ไม่มีบรรยากาศในการสร้างความเชื่อมั่น บั่นทอนประเทศ

โดยเฉพาะการพิจารณากรอบข้อตกลงอาเซียน ที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาในวันที่ 26 มกราคมนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ถึงขั้นลงทุนไปพูดคุยกับวิปฝ่ายค้าน

ขอความร่วมมือให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงดังกล่าว ที่ประเทศไทยจะต้องร่วมลงนามและเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิตปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

เพื่อเครดิตของประเทศ ที่จะส่งผลต่อการค้า การลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

แต่จากภาพเหตุการณ์ในการประชุมสภาฯ 2 นัดที่ผ่านมา การทำงานของฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาฯ สะท้อนชัด ไม่มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน

ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ สภาฯ ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

แน่นอน ฝ่ายนิติบัญญัตินอกจากมีหน้าที่หลักในการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แต่ที่สำคัญสูงสุด สภาฯ ต้องเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ

ถ้าสภาฯไม่สามารถเป็นเวทีแก้ปัญหา

เป็นแค่เวทีชำระแค้นทางการเมือง เป็นแค่เวทีตีไก่

ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้

โดย ส.ส.ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนปวงชน ตั้งหน้าตั้งตาชำระแค้นกันอย่างเดียว

ในที่สุดประชาชนและประเทศชาติ ก็ไม่พ้นต้องกลายเป็นผู้รับกรรม.

“ทีมข่าวการเมือง”