WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, February 9, 2009

คำถามแก่นักเศรษฐศาสตร์

ที่มา มติชน

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนสองจำพวกจะออกมาให้ความเห็นถึงทางออก ซึ่งในที่สุดก็จะถูกประกอบกันขึ้นเป็นนโยบายสาธารณะ หนึ่งคือนักเศรษฐศาสตร์ และสองคือนักธุรกิจ

ผมคาดหวังว่า วิชาเศรษฐศาสตร์มอง "กำไรสูงสุด" ไว้กว้างกว่าเป้าหมายทางธุรกิจอย่างมาก เช่น ประโยชน์สุขของสังคมหรือแม้แต่มนุษยชาติโดยรวม ก็น่าจะเป็น "กำไรสูงสุด" ด้วย

โดยไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เลย ในท่ามกลางความเห็นถึงทางออกทางเศรษฐกิจช่วงนี้ ผมจึงมีคำถามโง่ๆ แก่นักเศรษฐศาสตร์ ดังนี้

1/ ในประเทศที่ประชากรคงที่มานาน เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เหตุใดเมื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือศูนย์ จึงทำให้คนตกงาน?

ก็คนแก่คนหนึ่งถูกปลดเกษียณ ก็มีคนหนุ่ม/สาวอีกคนหนึ่งเข้ามาทำงานแทน เพราะมีคนแก่น้อยหน่อยถูกเลื่อนขึ้นไปรับตำแหน่งของคนที่ถูกปลดเกษียณ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ถ้าเคยมีคนไม่มีงานทำอยู่ 0.1% ตัวเลขคนตกงานก็ยังน่าจะเท่าเดิม ไม่ใช่หรือครับ

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐก็น่าจะเก็บภาษีได้เท่าเดิม เคยใช้เงิน 5% ของงบประมาณในการซ่อมถนน ก็ยังใช้ซ่อมถนนได้เท่าเดิม, ซ่อมประปา, ซ่อมไฟฟ้า, จัดการศึกษา, โฆษณาความดีของรัฐบาล ฯลฯ ได้เหมือนปีที่ผ่านมา

ถ้าใช่ เหตุใดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงเหลือ 0% จึงทำให้ไร้เสถียรภาพ

ด้วยความไร้เดียงสาทางเศรษฐศาสตร์ ผมพยายามหาคำตอบเอง และพบว่าแม้ตำแหน่งงานและแรงงานคงที่ แต่สิ่งที่ไม่เคยคงที่เลยคือ "ความต้องการ" ของมนุษย์ปัจจุบัน มันไม่เคยเป็น 0% สักที มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 0% ก็ทำให้ "ความต้องการ" ซึ่งมีเพิ่มขึ้นไม่ได้รับการบำบัด ต้องติดลบไปทุกปี ผลก็คือ ทำให้เกิดความไม่พอใจสะสมมากขึ้นในหมู่ประชาชนไปเรื่อยๆ

ถ้าอย่างนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่เป็นหลักประกันว่า "ความต้องการ" จะถูกบำบัด อันที่จริงความเติบโตทางเศรษฐกิจของเรานั้น มาจากการกระพือ "ความต้องการ" ของมนุษย์ให้มากขึ้นไม่ใช่หรือ มี "ความต้องการ" ที่ยังไม่ถูกบำบัดรออยู่ข้างหน้าในใจของทุกคน ต่างจึงต้องขวนขวายหาทางบำบัดให้ได้ เพื่อจะไปรอ "ความต้องการ" อันใหม่ในใจ

ตกลงที่เราเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็เพื่อตอบสนอง "ความต้องการ" ที่ไม่มีการควบคุม แล้วมันจะสิ้นสุดที่ไหนหรือครับ จะถึงกับ "โลกแตก" มั้ยครับ

2/ ในกรณีของประเทศไทยซึ่งประชาชนจำนวนมาก ยังมี "ความต้องการ" อันสมเหตุสมผลและบำบัดไม่ได้มานานแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงเหลือ 0% คงทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพแน่ ผมได้ยินนักเศรษฐศาสตร์หลายคนพูดว่า รัฐต้องผลักเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยโครงการต่างๆ ของรัฐ ทั้งด้านสวัสดิการและด้านอื่นๆ

ทางด้านสวัสดิการ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเสนอว่า ให้ช่วยคนตกงานหรือคนที่เดือดร้อนที่สุดก่อน ก็ฟังดูมีเหตุผลดีนะครับ เพราะถึงไปช่วยโรงงานให้ผลิตได้เท่าเดิม ก็ไม่รู้จะเอาของไปขายใคร

ผมเข้าใจเอาเองว่า คือต้องยอมให้เขาปลดคนงาน แล้วรัฐไปช่วยคนตกงานอีกทีหนึ่ง

วิธีผลักเงินเข้าตลาดอย่างหนึ่งของรัฐก็คือ แจกเงิน 2,000 บาท แก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน แต่ก็แจกได้เฉพาะคนที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจและผู้ประกันตนเท่านั้น รัฐเชื่อว่าคนที่มีรายได้ขนาดนี้ ยากที่จะเอาเงินที่ได้นี้ไปออม ฉะนั้น อย่างไรเสียก็ต้องนำมาใช้จ่ายบริโภค ซึ่งเท่ากับหมุนกลับเข้าสู่ตลาดนั่นเอง

ผมก็เห็นด้วยครับว่า พวกเขาคงนำเงินไปบริโภคจริง

แต่น่าประหลาดที่ว่า ดูเหมือนไม่มีใครสามารถประมาณการอะไรได้มากไปกว่านั้นเลยว่า เขาจะเอาไปบริโภคอะไรเพิ่มขึ้น 2,000 บาทนี้จะถูกใช้ทำอะไร

เพราะขาดสถิติที่ใครจะคาดเดาอะไรได้ ผมจึงขอคาดเดาอย่างมั่วๆ ว่า เมื่อไม่นับส่วนที่เอาไปใช้หนี้และออมซึ่งถึงมีก็จำนวนน้อยออกไปแล้ว สัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่ออาหารจะสูงสุด โดยเฉพาะอาหารโปรตีนอันมีราคาแพงสุด และไม่ได้บริโภคบ่อยหรือมากเท่าที่ต้องการ ส่วนที่เอาไปใช้กับเสื้อผ้าอาภรณ์คงมีบ้าง แต่ไม่สูงนัก ส่วนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยคงแทบไม่มีเลย เพราะแพงเกินไป

2,000 บาทนี้ จะใช้เพื่อการลงทุนบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสุขภาพ แต่ไม่น่าจะมากไปกว่าซื้อรองเท้าใหม่ให้ลูก ส่วนด้านสุขภาพนั้น นอกจากกินโปรตีนมากขึ้นแล้ว คงไม่ได้นำไปใช้ด้านนี้สักเท่าไร เพราะราคาแพงเกินไป ทำให้น่าคิดว่าเหตุใดรัฐจึงไม่ทำให้ถูกลง เช่น เพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกาย, มีหน่วยบำบัดยาเสพติด นับตั้งแต่บุหรี่, เหล้า ไปจนถึงยาบ้า ตามชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้น

อันที่จริงคนกลุ่มที่จะได้ 2,000 บาทนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุด อย่างน้อยก็ยังมีงานทำพอจะประกันตนได้ หากเป้าหมายเพียงแต่จะผลักเงินสู่ตลาดให้มากและเร็ว ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถทำได้รวดเร็วไม่แพ้กันอยู่อีกมาก เพียงแต่อาจได้คะแนนนิยมทางการเมืองไม่มากและเป็นกลุ่มก้อนเหมือนวิธีนี้เท่านั้น

รวมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งยังค้างอยู่อีกจำนวนหลายแสนล้านบาทด้วย

เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์พูดกันมามากแล้ว ผมเพียงแต่สงสัยว่า ประเทศเราไม่ค่อยมีคนทำงานเก็บรวบรวมสถิติระดับครัวเรือน, ที่เกี่ยวกับแรงงาน, ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ "นอกระบบ", ฯลฯ ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการวางแผนเศรษฐกิจ หรือริเริ่มมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างชนิดที่ขาดไม่ได้ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ไปร่ำเรียนกันมาสูงๆ นั้น นำมาใช้ในประเทศไทยโดยไม่มีฐานข้อมูลที่เพียงพอได้อย่างไร หรือวิชาเศรษฐศาสตร์กับศีลธรรมนั้นเหมือนกัน คือ เอามาประยุกต์ใช้ได้ในทุกเงื่อนไข โดยไม่ต้องดูสถานการณ์เฉพาะของแต่ละสังคมเลย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะเป็นอย่างนี้ จึงทำให้กลุ่มคนที่เสียงดังสุดในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และไม่ได้วางบนฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย หากเป็นนักธุรกิจซึ่งมีผลประโยชน์ปลูกฝังในนโยบายอย่างชัดเจน ดูเหมือนทั้งรัฐบาลและสังคมก็เชื่อถือคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ

3/ การผลักเงินลงไปให้ได้หมุนเวียนในตลาดนั้น แทนที่จะแจกฟรี ผลักลงไปให้คนที่ควรได้เงินได้รับเงิน แต่ก็มีผลงอกเงยในระยะยาวด้วยไม่ดีกว่าหรือ ผมคิดว่าไม่ว่าจะผลักลงไปด้วยวิธีอะไร ความเร็วช้าก็ไม่สู้จะต่างกันมากนัก เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเงินของรัฐ ย่อมต้องผ่านกระบวนการที่งุ่มง่ามบ้างเป็นธรรมดา

อย่างโครงการถนนปลอดฝุ่น (ซึ่งสังคมไม่ค่อยไว้ใจนักว่าจะไม่รั่วไหล) ก็น่าจะทำให้เกิดการจ้างงานกระจายไปกว้างขวาง ถ้ากำหนดทีโออาร์ให้ต้องใช้แรงงานชาวบ้านมากๆ และวางมาตรการป้องกันการรั่วไหลให้รัดกุม ก็น่าจะดีกว่าการเอาเงินไปยัดใส่กระเป๋าคนเฉยๆ

ยังมีอะไรอื่นๆ ที่น่าทำอีกมากนะครับ อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเสนอว่า สร้างห้องสมุดแห่งชาติออนไลน์ด้วยการจ้างนักศึกษาสแกนข้อมูลลงคอมพ์ อันนี้ก็น่าสนใจ หรือพัฒนาการศึกษาด้วยการสร้างห้องสมุดจริงๆ กระจายไปให้ทั่ว ก็สามารถจ้างชาวบ้านมาเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุด โดยมีการหนุนช่วยด้านวิชาความรู้และเทคนิคอย่างทั่วถึง (ซึ่งก็ต้องจ้างงานอีกนั่นแหละ)

ทำทีวีทางด้านการศึกษาสักช่องหนึ่ง ทำให้น่าชมนะครับ ก็ต้องอาศัยฝีมือของคนจำนวนมาก ต้องเก็บข้อมูลหลายชนิด บางส่วนก็ต้องอาศัยคนท้องถิ่นช่วยเก็บ ฯลฯ เกิดการจ้างงานได้อีกไม่น้อย ในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งต้องคิดอะไรให้มากกว่าโรงเรียน

ขยายโอกาสทางการศึกษาผ่านสื่อก็น่าทำ

ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ก็ได้ อย่าคิดแต่เพียงไซโลเก็บพืชผลเท่านั้น แต่ควรคิดถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมด้วย เช่น การรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ ที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจได้ แต่อย่าจ้างเฉพาะเอ็นจีโอมาทำ ต้องเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานในหมู่ชาวบ้านเอง เกิดกระบวนการหรือถาวรวัตถุที่ชาวบ้านบริหารเอง และดูแลรักษาได้เอง

คิดไปได้อีกมากมายหลายเรื่อง และหากตั้งใจจริงอย่างแข็งขัน การผลักเงินด้วยวิธีที่ให้ผลงอกเงยเช่นนี้ ก็ไม่ได้ช้าไปกว่าการแจกเงินสักเท่าไรนัก ถึงอย่างไรก็ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาเหมือนกัน

เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็พูดถึงมาแล้วเหมือนกัน แต่ดูจะไม่มีแรงพอไปกำหนดนโยบายสาธารณะได้ นักการเมืองยังคงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขาต่อไป เหตุใดความเห็นทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่มีน้ำหนักในทางการเมืองกรณีนี้ มีกรณีไหนบ้างที่ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์มีน้ำหนักทางการเมือง ปัจจัยที่ทำให้มีหรือไม่มีน้ำหนักอยู่ตรงไหน