14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ทั่วโลก อุปโลกน์ให้วันนี้เป็น “วันแห่งความรัก” หลายที่จึงเต็มไปด้วยดอกกุหลาบ รูปหัวใจ และช็อกโกแลต
แต่จริงๆแล้ว วาเลนไทน์ เป็นชื่อของนักบุญองค์หนึ่ง...
นักบุญที่ทำให้ จักรพรรดิที่โรมเกิดความสำนึก และผู้พิพากษาซึ่งเคยเยาะเย้ยท่านในเรื่องที่คริสตังชอบกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงเป็นองค์ความสว่างของโลก” ได้กลับใจมาเป็นคาทอลิก เพราะทำให้บุตรสาวของเขาหายจากตาบอด
วาเลนไทน์จึงเป็นแบบอย่างและกำลังใจในเรื่องของความเชื่อ และความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์
โดยเฉพาะความรักที่บริสุทธิ์ปราศจากเงื่อนไขใดๆ เช่น ความรัก ที่แม่มีต่อลูก
และก็น่าแปลกที่เรื่องราวของอาการตาบอดกับเรื่องราวของความรักถูกจับมาโยงใยเข้าหากันในพ.ศ.นี้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อล่าสุดแพทย์ค้นพบว่าสายใยรักจาก “อกแม่” หรือ “น้ำนม” มีสารอาหารชนิดหนึ่ง ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการตาบอดของทารกและเด็กเล็กๆ
“ลูทีน” คือ สารที่ว่านั้น
รศ.นพ. สรายุทธ สุภาพรรณชาติ กุมารแพทย์จากชมรมเวชศาสตร์ ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย เปิดเผยเรื่องราวนี้ ในงานประชุมวิชาการของชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้
คุณหมอสรายุทธ บอกว่า ลูทีน...เป็นสารอาหารในกลุ่มที่เรียกว่า แซนโทฟิลส์ (Xanthophylls) มีลักษณะเป็นสารสีเหลือง ที่มีผลต่อการปกป้องดวงตาของคนเรา
มีการศึกษาพบว่า ในจอประสาทตาจะมีร่องเล็กๆ อยู่จุดหนึ่งที่มีเซลล์รับภาพ ซึ่งเป็นจุดที่แสงตกกระทบ ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนในแต่ละวัน ซึ่งบริเวณที่มีปริมาณของสารลูทีนอยู่หนาแน่นมากที่สุด เป็นจุดที่สำคัญมากต่อการมองเห็น
หากจุดที่ว่านี้ เกิดเสื่อมหรือเสียไป ก็จะทำให้ตาบอดหรือสูญเสียการมองเห็นได้
“สารลูทีนในเซลล์รับภาพในจอประสาทตานี้ จะทำหน้าที่สำคัญ คือ คัดกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไป...
ทั้งแสงแดดในเวลากลางวัน แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ และแสงจากหลอดไฟ” คุณหมอสรายุทธ บอก
คุณหมอสรายุทธ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเด็กอายุมากขึ้น สารลูทีน ในเลือดจะลดลง หากไม่ได้รับสารนี้จากอาหารอย่างเพียงพอ เพราะลูทีนถือเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญในการปกป้องจอประสาทตา
มีกรดไขมัน DHA และ AA ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก
ซึ่งนอกจากจะพบลูทีนในดวงตาของคนเราแล้ว สารนี้ยังพบได้ในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นถึง 66% พิสูจน์ว่า ลูทีนมีส่วนช่วยในการรับภาพและส่งต่อไปยังสมอง นอกจากนี้ ลูทีนยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ในดวงตาของคนเรา
เพราะในดวงตาของเราจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่ ที่เป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพและทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
การศึกษาในต่างประเทศ พบด้วยว่า ปริมาณของลูทีนในกลุ่มเด็กแรกเกิดที่กินนมแม่กับกลุ่มเด็กแรกเกิดที่ได้รับนมผสม มีปริมาณลูทีนในเลือดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่หลังอายุ 1 เดือน กลุ่มเด็กที่ได้รับนมแม่จะมีปริมาณลูทีนเฉลี่ยในเลือดอยู่ในระดับสูง แต่กลุ่มเด็กที่ได้รับนมผสมจะมีปริมาณลูทีน เฉลี่ยในเลือดลดลง
ตรงกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า...
แม่ไทยนิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนต่ำติดอันดับสุดท้ายเอเชีย และติดอันดับ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก ทำให้เด็กไทย มีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน โดย 1 ใน 3 มีพัฒนาการช้า
นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ผลการศึกษาพัฒนาการและระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลง
ล่าสุด พบว่าเด็กไทยอายุ 6-13 ปี มีไอคิวอยู่ที่ 88 จุด ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้คือ 90-110 จุด
และผลสำรวจพัฒนาการสมวัยของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ ล่าสุดในปี 2550 มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2550
ถือเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตเด็กไทยที่น่าห่วงมาก
ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือ แม่ไทยในยุคหลังๆ นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในอัตราที่ต่ำมาก ผลการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ในปี 2549 พบประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย และเป็นลำดับที่ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ส่วนในเรื่องของสุขภาพสายตา มีข้อมูลว่าเด็กไทยทุกวันนี้ มีสายตา แย่ลง หลายคนต้องใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 5 ขวบ
ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เด็กไทยในพ.ศ.นี้ มีภาวะของความไม่ปกติทางสายตาสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์และพฤติกรรมที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ
โรคจอประสาทตาเสื่อมในเด็ก แม้จะพบไม่บ่อยแต่ก็รุนแรง เพราะจอประสาทตา ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดต่อการรับภาพและมองเห็นภาพชัดเจน โดยทำหน้าที่เปลี่ยนแสงที่ตกกระทบเป็นสัญญาณภาพไปแปลผลที่สมอง
เมื่อจอประสาทตาผิดปกติ หรือถูกทำลายจะทำให้เห็นภาพเลือนรางหรือสูญเสียการมองเห็น ซึ่งจอประสาทตานี้อาจถูกทำลายจากแสงสีฟ้าซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแสงที่อยู่รอบๆตัวเรา
“ปัญหาสุขภาพตาของเด็กไทยในปัจจุบันยังน่าห่วง เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการปกป้องและดูแลสุขภาพดวงตาของลูก แต่มักจะพามาพบจักษุแพทย์ ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหากับดวงตาของลูกแล้ว
ทางที่ดีพ่อแม่ควรให้ความสำคัญใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตาของลูก ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการมองเห็นของลูกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ
พัฒนาการทางสายตาและการมองเห็นของเด็ก...ถือเป็นประตูสู่การเรียนรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้าน”
คุณหมอศักดิ์ชัย ย้ำ
สำคัญที่สุด เด็กจะมีการพัฒนาการด้านสายตาสูงสุดช่วงแรกเกิดถึง 4 ขวบ ดังนั้น การที่เด็กได้กินนมแม่ที่มีสารอาหารที่ช่วยพัฒนาทั้งสมองและสายตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนที่จะรณรงค์ให้ “แม่” ได้ เลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองเพื่อสร้างเด็กไทยให้ฉลาด สุขภาพดี อารมณ์ดี
ซึ่งผลวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีปัญญาดี หรือ ฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ถึง 11 จุด
ที่สำคัญ การให้ลูกได้ดื่มนมแม่เป็นการถ่ายทอดไออุ่นของความรัก ความผูกพันผ่านน้ำนมจากแม่สู่ลูก
มีคำกล่าวว่า...ความรักทำให้คนตาบอด
แต่จากผลวิจัยที่บรรดาแพทย์ได้ออกมายืนยันตรงกันในครั้งนี้คงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า...รักแท้ๆจากอกแม่ นอกจากจะไม่ทำให้ตาบอดแล้ว
ยังทำให้ตาสว่างและฉลาดอีกด้วย!