ที่มา มติชน
โดย สกุณา ประยูรศุข
ท่ามกลางความเจริญอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความสัมพันธ์แบบไร้พรมแดนในโลกปัจจุบัน "การเปลี่ยนแปลง" จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อมีความรู้ความเข้าใจและก้าวให้ทันโลกที่หมุนอยู่ตลอดเวลา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เช่นกัน
เดิมรู้จักกันดีว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศทางด้านสังคมศาสตร์และการเมือง แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเปลี่ยนโฉมใหม่เพิ่มเติมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เกิดคณะใหม่ๆ หลายคณะทางด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มาถึงบัดนี้การเปลี่ยนแปลงไม่อาจหยุดนิ่ง เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน "ธรรมศาสตร์" ได้เปิดมิติใหม่อีกครั้งเพื่อให้ทันโลกทันเวลา ด้วยการจัดตั้ง
"วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์" ขึ้น
เป็นวิทยาลัยที่เกิดขึ้นมารองรับการเรียนการสอนระดับนานาชาติ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะเด่นไม่เฉพาะแต่ในเอเชีย แต่เป็นทั่วโลก โดยมี
"ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล" ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารวิทยาลัย
เรื่องราวความเป็นมาของการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ "ดร.พิมพันธุ์"เล่าว่า เริ่มมาจากนโยบายของอธิการบดี "ดร.สุรพล นิติไกรพจน์" มอบหมายให้เป็นคนจัดทำรายละเอียดการก่อตั้งทั้งหมดตั้งแต่ต้น เพราะเคยทำงานนี้สมัยยังเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
เดิมทีนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาต่างชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าคณะศิลปศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือ คณะบัญชี ซึ่งมีสัญญาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกถึง 200 กว่าสัญญา ส่วนมากเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งนั้น โดยมีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
แต่การทำหน้าที่ของฝ่ายวิเทศสัมพันธ์นั้น อธิการบดีเห็นว่าเป็นเรื่องผิดที่ผิดทาง เพราะฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ไม่มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น จึงมีนโยบายให้จัดตั้งสถาบันขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง เป็นระดับนานาชาติ
ด้วยเหตุนี้จึงเกิด วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมา
ฉะนั้น วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จึงมีสถานะเทียบเท่าคณะคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551
การจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จะดูแลรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรอินเตอร์ทั้งหมดของธรรมศาสตร์ โดยจะเริ่มอย่างจริงจังในปี 2552 เป็นต้นไป
(บน) คณะผู้ดูแลหลักสูตร (ล่าง) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ |
"เวลานี้แต่ละคณะในธรรมศาสตร์จะมีหลักสูตรอินเตอร์เป็นของตัวเองไม่ว่า วิศวกรรมศาสตร์ บัญชี ศิลปศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งในตอนต้นนี้เราคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร แต่ว่าพอปี 2552 เป็นต้นไปนักศึกษาหลักสูตรอินเตอร์ชั้นปี 1 ที่เปิดใหม่ของแต่ละคณะจะต้องมาเรียนปี 1 ที่เรา ส่วนของเดิมที่มีอยู่ก็ปล่อยให้เขาจัดการไปอย่างเดิมจนสิ้นสุดโครงการ แต่ถ้าเปิดใหม่เมื่อไหร่ต้องมาขึ้นกับเราตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเรียนที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์" ดร.พิมพันธุ์อธิบาย
ดร.พิมพันธุ์กล่าวว่า การเปิดสอนก่อนหน้านี้คือเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมานั้น เป็นการเปิดรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนโปรแกรม "ไทยศึกษา" เป็นนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัยคู่สัญญามาเรียนรู้เรื่องราวของเมืองไทย ไม่ว่าในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตวัฒนธรรม
"เด็กต่างชาติที่มาเรียนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนโดยมากเป็นเด็กปีสาม เพราะขณะนี้เป็นแนวโน้มของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่พยายามให้เด็กของเขาจะต้องมีความรู้มากกว่าภายในมหาวิทยาลัยของตนเอง ให้มองเห็นว่าโลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล เพราะฉะนั้น เขาไม่เรียนเฉพาะในประเทศ ยิ่งในยุโรปขณะนี้มีประกาศเกี่ยวกับการศึกษา ว่าจะต้องเรียนที่ไหนก็ได้แล้วโอนหน่วยกิตกลับไปได้ คือให้เด็กนักศึกษาของเขามีโลกทัศน์ที่กว้าง เพราะฉะนั้น เวลานี้มหาวิทยาลัยในยุโรปส่งเสริมให้เด็กออกไปเรียนนอกมหาวิทยาลัย"
โปรแกรมไทยศึกษาที่เปิดไปนั้นเป็นโครงการแลกเปลี่ยน แต่ขณะนี้วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กำลังจะเปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของตนเอง คือ "หลักสูตรปริญญาตรีจีนศึกษา"
"มักจะมีคำถามว่าทำไมวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จึงเปิดสอนจีนศึกษา" ดร.พิมพันธุ์เอ่ยเชิงคำถาม
แล้วอธิบายว่า ที่เปิดสอนจีนศึกษาเป็นหลักสูตรแรก เพราะนอกเหนือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แล้ว จีนยังเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในโลกยุคปัจจุบัน มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในนานาประเทศ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือ ศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญอีกอย่างคือการได้รับการสนับสนุนในตอนต้นจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
"ประเทศจีนและประเทศไทยต่างมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นนับเนื่องมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ตั้งแต่ระดับประชาชนถึงคณะผู้บริหารสูงสุดของทั้งสองประเทศ บทบาทสำคัญของจีนมีทั้งในบริบทสังคมโลกและสังคมไทย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จึงพัฒนาหลักสูตรจีนศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตระดับปริญญาตรี ที่สามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน ตลอดจนศึกษาต่อในระดับสูงด้านจีนศึกษาต่อไป
"..บัณฑิตซึ่งเป็นผลผลิตของหลักสูตรนี้ จะมีคุณลักษณะเด่นในด้านทักษะการใช้ภาษาจีน และมีความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีนและวัฒนธรรมจีน ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอนาคตที่ดีและขณะนี้ตลาดแรงงานขาดคนรู้ภาษาจีนระดับดีๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเจรจาความธุรกิจได้ และต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน เพื่อจะได้รู้ว่าคนจีนคิดอย่างไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร เศรษฐกิจเขาเป็นอย่างไร"
หลักสูตรจีนศึกษาจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนเดือนสิงหาคม 2552 เป็นรุ่นแรก แต่ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครอยู่ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 โดยจะเปิดรับจำนวน 100 คน
ผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติกล่าวต่อว่า เรื่องอาจารย์ผู้สอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากที่ต่างๆ ระดับชั้นนำของเมืองไทย เช่น อาจารย์สุรชัย ศิริไกร, อาจารย์จุลชีพ ชินวัณโณ, อาจารย์พรชัย ตั้งตระกูล, ดร.นิยม รัฐอมฤต เป็นต้น รวมทั้งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งด้วย
"หลักสูตรของเราจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่เรียนปี 1-3 ก่อนจะเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีน เพราะการไปเรียนที่โน่นเด็กจะต้องเข้มแข็งพอ เพราะประเทศจีนระบบการศึกษาเขาเข้มแข็งมาก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นจะต้องไปเริ่มต้นศูนย์ที่ปักกิ่งด้วยลำพังตนเอง และสำหรับเด็กที่เรียนจบหลักสูตรจะได้ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนศึกษา" ดร.พิมพันธุ์กล่าว
พร้อมตบท้ายไว้ "รับรองว่าเด็กที่จบออกมาภาษาไทยดี ภาษาจีนดีมาก ภาษาอังกฤษก็เก่งด้วย"
ที่สำคัญคุณธรรมจริยธรรมยังเป็นสิ่งที่เน้นย้ำอย่างหนัก
"จีน คืออนาคตของโลก"
ดร.นิยม รัฐอมฤต
"ในเรื่องธุรกิจการค้าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอนาคตที่ดีทีเดียว และในอนาคตจะมีบทบาทมาก ศักยภาพของจีนเห็นได้จากการจัดกีฬาโอลิมปิคที่ผ่านมา หรือการจัดประชุมที่เซี่ยงไฮ้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนพร้อมจะเป็นผู้นำโลก และพร้อมจะยื่นมือไปช่วยประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าไต้หวัน แอฟริกาก็ดี จีนออกไปช่วยต่างชาติเยอะมาก ไปสร้างทางรถไฟในแทนซาเนีย ละตินอเมริกา บุกไปถึงหลังบ้านของสหรัฐอเมริกา...
"..ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับจีนยาวนานมาก และที่ว่ารู้ภาษาจีนอย่างเดียวเวลานี้ไม่พอ แต่ต้องรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของประเทศจีนด้วย ต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร เศรษฐกิจเขาเป็นอย่างไร อาจจะพูดกันว่าระยะหลังจีนด้อยลงไปในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจีนเองก็มองเห็นและตอนนี้พยายามกลับไปหารากเหง้าของตัวเอง มันเริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้ว เพราะจีนเขามองว่าการจะเป็นผู้นำได้อย่างแท้จริง ตัวเองจะต้องมีแก่นที่แท้จริงของตัวเองด้วย
"จีนในฐานะเป็นประเทศใหญ่และรัฐบาลจีนรับผิดชอบคนตั้งเยอะแยะ ถ้าไม่มีคุณธรรมอยู่ไม่ได้หรอก.. แน่นอนว่าจีนโตขึ้นทุกวัน แม้แต่อเมริกา หรือยุโรป ยังต้องขอความช่วยเหลือจากจีนเลย ยังมาจับมือทำสัญญากับจีนเพื่อที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก.."
หลักสูตรปริญญาตรี"จีนศึกษา"
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งหลักสูตรปริญญาตรี จีนศึกษา (นานาชาติ) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทั้งทักษะทางภาษาจีน อังกฤษ เป็นอย่างดีเพื่อรองรับความต้องการของประเทศและของโลก เป็นหลักสูตรที่มีลักษณะ "สหวิทยาการ" ผสมผสานความรู้ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และบริหารธุรกิจ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ของจีน นักศึกษาทุกคนจะได้ไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา
ทุกสาขาที่เปิดสอนมุ่งเน้นการเรียนรู้หรือการนำไปศึกษาต่อในอนาคต ได้แก่ สาขาการค้าการลงทุนแบบจีน, สาขาวัฒนธรรมและสังคมจีน, สาขาการเมืองและการปกครองจีน เป็นต้น
การเรียนใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยมีภาคเรียนที่ 1 เปิด สิงหาคม-ธันวาคม, ภาคเรียนที่ 2 เปิดมกราคม-พฤษภาคม
ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ หน่วยกิตละ 300 บาท ค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมภาคการศึกษาละ 50,000-56,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 4 ปี ไม่เกิน 430,000 บาท
สนใจซื้อใบสมัครได้ที่ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือดาวน์โหลดใบสมัคร www.pbic.tu.ac.th และ อี-เมล : pridibanomyong@yahoo.com ตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2552 สอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ชั้น 8 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทร.0-2613-3701-3