ที่มา ไทยรัฐ
หากจะวัดความมั่งคั่ง ระหว่างตุรกีกับอิหร่าน ด้วยปริมาณเครื่องเพชรและอัญมณีมีค่า ที่นักท่องเที่ยวถูกพาไปเห็นด้วยตา ยากที่จะตัดสินว่า ประเทศไหนรวยกว่ากัน
พระราชวังทอปกาปิ กรุงอิสตันบูล มีเพชรสีขาวเม็ดใหญ่... รวมกับมรกต ทับทิม หลายเม็ดเท่าไข่ไก่ ที่ประดิดประดอยไว้ในสารพัดข้าวของเครื่องใช้ของกษัตริย์ และพระชายา
แล้วยังมีเหลือรวมเป็นเม็ดๆไว้...อีกหลายกระบะ
ในจำนวนอัญมณีมีค่าเหล่านี้ บางเม็ดมีเรื่องเล่า...น่าสนใจ เช่น มรกต และเพชรพลอยที่ประดับประดาไว้ในกริช...เล่มสำคัญ
สมัยผมยังวัยรุ่น เคยดูหนังชื่อ “ทอปกาปิ” คณะกายกรรมจากยุโรป ตัวเอกแต่งตัวเหมือนสุลต่าน เหน็บกริช ตั้งใจทำให้เหมือนกริชในพระราชวัง ที่คนทั้งประเทศรู้จัก
เรื่องเร้าใจพระเอกใช้วิชากายกรรม เปิดหลังคาอาคาร ห้อยโหนโจนทะยาน เข้าไปคว้ากริชเล่มจริง เอากริชเล่มปลอม เสียบไว้แทน พระเอกก็หนีออกทางหลังคา
แต่ช่องว่างที่หลังคา นกพิราบตัวหนึ่งบินเข้าไป...ร่อนถลาแตะพื้น สัญญาณเตือนก็ดังกังวาน
เป็นอันว่า พระเอกตาย (ถูกจับ) ตอนจบ
ระหว่างที่เพื่อนๆจากไทย และนักท่องเที่ยวจากหลายชาติ เพลินอยู่กับการเดินดูเครื่องเพชรพลอยล้ำค่า ผมสังเกตได้ว่า มีคนสนใจห้องแสดงเครื่องลายครามจากจีนสมัยเหม็งน้อยมาก
เครื่องลายครามชุดนี้ มีประวัติชัดเจน แต้ฮั้ว (เจิ้งเหอ) เสนาบดีสมัยฮ่องเต้หยงเล่อ นำมาในกองเรือมหาสมบัติ (เปาฉวน)
แต่จะเอาเรือมาเทียบท่าจอด หรือขึ้นบกที่เมืองอื่น แล้วบรรทุกขึ้นหลังอูฐ รอนแรมฝ่าทะเลทรายมาให้อีกต่อ...ผมขอติดค้างไว้ จะหาอ่านมาเล่ากันวันหลัง
ย้อนมาหาบรรยากาศระหว่างการเดินหลงอยู่ในดงเพชรพลอย มีเสียงใครสักคนรำพึง
“อิจฉาคนเป็นเจ้าของจัง!”
ผมนึกถึงเจ้าของ...ซึ่งจริงๆแล้วคงสะสมกันไว้หลายชั่วคน เลือกเอาคนเดียวที่โลกจารึกว่ายิ่งใหญ่ เป็นเจ้าชายนักรบ เป็นราชันแห่งกฎหมาย เป็นเจ้าแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
จอมอัศจรรย์ สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมาน พระนาม สุไลมาน
ชันษาแค่ 27 ปี สุไลมานนำทัพจากคอนสแตนติโนเปิล ขึ้นเหนือไปพิชิตเมืองเบลเกรดของเซอร์เบีย แล้วก็รุกคืบหน้าไปพิชิตฮังการี ปี ค.ศ.1519 รุกไกลไปจนถึงกำแพงกรุงเวียนนา
ปิดล้อมเวียนนา 19 วัน ฤดูหนาวมาเยือน ทัพสุไลมาน สู้กับน้ำแข็ง-หิมะไม่ได้ ต้องถอยกลับ
จนถึงปี 1566 สุลต่านสุไลมาน ผู้ชรา ก็ยังนำทัพไปเวียนนาอีกครั้ง ครั้งนี้สุไลมานอ่อนล้าจนสิ้นแรง ก่อนจะถึงกรุงเวียนนา ก็สิ้นพระชนม์
ประวัติของสุไลมาน สุลต่านผู้ยิ่งใหญ่ ตอบคำถาม “อิจฉาเจ้าของ” ได้ว่า สุดท้าย เจ้าของอำนาจยิ่งใหญ่และทรัพย์สินอันเกินประมาณค่า...ก็ต้องตายไปมือเปล่า เอาอะไรไปไม่ได้
ดูจากวิถีชีวิต ทุกผู้นำที่กระหายหาอำนาจ ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ไม่เห็นว่า ทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากอำนาจ จะช่วยให้ความสุขได้สักกี่มากน้อย?
น่าเสียดายสุไลมาน ผู้ยิ่งใหญ่ แทนการเลือกชีวิตสุขสงบบั้นปลาย เขาเลือกตายในสนามรบ
แต่บางผู้นำ มีเหตุน่าเห็นใจ เขาถูกบังคับให้เลือกทางสู้ตาย...ทางเดียว.