ที่มา มติชน
วิเคราะห์
หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โฟนอินเข้าไปกลางวงสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมกรีนเนอร์รี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ทำให้การเมืองไทยแจ่มชัดขึ้น
ประการแรก คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศตัวชัดเจนว่า จะต่อสู้ทางการเมืองต่อไป โดยมีพรรคเพื่อไทย และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายวิทยา บุรณศิริ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ นายจำลอง ครุฑขุนทด นายปลอดประสพ สุรัสวดี รวมถึง "เยาวภา-ยิ่งลักษณ์"น้องสาว 2 คน ที่ร่วมเป็นหัวหอกในการต่อสู้
รวมถึง นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระ มุสิกพงศ์
และรวมถึง นายอดิศร เพียงเกษ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ด้วย
ประการที่สอง คือ พ.ต.ท.ทักษิณระบุเงื่อนไขที่ต้องต่อสู้ทางการเมืองอย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะถูกกลั่นแกล้ง โดยคนที่ทำ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นคนที่มีอายุมากแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ขยายความว่า คนที่อายุมากแล้วคนนั้นเป็นใคร
แต่ภายหลัง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรค เพื่อไทย ได้ขยายความหมายของคนสูงอายุของ พ.ต.ท. ทักษิณว่า หมายถึง "ขันที"
ประการที่สาม พ.ต.ท.ทักษิณได้ชื่นชมม็อบเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวและยืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และยังหวังว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณถูกกลั่นแกล้งมาก ๆเข้า จะทำให้คนเสื้อแดง "ระเบิด"
ประการสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่าจะสู้ไม่ถอย
การ "โฟนอิน" ของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจาก นายวีระ มุสิกพงศ์ พร้อมด้วยแกนนำคนเสื้อแดง จัดชุมนุมคนเสื้อแดงกันที่ท้องสนามหลวง ซึ่งปรากฏมีคนเสื้อแดงไปร่วมชุมนุมกันหลายหมื่นคน
การชุมนุมวันนั้นจบลงด้วยการเคลื่อนพลไปประชิดทำเนียบรัฐบาล พร้อมยื่นเงื่อนไขจำนวน 4 ข้อ
1.ให้เร่งรัดดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรที่ยึดถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสนามบินสุวรรณภูมิ
2.ให้ปลด นายกษิต ภิรมย์ และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง
3.ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้วไปใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เหมือนเดิม
และ 4.เมื่อประกาศรัฐธรรมนูญใหม่แล้วให้ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน
ทั้งหมดนี้ให้เวลา 15 วัน ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม และ ไม่ทำให้เกิดผลอย่างจริงจัง กลุ่มคนเสื้อแดงจะจัดชุมนุมกัน อีกครั้ง
และไม่เลิก...!
เป็นการยื่นเงื่อนไขที่เร่งเร้า และบีบบังคับให้รัฐบาลต้องกระทำ
แต่ขณะเดียวกัน ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินเข้าไปกลางวงสัมมนาของสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว กลับปรากฏข้อเสนออีกแบบหนึ่งออกมาในรูปแบบสรุปผลการสัมมนา
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส. ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแถลงว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะเปิด "แคมเปญคลิกออฟ" โดยชูนโยบายว่าหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มพันธมิตรด้วย
ใครมีโทษจะได้รับการอภัยโทษ
ส่วนคดีใดที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะได้รับการนิรโทษกรรม
หากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้แน่นอน
ถือเป็นการยื่นข้อเสนอแบบ "วิน-วิน"
ถือเป็นการยื่นเงื่อนไขหย่าศึกทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมักมีการปะทะคารม และปะทุอารมณ์กันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
รุนแรงจนกระทั่งผิดปกติสภาไทย
รุนแรงจนอดวิตกไม่ได้ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อสะท้อนให้เห็นพลังในรัฐสภาของฝ่ายค้านว่ายังมีอยู่เต็มเปี่ยม
เมื่อผสมผสานความเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดง บวกรวมกับการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร
พอจะเล็งเห็นถึงการเดินเกมรุกของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อการเมืองไทย
ขณะที่ฟากฝ่ายรัฐบาล ดูเหมือนว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะรับบทเป็นผู้บัญชาการรบต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
เพราะทันทีที่ม็อบเสื้อแดงยื่นเงื่อนไข 4 ข้อ ให้รัฐบาลดำเนินการ
นายสุเทพเป็นคนออกมาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม
นายสุเทพอีกเช่นกันที่ออกมาบอกครั้งล่าสุดว่า เลิกล้มความคิดที่จะเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว
และทันทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินไปยังสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายสุเทพก็ไม่รอช้าที่จะใช้คำว่า "พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี" ขึ้นมาต่อกร
คำคำนี้ล่อแหลมต่อความมั่นคงของชาติ
แต่นายสุเทพก็ยังย้ำคำคำนี้อีกครั้งในการตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร
พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการยืนยันได้ว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์เองก็เดินเครื่องสู้ ไม่ออมมือเช่นกัน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้แลเห็นสัญญาณทางการเมือง
เป็นสัญญาณอันตราย
เป็นสัญญาณแห่งความแตกหัก
อุณหภูมิการเมืองกำลังเข้าสู่จุดเดือด !