ที่มา มติชน
เมื่อเวลา 23.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นกล่าวว่า ไม่เคยมีรัฐใดในโลก นอกจากรัฐไทย ที่ต้องการขอถนนหรือพื้นที่คืน ด้วยการฆ่าประชาชนเกือบ 30 ชีวิต ทั้งที่ประชาชนเหล่านั้นต้องการมาขออำนาจอธิปไตยของพวกเขากลับคืน
ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ตนนั่งคิดระหว่างนั่งรถยนต์จากสี่แยกราชประสงค์มายังสะพานผ่านฟ้า ถึงทางเลือก 2 ทาง นั่นคือ หนึ่ง ถ้าตนปลุกให้พี่น้องเสื้อแดงเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็อาจต้องโค่นล้มลงภายในเช้ามืดวันที่ 11 เมษายน แต่คำถามที่ตามมาก็ได้แก่ ถ้าเดินต่อไปจะต้องตายกันอีกกี่คน? เป็นใครบ้างที่ต้องตาย? ถ้าประชาชนต้องตาย จะตัดสินได้ไหมว่าจะให้ใครตาย? แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะยืดอกรับชัยชนะได้อย่างไร หรือ สอง ตนต้องพยายามหยุดการเข่นฆ่าและหยุดการสูญเสียทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายแล้ว ตนก็เลือกทางเดินที่ 2 ด้วยการตัดสินใจยุติการปะทะกับฝ่ายรัฐบาล
แต่ที่ตนเสียใจก็คือ ภายหลังจากตนถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กลับปรบมือให้แก่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในที่ประชุมของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เพราะเห็นว่าการสลายการชุมนุมของรัฐบาล จนส่งผลให้ประชาชนต้องล้มตายไปเกือบ 100 ศพนั้น ถือเป็นชัยชนะ
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนปีก่อน มีนายทหารและทหารชั้นประทวนต้องเสียชีวิต ซึ่งคนเสื้อแดงก็เสียใจกับการสูญเสียดังกล่าว เพราะทหารผู้เสียชีวิตถือเป็นประชาชนพวกเดียวกันกับเรา แต่ภายหลังเหตุการณ์ คนเสื้อแดงกลับถูกหาว่าเป็นพวกป่าเถื่อน กระหายเลือด ต้องการชัยชนะโดยไม่เลือกวิธีการ แม้กระทั่งการฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือฆ่าพวกเดียวกันเอง
"เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 1 ปี แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลยังอยู่ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผู้เข่นฆ่าประชาชนล้วนต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ผู้เข่นฆ่าประชาชนกลับไม่หลุดพ้นจากตำแหน่ง และยังลอยหน้าลอยตาเหยียบหัวใจคนไทยมาได้ 1 ปีเต็ม" แกนนำนปช.ผู้นี้ปราศรัย
นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น ตนรู้สึกเจ็บปวด เพราะเห็นประชาชนถูกฆ่า แต่ในวันที่ 10 เมษายน 2554 ตนกลับรู้สึกเจ็บปวดมากกว่า เพราะคนถูกฆ่ายังไม่ได้รับความยุติธรรมแต่อย่างใด นอกจากนี้แผลที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน และเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ยังถือเป็นแผลเดิมที่ถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 17 พฤษภา และสงกรานต์เลือด 2552
"ผู้มีอำนาจจะกำหัวใจประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อหัวใจของประชาชนมีแต่รอยแผลจากมือของท่าน เป็นแผลเก่าที่ถูกกดทับซ้ำแล้วซ้ำอีก" นายณัฐวุฒิกล่าวและว่า ผู้มีอำนาจต้องคิดให้ได้ว่าจะดำรงตนข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยไปได้อย่างไร โดยไม่เหยียบหัวใจประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายการปราศรัย แกนนำนปช.รายนี้ ยังตะโกนว่า "ประชาชนถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกยิงในเขตอภัยทาน" ซ้ำไปซ้ำมาหลายสิบรอบกินเวลาร่วม 10 นาที เพื่อย้ำเตือนถึงความสูญเสียของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553