ที่มา โลกวันนี้
“เชื่อเถอะครับ คำพูดของกองทัพ ของทหารเชื่อถือได้ เชื่อเถอะ
ไม่มีใครหรอกที่จะก้าวล่วงเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
ไม่ว่าจะกดดัน ผลักดัน ไปแอบอิง หรือให้อิงแอบ
เพื่อทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของประชาชน เชื่อเถอะ
เสียงของท่านแต่ละเสียงมีคุณค่าต่อประเทศไทยในอนาคต
ผมยืนยันอีกครั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผู้แทน ผบ.ตร. ว่าไม่ยุ่งเกี่ยว”
พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)
สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั้งประเทศ เมื่อนำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10
ในฐานะตัวแทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
แถลงยืนยันว่าทหารไม่ปฏิวัติ ไม่มีรัฐบาลภายใต้มาตรา 7
และหลังการเลือกตั้งก็ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
พล.อ.ทรงกิตติยังให้หยุดเอากองทัพมาอ้าง หยุดเอากองทัพมาแนบ
และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน ให้การเมืองดำเนินไปบนแนวทางการเมือง
กองทัพจะรักษาเกียรติ และเป็นที่มั่นใจของประชาชน
เพราะเป็นคนของประชาชน “เราคือประชาชน เรารู้หน้าที่ของเราว่าต้องทำอะไร
ควรจะเว้นจากทำอะไร หากมีหน่วยใดเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่ได้รับคำสั่งคือ
กบฏ ถ้ามีทหารกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไปเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือไปกดดันก็ร้องเรียนมา
หากมีมูลจะทำการสอบสวน”
ปฏิวัติเงียบ!
อย่างไรก็ตาม การออกมาแถลงข่าวดังกล่าวทำ ให้หลายฝ่ายยิ่งเชื่อว่า
มีคนบางกลุ่มต้องการทำการปฏิวัติรัฐประหารจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้
ผบ.ทบ. และ ผบ.ทอ. จะยืนยันว่าไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารแน่นอนก็ตาม
แต่ไม่มีใครเชื่อ
เพราะแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมมานานถึง 3 เดือน
ได้เรียกร้องชัดเจนว่าขอให้ใช้วิธีใดก็ได้เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง
และปิดประเทศชั่วคราว 3-5 ปี
เพื่อปฏิรูปการเมืองและล้างนักการเมืองที่มีพฤติกรรมชั่วออกไปให้หมด
โดยเฉพาะนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า มีกลุ่มที่พยายามทำการปฏิวัติรัฐประหารจริง
แต่เป็นปฏิวัติเงียบ ขนาดวางตัวผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไว้แล้ว
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
แดงทั้งแผ่นดิน ก็ยืนยันว่ามีกลุ่มนายทหารที่ต้องการปฏิวัติเงียบจริง
ซึ่งรู้ความเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ โดยคนหน้าแหลมฟันดำคนเดิมอยู่เบื้องหลัง
แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหลายภาคส่วน เนื่องจากไม่มั่นใจว่า
หากมีการยึดอำนาจแล้วจะสำเร็จหรือไม่
จึงคิดจะปฏิวัติเงียบตามที่นางสดศรีออกมาเปิดเผย
โดยอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เกียรติยศที่อัปยศ
เช่นเดียวกับที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.
ตั้งข้อสังเกตที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาแถลงข่าวยืนยันไม่ปฏิวัติว่า
ทุกครั้งก่อนการปฏิวัติมักมีการออกมาแถลงข่าวในลักษณะดังกล่าว เช่น
รัฐประหารปี 2549 ยืนยันว่ามีความพยายามเดินเกมปฏิวัติเงียบและปฏิวัติจริง
เพราะมีผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ระบุว่า
พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้พรรคเพื่อไทยทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้
จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดทำการปฏิวัติขึ้นมา
นายจตุพรเห็นว่า ถ้าทำตามที่แถลงจริงก็ขอให้ทหารทำหน้าที่ของตนเองให้ดีก่อน
แต่หากใครต้องการเล่นการเมืองก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งมาลงการเมือง
ทหารต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด อย่ามาเกาะติดพื้นที่
หรือบล็อกแกนนำ หรือเป็นกรรมการนับคะแนน รวมไปถึงไม่ให้ทหารมาติดตามนักการเมือง
ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงจะจัดชุดลงไปในแต่ละหมู่บ้าน
หากพบทหารลงพื้นที่ปลุกระดมและใส่ร้ายให้เกิดความเกลียดชังเพื่อไม่ให้เลือกพรรคเพื่อไทย
ก็จะจับส่งหรือร้องเรียนไปยัง กกต.
คำแถลงของผู้นำเหล่าทัพจึงเป็นสัญญาณที่ดีของการเมือง แม้หลายฝ่ายยังไม่เชื่อ
แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งวันนี้ประชาชนทั้งประเทศก็รับรู้แล้ว
แต่ประชาชนจะเชื่อข่าวลือหรือการปล่อยข่าวหรือไม่อยู่ที่ผู้นำกองทัพ
ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมระบุชัดเจนว่า ทหารต้องไม่ดำเนินการใดๆทางการเมือง
แต่กองทัพก็ไม่อาจปฏิเสธว่าการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่าน มาเกือบทุกครั้ง
หัวหน้าคณะที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารออกมายืนยันเช่นนี้
แม้แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งไม่ใช่แค่การโกหกตอแหลประชาชน
แต่ยังทำลายเกียรติยศของกองทัพและสร้างความอัปยศให้กับประเทศชาติอีกด้วย
ประชาชนคือผู้ตัดสิน
การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของผู้นำกองทัพครั้งนี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน แม้หลายฝ่ายยังเชื่อว่า
มี “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่อย่างน้อย
ก็เป็นการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
ไม่ว่าประชาชนจะสีอะไรหรือเลือกข้างใด
แม้การเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะยุติความขัดแย้งทางการเมือง
แต่ปัญหาการเมืองจะไม่มีการเข่นฆ่าประชาชนอย่างที่ผ่านมา
เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาลก็เป็นเรื่องของการเมือง
ไม่ใช่รัฐบาลที่จัดตั้งกันในค่ายทหาร เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชน
และเป็นรัฐบาลที่กล้าเข่นฆ่าประชาชนเพื่อให้มีอำนาจอยู่ต่อไป
อย่างที่นายณัฐวุฒิแถลงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 หลังจากได้รับประกันตัวว่า
“เราร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่หลังปี 2549 สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือ
ให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เราอยากเดินไปถึงที่สุดคือ
ผืนแผ่นดินนี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง...
ต้องการแค่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เท่านั้น ผู้มีอำนาจให้สิ่งนั้นไม่ได้
แต่กลับหยิบยื่นความตายให้เราเพียงเพราะต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ
ผู้ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมในครั้งนี้คือ ผู้ลงมือ ผู้สั่งการ
และผู้อยู่เบื้องหลัง เราไม่คาดคิดว่าผู้มีอำนาจจะอำมหิตถึงเพียงนั้น
ไม่คาดคิดไม่ใช่เพราะรู้ไม่ทัน แต่ไม่คาดคิดเพราะที่ผ่านมา
เรารักเขามากเกินไป ความรักทำให้คนตาบอด
แต่ความตายทำให้คนตาสว่าง แล้วจะไม่มีวันหลงลืมความตายของประชาชน
ไม่มีวันลืมความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ตรงกันข้าม เราจะลืมตามองไปทุกมุมมืด
เพื่อดูใครก็ตามที่ซ่อนตัวอยู่ ให้เขารู้ว่าเรารู้แล้ว ตาสว่างแล้วทั้งแผ่นดิน”
คำพูดของนายณัฐวุฒิสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดงว่า
ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงข้างมากหรือประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที
แต่ต้องให้ประเทศชาติก้าวพ้นจากการครอบงำของอำนาจนอกระบบหรือกลุ่มอำมาตย์
ที่อ้างประชาธิปไตยแบบไทย เพื่อกลบเกลื่อนประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศที่ยึดมั่น
ในหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ
ประชาธิปไตยคือพื้นที่อิสระ
“ตราบใดที่เราไม่มีประชาธิปไตย เราก็ไม่สามารถลงมือถกเถียง
และลองผิดลองถูกอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้พื้นที่อิสรเสรีของประชาธิปไตยได้”
แม้แต่นายใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการสัญชาติไทยอังกฤษ
อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักร
เพราะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เรียกร้องให้คนเสื้อแดงสู้ตามระบอบประชาธิปไตย
แม้จะมีจุดร่วมแตกต่างกัน แต่ไม่ใช่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ต่อต้านการเลือกตั้ง
ซึ่งมีแต่จะทำให้การเมืองไทยกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนรัฐประหาร 19 กันยาฯ
นายใจยังชี้ว่า
สังคมไทยผ่านวิกฤตการเมืองมาหลายปี ผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง
ผ่านการสูญเสียทั้งสิทธิและเลือดเนื้อจากนักการเมืองและทหารที่มือเปื้อนเลือด
ตอนนี้ประชาชนไทยจำนวนมากต้องการแก้ปัญหาใหญ่ๆในสังคมไทย เช่น
ปัญหานักโทษการเมือง
ปัญหากฎหมายเผด็จการ
ปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เรื้อรัง
และไม่ให้มีการทำรัฐประหารขึ้นอีก
“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ๆที่ท้าทายอำนาจอำมาตย์
ขบวนการเสื้อแดงต้องชูประเด็นเหล่านี้และตั้งคำถามยากๆกับนักการเมืองทุกพรรค
รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย
เราต้องมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระทาง การเมืองของการเลือกตั้ง
และข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของเรา
ต้องแหลมคมพอที่จะทนทานต่อการแพ้การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย
คือต้องเป็นข้อเรียกร้องที่เราใช้เคลื่อนไหวต่อไปได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง”
ระบอบคณาธิปไตย
แต่ประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างที่คนเสื้อแดงต่อสู้
ก็คงไม่ได้มาง่ายๆอย่างที่ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน
นักวิชาการประวัติศาสตร์ที่ศึกษาสังคมและการเมืองไทยได้ปาฐกถา
“มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก”
ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อไม่นานมานี้ว่า
การเมืองไทยเหมือนกับระบบการเมืองในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ที่ยังมีลักษณะ “กึ่งประชาธิปไตย” หรือ “คณาธิปไตย”
ซึ่งระบอบคณาธิปไตยจะตั้งมั่นอยู่ได้
ต้องมีความเชี่ยวชาญในการควบคุมระบบการเลือกตั้ง
แต่ต้องไม่มีฝ่ายค้านเป็นกลุ่มก้อน
ให้ ส.ส. ย้ายพรรคกันง่ายและรวดเร็วเวลามีการจัดตั้งรัฐบาลผสม
อย่างการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและระบอบทักษิณ
ที่สำคัญกลุ่มคณาธิปไตย
มักเป็นกลุ่มเครือญาติ ลูกหลานที่ไปโรงเรียนเดียวกัน มีธุรกิจเกี่ยวโยงกัน
แต่งงานเกี่ยวดองกัน รวมทั้งมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แข่งขันกันเอง ชิงดีชิงเด่นกัน
แม้บางครั้งจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด
แต่ไม่ได้หมายความว่าคนพวกนี้จะตัดขาดจากคนกลุ่มอื่นๆอย่างสิ้นเชิง
พวกเขามีความยืดหยุ่นพอที่จะดูดคนอื่นที่เป็นกึ่งคนนอกกลุ่มเข้ามา
แต่ต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่พวกเขาตั้งขึ้นเท่านั้น
ศาสตราจารย์แอนเดอร์สันจึงมองการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับอนาคตการเมืองไทยว่า
เหมือนคำพูดอมตะของ “กรัมชี” มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ ที่ว่า “
เมื่อสิ่งที่เก่าแก่ไม่ยอมตาย และสิ่งใหม่ดิ้นรนที่จะเกิด ย่อมเกิดอสุรกายขึ้น”
แต่อนาคตการเมืองไทยจะคาดหวังจากชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีในกรุงเทพฯไม่ได้
เหมือนการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 อย่างกล้าๆกลัวๆ
แต่แล้วก็หันหลังให้ขบวนการนักศึกษาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
คนชั้นกลางเหล่านี้เคยสนับสนุนนโยบายประชานิยมยุคต้นๆของรัฐบาลทักษิณ
แต่ไม่นานก็หันหลังให้แล้วมาสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองกันอย่างมากมาย
“กระฎุมพีชาวกรุงเทพฯก็ไม่ต่างจากกระฎุมพีชาวมะนิลา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์
และจาการ์ตาสักเท่าไร ขี้ขลาด เห็นแก่ตัว ไร้วัฒนธรรม คลั่งบริโภค
และไม่เคยมีภาพอนาคตของประเทศอยู่ในหัว”
เลือกตั้งชี้ชะตา “อภิสิทธิ์-ทักษิณ”
แม้สถานการณ์การเมืองไทยวันนี้จะปฏิเสธอำนาจของกลุ่มอำมาตย์และกองทัพไม่ได้
แต่การออกมาแถลงของผู้นำเหล่าทัพก็คงไม่มีใครกล้าหรือบ้าพอ
ที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารในขณะนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็รู้ดี
และต้องปรับตัวเพื่อใช้การเลือกตั้งมาต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรฯที่พยายาม
เรียกร้องให้มีการใช้ “อำนาจพิเศษ” หรืออำนาจนอกระบบ
โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ต่างก็ต้องต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
แต่ต้องไม่ให้ถูกดำเนินคดีในฐานะ “ฆาตกร” ในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพที่รับผิดชอบในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
อย่างที่นายสุเทพจัดพิมพ์หนังสือ
“ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครเผาอีก” ออกมาแจกจ่ายขณะนี้
เพื่อต้องการยืนยันว่า
การใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายคนเสื้อแดงนั้น
เป็นการปฏิบัติตามหลักสากลทุกอย่าง
แต่ผู้ชุมนุมแย่งอาวุธและนำมาต่อสู้กับทหาร
รวมทั้งยิงพวกเดียวกันเอง
ในหนังสือที่ส่วนใหญ่เป็นคำที่เคยอภิปรายในสภายังชี้ว่า
เจ้าหน้าที่แม้มีอาวุธในมือ แต่ไม่กล้ายิง “ไอ้โม่งชุดดำ”
เพราะกลัวประชาชนจะถูกลูกหลง ทั้งยังระบุว่า
คนเสื้อแดงวางแผนเผาสถานที่สำคัญทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
เพื่อสร้างความวุ่นวาย
ชิงอำนาจทางการเมือง หาทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นนักโทษ
หนีคดีไม่ต้องรับโทษ
เมื่อมีผู้เสียชีวิตและเผาบ้านเผาเมืองแล้วกลับโยนความผิด
ให้กับกองทัพและรัฐบาล
และยังทิ้งท้ายให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาติดคุก และ พรรคเพื่อไทย
นำไปรณรงค์ต่อสู้ในการเลือกตั้งแทน
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากกับทุกฝ่าย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอำนาจ
ที่สนับสนุนที่จะต้องรักษาอำนาจไว้ให้ได้
ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ก็ต้องการกลับประเทศ ด้านคนเสื้อแดงต้องการให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง
รวมทั้งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการ
ในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
“ทักษิณ” กับพรรคเพื่อไทย
เช่นเดียวกับที่การประชุมของพรรคเพื่อไทยขาดไม่ได้
ที่จะมีการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งการกำหนดผู้ที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี”
หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้เตือนสมาชิกพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ว่า
“วันนี้ผมเลยต้องพูดให้ชัดๆ อย่างที่พูดไว้ในทวิตเตอร์ 9 ข้อ
จงอย่าบิดเบือนคนไม่มีความสามารถให้ประชาชน เพราะเราโตมาได้ด้วยประชาชน
แม้จะถูกย่ำยีแค่ไหน ถูกยุบพรรคมากี่ครั้ง ประชาชนก็ยังให้การสนับสนุน
ก็ยังรู้ว่าเป็นพรรคผม คนที่จะเป็นนายกฯต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ไม่ใช่ตัวเอง ไม่ใช่พูดเก่งอย่างเดียว
วันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ พูดเก่งอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้
คุณสมบัติสำคัญที่สุดของคนที่จะเป็นนายกฯคือต้องรักประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ไม่ต้องห่วง ผมดูเองเมื่อถึงเวลา
แต่ตอนนี้ผมยังไม่ได้ตัดสินใจ ผมต้องคิดหน้าคิดหลังให้มากๆ
และผมเป็นนักสู้ ประชาชนให้โอกาสขนาดนี้ผมต้องกลับไปตอบแทนแน่นอน”
คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทยเป็นการแสดงให้เห็นว่า
ยังมีบทบาทอย่างมากกับการเมืองไทย
แม้แต่การกำหนดคนที่จะขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป ดังนั้น
การเลือกตั้งเร็วๆนี้จึงจะเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือด
และไม่ใช่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับกลุ่มอำ-มาตย์
ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551
ที่ทุกฝ่ายต่างก็มีเดิมพันถึงชีวิต
“ทักษิณ” คัมแบ็ก!
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่า
พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาได้ทันที
ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญและกองทัพ
ซึ่งถ้ากลับมาได้จริงอาจเป็นปลายปี 2554
และต้องต่อสู้คดีในฐานะผู้ต้องหาตามกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี บรรดาโหรมีการพยากรณ์ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย
อย่างนายวิโรจน์ กรดนิยมชัย นักโหราศาสตร์ยูเรเนียน พยากรณ์ว่า
ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากบิดา จึงต้องดูดวงบิดา
ซึ่งในหนังสือ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” นั้น พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงบิดาตัวเองว่า
“สิบกว่าปีที่ผ่านมาพ่อไม่เหลืออะไรเลย ในวาระสุดท้ายในชีวิตของพ่อ
ทักษิณต้องพาพ่อไปอยู่ที่ จ.นนทบุรี แล้วพ่อก็ตาย
โดยที่ไม่เหลืออะไรให้ลูกหลานไว้สืบทอดเลย”
ขณะที่นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรชื่อดังแห่งสำนักสุขิโต จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่า
พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่หมดวิบากกรรม และไม่มีทางได้กลับมามีอำนาจอีก
ทั้งยังยืนยันว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” อักษรย่อคือ “ป.ปลา”
ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะเข้ามาทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบ
ซึ่งอาจจะหมายถึง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่เพิ่งเปิดตัวเล่นการเมืองขณะนี้
หรือนายทหารอักษร ป.ปลา ซึ่งมี 2 คนคือ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ด้าน “หมอนิด” นายกิจจา ทวีกุลกิจ ที่เคยชี้ว่า
นายอภิสิทธิ์มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ดวงดีไม่นานจึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ไม่ครบเทอม
รวมทั้งดวงพรรคประชาธิปัตย์ว่าตกต่ำจนอาจถึงขั้นปิดปรับปรุงรื้อพรรคใหม่
เพราะดวงชะตาถึงจุดฆาตนั้น พยากรณ์ว่า
ดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณหลังจากปี 2554 ถึงปี 2556 จะมีรัศมีแห่งบารมียิ่งใหญ่
และจะกลับมาครองประเทศอีกแน่นอน
การเมืองหลังสงกรานต์จึงทั้งดุเดือดและร้อนระอุเหมือนนางสงกรานต์ปีนี้
ที่นางกิริณีเทวี ทรงพาหุรัตน์ ทัดดอกมณฑา แก้วมรกตเป็นอาภรณ์ ภักษาหารถั่ว งา
พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาบนหลังช้าง
ซึ่งไม่ใช่แค่ชี้ชะตา “อภิสิทธิ์” และ “ทักษิณ”
แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง “อำนาจนอกระบบ” ของ “มือที่มองไม่เห็น”
กับ “มือที่มองเห็น” ที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 306 วันที่ 9-22 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16
คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน