ที่มา ประชาไท
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศอย่างแข็งขันว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดกับการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมายเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
แต่เขาลืมไปว่า การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม” ทว่าหลักนิติธรรมถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 และกระบวนการสืบเนื่องหลังจากนั้น คือกระบวนการ “สองมาตรฐาน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แน่นอนว่า ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จากรัฐประหาร 19 กันยา ย่อมไม่ใช่พันธมิตรที่เชียร์ให้เกิดรัฐประหาร แต่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่มีรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล และหากไม่มีกระบวนการใช้สองมาตรฐานซ้ำซากและอย่างหน้าด้านมากขึ้นเรื่อยๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่หลุดจากคดียุบพรรคถึงสองคดี
แต่ทว่าทั้งรัฐประหารและสองมาตรฐาน การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกำลังทหารที่จบลงด้วย “การเข่นฆ่าประชาชน” ในสายตาของคนเสื้อแดงพวกเขาไม่เชื่อว่า ลำพังเพียงนายอภิสิทฺธิ์ นายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ กองทัพ และกองเชียร์ เช่นพันธมิตร เสื้อหลากสี จะมี “บารมี” หรือความกล้าหาญชาญชัย หรือแม้กระทั่งสามารถมี “เหตุผล” เพียงพอที่จะสั่งฆ่าประชาชน
คนเสื้อแดงเชื่อว่าทั้งหมดนั้นมี “อำนาจนอกระบบ” อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แต่คนเสื้อแดงก็พูดถึง “อำนาจนอกระบบ” ได้ในลักษณะเป็นเพียง “เสียงกระซิบ” เท่านั้น
ที่ว่าเป็นเพียง “เสียงกระซิบ” หมายความว่า พูดได้โดย “นัยยะ” ไม่อาจพูดได้ตรงๆ แต่ทว่าเป็นเสียงกระซิบที่ดังกึกก้องบนเวทีเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องและยิ่งดังขึ้นๆ!
ดังในการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 10 เมษา ของคนเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมา นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เล่านิทานเปรียบเทียบว่า
"ผู้จัดการสนาม" ได้พยายามทำทุกวิถีทาง โดยใช้ "มือวิเศษ" ช่วยเหลือทีมฟุตบอลที่ตนเองต้องการช่วย และใช้ "เท้าวิเศษ" กระทืบทีมฟุตบอลที่ตนเองไม่ชอบ ขณะที่ทีมอื่นๆ ที่เคยทำงานเชื่อมกับทีมฟุตบอลที่ "ผู้จัดการสนาม" ไม่ชอบ ก็จะถูกจัดการให้เข็ดหลาบไปด้วย จนต้องหันกลับไปทำงานเชื่อมกับทีมฟุตบอลที่ "ผู้จัดการสนาม" ชอบในท้ายที่สุด (มติชนออนไลน์ 10 เม.ย.54)
และที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า
“นอกจากนี้แผลที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน และเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ยังถือเป็นแผลเดิมที่ถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 17 พฤษภา และสงกรานต์เลือด 2552 ผู้มีอำนาจจะกำหัวใจประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อหัวใจของประชาชนมีแต่รอยแผลจากมือของท่าน เป็นแผลเก่าที่ถูกกดทับซ้ำแล้วซ้ำอีก" (มติชนออนไลน์ 10 เม.ย.54)
แน่นอนว่า “ผู้จัดการสนาม” หรือ“ผู้มีอำนาจ” ที่นายพสิษฐ์ และนายณัฐวุฒิหมายถึงคือ เจ้าของ “อำนาจนอกระบบ” ซึ่งมีการพูดถึงบนเวทีของคนเสื้อแดงเสมอมา และดังขึ้นๆ!!
แรกๆ สื่อต่างๆ มองว่าเป็นเพียง “วาทกรรมทางการเมือง” ของทักษิณและคนเสื้อแดง ที่ไม่มี “มูลความจริง” แม้ว่ามูลความจริงส่วนหนึ่งจะออกมาจากปากของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำหลักของพันธมิตร เองก็ตาม แน่นานเข้าๆ แทบไม่มีใครที่ติดตามการเมืองจะเชื่อว่าไม่มีอำนาจนอกระบบอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา และอยู่เบื้องหลังการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ อยู่เบื้องหลังระบบสองมาตรฐาน รวมทั้งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53
คำถามคือเมื่อเสียงกระซิบบนเวทีเสื้อแดงดังขึ้นๆ และดังไปทั่วโลก ประชาชนเริ่มตาสว่างมากขึ้นๆ “ผู้จัดการสนาม” หรือเจ้าของอำนาจนอกระบบและเครือข่ายจะเผชิญกับ “สภาวะตาสว่างทั้งแผ่นดิน” หรือตาสว่างกันทั้งโลกนี้อย่างไร
การปรับกลยุทธ์ด้วยการจัดตั้งกำลังทหารเพิ่มอีก “2 กองพล” ที่ภาคเหนือและอีสาน การเพิ่มงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเอาใจแม่ทัพนายกอง การจัดกำลังทหารลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) กับประชาชน การใช้ ม.112 ปิดปากประชาชน การกวาดล้างผู้ที่ฝ่ายตนเชื่อว่าไม่จงรักภักดี ฯลฯ เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดแล้วหรือ?
วิธีคิดที่ว่า “ความมั่นคงแห่งอำนาจของชนชั้นนำคือความมั่นคงของชาติ” และพยายามรักษาความมั่นคงของอำนาจนั้นไว้แม้ด้วยวิธีเข่นฆ่าประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาค ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 ถึง เมษา-พฤษภา 53 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด ทำลายประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างป่าเถื่อน
หากเจ้าของอำนาจนอกระบบและเครือข่ายกุนซือ ไม่ยอมเรียนรู้และไม่ “ตาสว่าง” มองเห็นความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนไป ความไม่สามารถเรียนรู้และหูตาที่บอดใบ้นั่นเองที่จะกลายเป็นสิ่งบั่นทอนพวกเขาเอง
จนถึงบัดนี้ สังคมไม่ควรเดินไปสู่จุดแตกหักด้วยการใช้ความรุนแรงและความตายของประชาชนอีกแล้ว หากชนชั้นนำยอมรับอำนาจของประชาชน ยอมรับเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นคน และยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย เพราะในโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่มีอำนาจใดที่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการตรวจสอบของประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะพบความจริงว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้ก้าวข้าม “ความกลัว” ไปแล้ว และได้สร้างปรากฏการณ์ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” และกำลังจะตาสว่างกันทั้งโลกแล้ว สื่อกระแสหลัก (เช่นมติชน) ก็ตาสว่างแล้ว แต่น่าประหลาดที่มหาวิทยาลัยในประเทศนี้มีปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” กันน้อยมาก
นอกจากอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับเพื่อนๆ ไม่กี่คน และอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ แล้ว เราได้เห็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่สร้าง “ปรากฏการณ์ตาสว่าง” กันน้อยมาก ประชาชนหรือชาวบ้านธรรมดาๆ ก้าวไปไกลแล้ว เป็นหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัญญาชน นักวิชาการ ที่ต้องผลักดันให้เกิด “ประเด็นสาธารณะ” ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องการแก้ไขหรือวางรูปแบบกฎหมายที่สามารถทำให้ “เสียงกระซิบ” ของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพูดได้และพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ด้วยการแสดงพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมาและเป็นสาธารณะ
ขณะที่ “เสียงกระซิบ” ของคนเสื้อแดงดังจนแสบแก้วหู และดังไปทั่วโลก อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ปัญญาชนไทยยังไม่ได้ยินกันอีกหรือ หรือว่า “ฟัง” แต่ “ไม่ได้ยิน” หรือเอาแต่พิพากษาตัดสินกันง่ายๆ ว่านั่นเป็นแค่ “วาทกรรมทางการเมือง”
แต่ถึงจะคิดแค่ว่าเป็น “วาทกรรมทางการเมือง” ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ปัญญาชน ยอมรับได้หรือที่ปล่อยให้เรื่องใหญ่ขนาดนี้เป็นแค่วาทกรรมทางการเมือง ไม่สมควรช่วยกันคิดหาช่องทาง “ตามหลักวิชาการ” บ้างหรือว่า ทำอย่างไรสังคมจึงจะมีวิธีนำวาทกรรมทางการเมืองเรื่องสำคัญสุดๆ ต่อความเป็น/ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ขึ้นมาสู่เวทีการสนทนาแลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ ซักไซ้ไล่เรียงเหตุผลและแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ “ข้อเท็จจริง”
เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ความยุติธรรมปรากฏแล้วเท่านั้นความสงบสุขจึงเกิดขึ้น!
และบัดนี้ “เสียงกระซิบ” ของคนเสื้อแดง ได้เผย “นัยยะ” ให้สังคมตาสว่างแล้ว ไม่ใช่เพียงให้ตาสว่างว่าความจริงคืออะไร แต่ที่สำคัญกว่าคือให้เราตาสว่างว่า ประชาชนทุกคนคือมนุษย์ที่มีเสรีภาพและมีความเสมอภาคในความเป็นคนที่พร้อมกำหนดชะตากรรมของตนเอง
ชะตากรรมของประชาชนจะไม่อยู่ใน “มือที่มองไม่เห็น” อีกต่อไปแล้ว!