WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, April 11, 2011

ถนนสายนี้ "สีแดง" สมบัติ บุญงามอนงค์ "รัฐประหารคือสัญญาณนกหวีดเรียกผมออกมา"

ที่มา มติชน



โดย เชตวัน เตือประโคน

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2554)



"ผมสนใจทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเรียนหนังสือ"

ชายสวมแว่น ผิวขาว ไว้ผมยาวปรกคลุมต้นคอมองคล้ายดาราเกาหลี เล่าให้ฟังถึงชีวิตช่วงเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา

ในวัยนั้น เขาเป็นนักเรียน โรงเรียนปทุมคงคา ที่ทำกิจกรรมมากมาย แต่สุดท้ายก็ต้องมาหยุดชีวิตการเรียนในระบบเมื่อถูกเชิญให้ออก หลังจากเป็นแกนนำชุมนุมประท้วงเพราะไม่เห็นด้วยกับระเบียบใหม่ของโรงเรียนเรื่องการเลือกตั้งประธานนักเรียน

จากการเมืองในโรงเรียน ชีวิตเติบใหญ่ขึ้นโดยลำดับ ผ่านประสบการณ์หลากหลาย จนในที่สุดเขาก็ก้าวมาสู่การเมืองระดับประเทศ

หลังเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อแกนนำ "คนเสื้อแดง" ในนามกลุ่ม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ถูกควบคุมตัว แกนนำส่วนหนึ่งหลบลี้หนีภัย มวลชนคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมซึ่งเคยสูงสุดถึงหลักแสน พ่ายแพ้แตกกระจายไปคนละทิศคนละทาง พร้อมกับภาพผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต เสียงปืน เสียงระเบิด ที่ยังก้องดังอยู่ในความทรงจำ

จึงไม่มีใครคาดคิดว่า "คนเสื้อแดง" จะกลับมาได้

แต่ท่ามกลางความเงียบ (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ยังมีคนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ และยังยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เขาเชื่อ พร้อมกันนี้ก็เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิต

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่ใครต่อใครรู้จักในนาม บ.ก.ลายจุด ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกคือ "ผูกผ้าแดง" ที่เขานัดแนะกันในหมู่เพื่อนฝูงเล็กๆ

จากคนหลักสิบ อาทิตย์ต่อมาขยายเป็นหลักร้อย ยิ่งเมื่อเขาถูกจับกุมตัวพร้อมกับเป็นข่าวเป็นคราวใหญ่โต มวลชน "วันอาทิตย์สีแดง" ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเป็นหลักพัน และเมื่อสมบัติได้รับการปล่อยตัวออกมา เขาก็กลับมาลุยกิจกรรมต่อ คราวนี้มวลชนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนแม้แต่เจ้าตัวยังตกใจ

"กิจกรรมที่ทำเหล่านี้ เป็นแค่เงื่อนไขในการส่งสัญญาณถึงมวลชนว่า เรายังสู้อยู่ ยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทุกวันอาทิตย์"

จาก ผูกผ้าแดง, ปั่นจักรยาน, เต้นแอโรบิค, แต่งผี ฯลฯ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

จนเมื่อถึงงาน "4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนราชประสงค์" คนเสื้อแดงจำนวนมากก็มารวมตัวกัน ณ ราชประสงค์ ชนิดที่สมบัติบอกว่า "คนเยอะมากขนาดที่ผมไม่คาดคิด ตำรวจไม่คาดคิด มวลชนเองก็ไม่คิด เป็นเซอร์ไพรส์ของทุกฝ่าย"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "คนเสื้อแดง" กลับมาได้อีกครั้งในวันนี้เป็นเพราะสมบัติ

สมบัติ หรือ บ.ก.ลายจุด เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 เป็นลูกคนกลางในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของพ่อประสงค์ แม่กาญจนา บุญงามอนงค์ เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนโรจน์ปัญญา (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) จากนั้นมาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา แต่ทว่าก็เรียนไม่จบ ต้องออกมาเตร็ดเตร่ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างสุดโต่งอยู่พักใหญ่ ก่อนจะสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครของ "กลุ่มละครมะขามป้อม" เก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับการแสดงละคร การทำค่ายเด็กและเยาวชนอยู่พักใหญ่ จนในที่สุดก็ออกมาก่อนตั้ง "มูลนิธิกระจกเงา"

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับนางเจศสุดา บุญงามอนงค์ มีลูกสาวคนเดียวชื่อ ด.ญ.ธาราทร บุญงามอนงค์ ปัจจุบันเรียนที่โรงเรียนปิติศึกษา จ.เชียงราย

กว่า 20 ปี ที่สมบัติก้าวเดินอยู่บนถนนสาย "เอ็นจีโอ"

นี่คือเรื่องราวของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำหรับการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในเมืองไทย

- ทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน?

ผมได้เรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่เรียนไม่จบ ตอนนั้นสนใจทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเรียน แต่ที่ดูเป็นเรื่องเป็นราวคือช่วง ม.5 ที่พยายามเสนอรูปแบบการเลือกตั้งประธานนักเรียน

ตอนนั้นตั้งใจจะสมัครเป็นคณะกรรมการนักเรียน คือแต่ก่อนจะเป็นการเซ็ตทีมขึ้นมาแล้วเสนอตัวชิงเลือกตั้ง แต่พอถึงตอนรุ่นผม เขาเปลี่ยนให้เป็นมีการเลือกตั้งทางอ้อม ให้มีการเลือกตัวแทนนักเรียนชั้น ม.5 ที่จะขึ้น ม.6 ห้องละ 2 คน พอเลือกเสร็จ 2 คนนั้นก็ไปเลือกประธานนักเรียนอีกที ซึ่งเรายอมรับไม่ได้

- เลิกเรียนแล้วทำอะไร?

เที่ยวหัวปักหัวปำเลย (หัวเราะ) เที่ยวเธค ตีสนุ้ก ฯลฯ แต่สักพักก็อิ่มตัว เห็นเพื่อนๆ ไปเรียนหนังสือที่โน่นที่นี่ก็เริ่มเปรียบเทียบกับตัวเอง และพบว่าเรามีปัญหาแล้ว จึงพยายามหาทางออก เราต้องหาอะไรทำ

ผมเป็นคนชอบฟังเพลงฝรั่ง วันหนึ่งคิดอยากจะเขียนจดหมายถึงดีเจ แต่ผมมักจะหลับ และอยู่ไม่เคยถึงช่วงบอกที่อยู่รายการ หรือถ้าอยู่ถึงก็ไม่เคยจดทันด้วย จึงเอาเทปคาสเซ็ตอัดไว้

แต่ครั้งนั้น แทนที่จะบอกว่าให้ส่งจดหมายไปที่ไหน กลับบอกเรื่อง "มะขามป้อม" เปิดรับอาสาสมัคร พอรุ่งเช้าผมก็เลยมาเปิดดูแล้วก็โทร.ไปถาม ว่าเป็นยังไง เสียตังค์รึเปล่า (หัวเราะ) พอเห็นว่าน่าสนใจก็ลองเลย

- ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ?

ผมอายุประมาณ 20 ปี อยู่ที่มะขามป้อม ได้ทำละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน ได้ทำค่ายเยาวชน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีหลักคิด ผมเริ่มต้นมีชีวิตใหม่เป็นคนใหม่เลยจากตรงนี้ โลกทรรศน์ก็เปลี่ยนเพราะว่าได้เดินทาง เมื่อก่อนไม่เคยไปไหนเลยนอกจากชลบุรีตอนงานเชงเม้ง

มีโอกาสไปเรียนรู้ในชนบท เรียนรู้ประเด็นสังคมเมือง เข้าไปนอนสลัมจริงๆ พูดคุยกับผู้นำชุมชน จากเด็กที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วไม่เคยเห็นภาพพวกนี้มาก่อน ก็เหวี่ยงมาอีกขั้วหนึ่งเลย

- ก่อตั้ง "มูลนิธิกระจกเงา"?

ผมอยู่มะขามป้อม 4-5 ปี ช่วงนั้นเกิดรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผมทำละครใบ้ต่อต้านรัฐประหาร เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก

วันหนึ่ง เขาจะประกันตัวนักศึกษา 15 คนที่ถูกจับ คนละหมื่นบาท ผมเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมของกลุ่มมะขามป้อม ขอให้กลุ่มช่วยให้ยืมเงิน แต่ได้รับคำตอบว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา ตอนนั้นผมโกรธมาก อาจเพราะเรายังเด็กยังแรงมาก เมื่อเห็นว่าองค์กรไม่ได้เทคแอ๊คชั่นใดๆ กับเรื่องรัฐประหารก็รู้สึกผิดหวัง รุ่งเช้าเลยมาลาออก

จากนั้นก็มาช่วยเพื่อนๆ น้องๆ ที่เราเคยไปสอนทำละคร ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารอยู่พักใหญ่ ก่อนจะคิดก่อตั้งเป็นองค์กร "มูลนิธิกระจกเงา" และเพิ่งจะจัดงานครบรอบ 20 ปี เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

- รัฐประหารครั้งนั้นนำมาซึ่งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535?

ใช่ และเป็นบทเรียนสำคัญว่าเราต้องไม่ยอมให้ทหารมายุ่งเกี่ยวการเมือง เมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมือง เราจะไม่ให้ทหารเข้ามาควบคุมฝูงชน ให้มีหน่วยงานพิเศษที่ถูกฝึกมาอย่างดีพร้อมอุปกรณ์ และกฎหมายสำหรับในการจัดการ นั่นก็คือตำรวจฝ่ายปราบจราจล แต่สุดท้ายที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนเดิม รัฐประหารนี่เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้เลยนะ อินมาก ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ผมออกมาเลย เหมือนสัญญาณนกหวีดเรียกผมออกมา

- อย่างในนาม เครือข่าย 19 กันยาฯ?

รัฐประหารคืนวันที่ 19 พอวันที่ 20 เราออกมาเลย ตอนนั้นผมและเพื่อนๆ น้องๆ ที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันพูดคุยกันทางโปรแกรม MSN ลากมาคุยกันเยอะๆ ได้ ก็นัดแนะกันว่าจะประชุมกันที่มูลนิธิกระจกเงาเพื่อประเมินสถานการณ์ และคุยว่าจะทำอะไรกันบ้าง เย็นนั้นก็ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร

- มองปรากฏการณ์การต้อนรับรัฐประหารล่าสุดอย่างไร?

อีเดียต!!! คือตอนหลังรัฐประหารปี"34 ได้มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "คู่มือต้านรัฐประหาร" จัดพิมพ์ออกมาโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ตอนนั้นกรรมการมูลนิธิมี นพ.ประเวศ วะสี, รสนา โตสิตระกูล ฯลฯ ในนั้นบอกว่าถ้าเกิดรัฐประหารขึ้น ต้องหาวิธีการต่อต้านทุกรูปแบบ

พอมันเกิดขึ้น 19 กันยายน ผมก็ออกมาและเดินตามหนังสือเป๊ะ แต่พี่ๆ เพื่อนๆ ที่ผมคิดว่าจะได้เจอกันกลับเงียบ ยอมรับว่าผมเสียเซลฟ์พอสมควร ออกตัวมาล้อฟรีเลย (หัวเราะ)

ตอนนั้นงงมาก เพราะมีแต่เด็กรุ่นใหม่ มีแต่รุ่นน้องผมที่ออกมาต่อต้าน คนรุ่นเก่าเคยถอดบทเรียนกันมาหายหมด ตอนแรกก็คิดว่าตัวเองผิดอะไรหรือเปล่า แต่พอลองไล่ตรรกะดูแล้วพบว่าไม่ผิด มั่นใจ แต่รู้ว่าจะต่อสู้ด้วยความยากลำบากกว่าที่คิดไว้เยอะ

- เอ็นจีโอไม่ออกมาต้านรัฐประหาร?

เพราะเขาไปไล่ทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เลยไม่กล้าออกมาเพราะกลัวเสียฟอร์ม (หัวเราะ) หรืออย่างอาจารย์หลายๆ ท่าน ผมขอใช้คำว่าเกิดภาวะ "ปัญญาดับ"

คนอื่นไม่รู้จักไปว่าเขาไม่เป็นไร แต่ผมนี่รู้จักและเติบโตมากับงานของคนเหล่านี้ นี่คือปราชญ์โคตรๆ (เน้นเสียง) โดยทรรศนะผมคิดว่านี่คือครูบาอาจารย์ที่ฉลาดมากๆ แต่ว่าทำไมเขานิ่งเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ผมไม่รู้ มองได้เป็นอย่างเดียวว่าเกิดภาวะปัญญาดับ ดับวูบเลย

- หลังเหตุการณ์สลายชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 เหมือนเสื้อแดงจะหยุดเคลื่อนไหว แต่คุณไม่?

ผมมีภาพปี 2535 หลังถูกกวาดต้อนที่ราชดำเนิน ทุกคนก็ไปตั้งขบวนสู้ต่อที่ ม.รามคำแหง หาที่ยันไว้ก่อนแล้วค่อยสู้ต่อ แต่คราวนี้วิธีการออกมาคนละแบบ ไม่ใช่การชุมนุม เป็นการสร้างพื้นที่ ฟื้นฟูกระบวน เพราะเกมนี้ยาวกว่าที่คิดเยอะ

ผมมีพื้นที่อย่างเฟซบุ๊ก จัดกิจกรรมเล็กๆ ปั่นกระแส สร้างกระแสว่ายังมีการดิ้นรนต่อสู้อยู่ จะหยุดทำไม ผมยังสามารถดิ้นได้นะในขณะที่ทุกคนเงียบหมด ผมเป็นตัวละครที่ยังโลดเล่นอยู่ในโลกไซเบอร์ สร้างกิจกรรมค่อยๆ เก็บแต้มไป

ในที่สุดก็มีคนสนใจเยอะขึ้น จัดกิจกรรมผูกผ้าแดง กินข้าวแดง จักรยานสีแดง แอโรบิค เป็นต้น คือตอนนั้นความคิดว่าเรื่องที่จะหยุดสำหรับผมแล้วไม่มี

- ทำไมต้องเป็นเชิงสัญลักษณ์?

ดูซอฟท์ดี ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน มันหลบเลี่ยงอะไรบางอย่างได้ ลดความรุนแรงลงได้ แต่ลึกๆ แล้วยังท้าทาย เยาะเย้ย คือมันมีความลงตัวในช่วงเวลาของมัน

แต่ที่ผมตลกคือว่า ผมต้องบริหารความรู้สึกของฝ่ายฝั่งตรงข้ามไม่ให้เขาตกใจ อย่างผูกผ้าแดง ครั้งแรกผมถูกจับ พอได้รับการปล่อยตัวมาผูกอีกคนเยอะร่วมเยอะขึ้น คราวนี้ถ้าจะมาอีกฝ่ายตรงข้ามตกใจเอาจริงแน่

ตอนนั้นพอเจ้าหน้าที่มายกป้ายออกไป ก็เข้าทางแล้ว เราเลยประกาศชัยชนะในเกมนี้ได้ จากนั้นก็เปลี่ยนไปเล่นเกมเต้นแอโรบิคซะ เพื่อไม่ให้เขาตกใจ (หัวเราะ)

- รู้สึกอย่างไรที่มีคนบอกว่า ความสำเร็จเสื้อแดงวันนี้เพราะคุณ?

ผมคิดว่าลูกฟุตบอลตกใส่เท้าผมพอดี และผมมีวิธีการจะเล่นฟุตบอลในเกมนี้ คือถ้าตกใส่เท้าคนอื่นผมก็เชื่อว่าเขาจะเลื้อยลากไป

แต่นี่อยู่ในเท้าผม ผมก็ต้องเล่น เล่นอยู่คนเดียวสักพัก

เมื่อมีคนมาร่วมด้วยลูกฟุตบอลก็ถูกส่งต่อ