ที่มา มติชน
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2554)
ความร้ายแรงของแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้คนตายกว่าหมื่น สูญหายจำนวนพอๆ กัน, เกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์, มีผู้ประสบภัยต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางใจ กาย และฟื้นฟูประเทศขนานใหญ่
น่าจะทำให้ทุกองคาพยพของ "ญี่ปุ่น" จดจ่อ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องดังกล่าว
ไม่น่าจะมีสมาธิ หรือสนใจปัญหาอื่น
กระนั้น 31 มีนาคม 2554 เราก็ได้เห็นภาพ "โนบุเอกิ อิโตะ" อัครราชทูตฝ่ายการเมืองญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทวงถามความคืบหน้าการเสียชีวิตของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ "อีกครั้ง"
เป็น "อีกครั้ง" ในหลายๆ ครั้งที่ทางการญี่ปุ่นวนเวียนขอคำตอบ เหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่สี่แยกคอกวัว
เวลาผ่านไปครบหนึ่งปี ก็ยังทำเช่นนั้นอยู่
แสดงว่า ไม่มีอะไรคืบหน้า
ซึ่งทางการญี่ปุ่นก็ไม่ลดละ
ชัดเจนยิ่งว่า "หมื่นๆ" ชีวิตญี่ปุ่นที่สูญเสียไปกับสึนามิ ไม่ได้ทำให้ "หนึ่ง" ชีวิตญี่ปุ่นที่สูญเสียไปในเมืองไทย "ถูกลืม"
ถามว่า ความมุ่งมั่นนี้เป็นเพราะ "โนบุเอกิ อิโตะ" อัครราชทูตฝ่ายการเมืองญี่ปุ่น โน้มเอียงไปทาง "คนเสื้อแดง" หรือไม่
ถึงวอแวไม่เลิก คอยตามจี้ตามไช ให้เป็นประเด็นข่าวตลอดเวลาเช่นนี้
ตอบแทนอย่างไม่ลังเลเลย ว่า "ไม่ใช่"
ต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์ "ขอคืนพื้นที่" ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 "เพียงเหตุการณ์เดียว"
มีผู้เสียชีวิต 27 ศพ
เป็นพลเรือน 21 คน รวมถึงฮิโรยูกิ มูราโมโตะ
เป็นทหาร 6 นาย รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารระดับสูงของกองทัพบก
มีผู้บาดเจ็บร่วม 1,400 คน
เป็นเหตุรุนแรงทางการเมืองที่ถือว่า "ใหญ่มาก"
"ใหญ่มาก" จนไม่อาจซุกเอาไว้ที่ไหนก็ได้
จำเป็นจะต้องมีคำตอบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากใคร อะไร อย่างไร และใครควรจะรับผิดชอบ
"นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม" ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ให้สัมภาษณ์ "มติชน" เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ในโอกาสจะครบรอบ 1 ปี แห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ว่า
"ดิฉันไม่ยอมรับการปรองดองกับคนผิด ยังรอคอยและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการกับคดีของพี่ร่มเกล้าและผู้เสียชีวิตทุกราย คนผิดก็ต้องได้รับโทษหากเขาทำผิด หากเขายังต้องการได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองของสังคม เขาต้องยอมอยู่ภายใต้กรอบ กติกา กฎหมาย และบรรทัดฐานของสังคม เพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ใช่เป็นสังคมไร้ระเบียบ"
"นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม" ไม่ใช่เสื้อแดงแน่นอน
และถ้าหากให้ญาติของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตพูด
เขาก็คงพูดไม่แตกต่างไปจากภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า
พูดไม่แตกต่างกับสิ่งที่ทางการญี่ปุ่นพูด
นั่นคือคำตอบเรื่อง "ความจริง"
ความจริงที่ "คนทำผิด" ต้องได้รับโทษ คนที่เสียหายต้องได้รับการเยียวยา
แล้วใครจะอำนวยให้ "ความจริง" บังเกิดขึ้นมา
นี่ย่อมเป็นคำถามที่ย้อนไปหานายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้กำกับดูแลทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ
น่าเสียดายที่เวลาผ่านไป 1 ปี ความหวังที่ได้รับความจริงเลือนรางอย่างยิ่ง
มิหนำซ้ำต่างฝ่ายต่างชี้นิ้วกล่าวโทษกัน
แต่ละฝ่าย "เลือก" ที่จะ "เชื่อ" ตามที่ตนเองเชื่อ
และยังใช้ "ความเชื่อ" นั้นหาประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีก
ทำให้นอกเหนือจะไม่ได้ความจริงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความบาดหมางให้ร้าวลึกขึ้นไปอีก
สังคมไทย ไม่มีวันหา "ความจริง" ได้?