ที่มา ข่าวสด
เหล็กใน
สมิงสามผลัด
ครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ 10 เมษาเลือดไปแล้ว
คนเสื้อแดงเรือนแสนร่วมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่คอกวัว
ในเหตุการณ์นั้นมีประชาชนคนไทยเสียชีวิต 20 ศพ ส่วนทหารเสียชีวิต 6 ศพ
ก่อนหน้านี้มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย จัดทำหนังสือ "วีรชน 10 เมษา คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"
เนื้อหาอ่านแล้วสลดหดหู่ เป็นบทสัมภาษณ์ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต
บ่งบอกถึงความรู้สึกที่ต้องสูญเสียคนที่รัก
บ่งบอกถึงเหตุผลที่เหยื่อออกไปร่วมชุมนุม
ที่สำคัญทุกคนต่างรอถึงบทสรุปของคดี
รอวันที่ "คนสั่งฆ่าประชาชน" รับโทษทัณฑ์
แม้จะค่อนข้างมืดมนก็ตาม!?
นอกจาก 20 วีรชนแล้ว ยังมีอีก 1 ศพที่ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง
แต่ออกมาทำหน้าที่สื่อมวลชน
นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น เป็นศพที่ 21 ในเหตุการณ์นี้
ความจริงแล้ว เราได้รับรู้ถึงการติดตามทวงความยุติ ธรรมให้นายฮิโรยูกิมาตลอดเวลา 1 ปี
รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อคดี
ทวงถามความคืบหน้า 6-7 ครั้งจากทั้งรมต.ต่างประเทศ ทั้งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
และในรำลึกครบรอบ 1 ปี นายสตีเว่น แอดเลอร์ หัวหน้าบรรณาธิการของรอยเตอร์ ออกแถลงการณ์รำลึก ถึงนายฮิโรยูกิ
"ในวันนี้ เราร่วมกันไว้อาลัยต่อการจากไปของคุณมูราโมโตะ แต่เรารู้สึกผิดหวังที่ยังคงไม่มีความกระจ่างชัดต่อสาเหตุการเสียชีวิตของเขา ขณะที่เวลาได้ล่วงเลยมา 1 ปี โดยครอบครัวและเพื่อนร่วมงานในรอยเตอร์ของคุณมูราโมโตะ สมควรที่จะมีโอกาสได้รับทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผู้ใดอยู่เบื้องหลัง"
วันรุ่งขึ้น หลังครบ 1 ปี นางจีน ยูน บ.ก.ข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าวรอยเตอร์ และ นายเจสัน เซบ หัวหน้าข่าวรอยเตอร์ สำนักงานกรุงเทพฯ
เข้าทวงถามความคืบหน้าของคดีนี้กับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
ประเด็นหลักก็คือไม่เข้าใจว่าทำไมตอนแรกดีเอสไอถึงสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐฆ่า
ก่อนกลับคำในภายหลังว่าไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ!?
นายฮิโรยูกิตายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน
ถูกยิงขณะรายงานข่าวรายงานข้อเท็จจริงต่อสายตาชาวโลก
หลังเสียชีวิตแล้ว เพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมวิชา ชีพต่างออกมาต่อสู้ ทวงความยุติธรรมให้
นายฮิโรยูกิจึงกลายเป็นวีรชน กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อ
เรื่องราวของ "ฮิโรยูกิ" ถูกตีแผ่ไปทั่วโลกแล้ว