เหมือนจะมีสัญญาณดีจากทั้ง 2 ฝ่ายที่จะเล่นบทสมานฉันท์ เมื่อคมช.โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และรองประธานคมช.บอกว่ายินดี หากจะมีการพูดคุยกันระหว่าง คมช.กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร หรือทุกฝ่าย
“น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าพูดคุยกันได้”
แต่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของคมช.แล้วก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ก็คงจะหมายความว่าพร้อมเจรจาพูดคุยกันเพื่อ “สมานฉันท์”
คดีความต่างๆต้องไปว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม เรียกว่าแยก 2 ส่วนให้ออกจากกันมิฉะนั้นจะสมานฉันท์ปนเปกันไปหมด
ในความเป็นจริงทางการเมืองหรือบ้านเมืองทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคม และปริวิตกกันว่าจะทำให้บ้านเมืองพินาศได้และยังมีการร่ำๆไปถึงว่าประเทศไทย มีขีดอันตรายไม่ต่างไปจาก “อิรัก”
ครับ...มองอย่างนั้นมันก็เกินไป ประเทศไทย-คนไทยไม่ได้ป่าเถื่อนถึงขนาดนั้น ไม่นิยมการฆ่าฟันกันด้วยความเชื่อหรือความรุนแรงที่ต้องล้มตายเป็นเบือทุกๆวัน นักวิเคราะห์สำนักนี้ที่เอาเมืองไทยไปเปรียบอิรักอย่างนั้น
มันน่าจะ “เพี้ยน” มากกว่า
จริงๆแล้วคนไทยนั้นมีจิตใจดีงาม ไม่ชอบปะทะขัดแย้งอยู่แล้วในพื้นที่ โดยเฉพาะการมีศาสนาพุทธกำกับก็เลยอยู่กันมาได้ทุกวันนี้โดยไม่ต้องไปรบรา ฆ่าฟันกันอย่างตะวันออกกลางหรือความพยายามของชาติตะวันตกที่จะเข้ามา มีอิทธิพลครอบงำไปทั่วโลก
ตะวันออกกลางก็ตกเป็นเหยื่อฆ่ากันเองไม่จบสิ้น
เหนืออื่นใดในทางการเมืองความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าต้องอยู่ในระดับ ที่มีเหตุมีผล ดังนั้นในสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันการหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาพูดคุย และยุติความขัดแย้ง ระดับชาติลงได้...ก็น่าจะคิดและช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ
จริงๆแล้วสถานการณ์ของคมช.และกลุ่มอำนาจเก่าโดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็คงจะไม่ต่างกันเท่าใดนัก
วันนี้คมช.ยอมรับความจริงแล้วว่าจากการยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังและตั้งรัฐบาล ชั่วคราวบริหารประเทศ 1 ปีกว่าไม่ประสบสำเร็จ ไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหา ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ บันได 4 ขั้น 5 ขั้นมันก็เป็นภาพลวงตาแค่นั้นเอง
ทำไปทำมาก็ทำได้แค่ทำให้ “ทักษิณ” ออกนอกประเทศ ถูกดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ และกำลังจะวนกลับมาสู่ที่เก่าในประเทศไทย
สถานการณ์ต่างๆพลิกกลับมาสู่รูปแบบเดิมซึ่งก็คงจะแน่นอนแล้วว่ากลุ่มอำนาจเก่า คงจะได้อำนาจทางการเมืองคืนกลับไปเพราะได้รับการเลือกตั้งชนะคู่แข่ง แม้จะแปลงร่างจากไทยรักไทยมาเป็นพลังประชาชนก็ตาม
คมช.คงต้องคิดหนักเหมือนกันว่าจะถูก “เช็กบิล” ย้อนหลังหรือเปล่า หรือพ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องคิดเช่นกันว่าหากกลับเมืองไทยในท่ามกลางความขัดแย้ง ที่ยังดำรงอยู่จะคุ้มหรือไม่เพราะเดิมพันของ “ทักษิณ” นั้นสูงพอสมควร
ไม่ใช่แค่ประเด็นการเมืองเท่านั้น
แต่มันหมายถึงคดีอาญาคดีทางการเมือง และทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลที่ถูกยึดอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าพลังประชาชนจะเป็นรัฐบาลมีอำนาจรัฐแต่การจะต่อสู้ในเรื่องนี้คงไม่สามารถ ใช้อำนาจทางการเมืองได้เพียงอย่างเดียว
หากไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง “หลัก” ได้มันก็เป็นตัวถ่วงในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
พูดง่ายๆ “ทักษิณ” กับคมช.คงตกที่นั่งไม่ต่างกัน ดังนั้นการจูนเครื่องเข้าหากันคงเป็นทางออกที่จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย.
"สายล่อฟ้า"
คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย