ในที่สุดกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เพื่อกลับเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เดินหน้าไปตามปฏิทินเวลา
โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เสียงส่วนใหญ่จากพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ลงมติเลือก
นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน
ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
แน่นอน ผู้ที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง
มีสถานะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
และมาถึงวันนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายยงยุทธ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2
ทั้งนี้ นายยงยุทธได้แถลงถึงการเข้ามาทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ว่า
การทำงานจากนี้ไปจะมุ่งเน้นเรื่องความรักความสามัคคี ปรองดอง จะไม่มีการเลือกข้างเลือกฝ่าย หรือเห็นแก่พรรคพวก
จะมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก จะสร้างบรรยากาศความเป็นพี่น้อง เป็นมิตร ในการทำงานร่วมกัน เสียงข้างมากหรือข้างน้อย ไม่สำคัญไปกว่าความตั้งใจ ความจริงใจ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเมืองภาคประชาชนที่ถูกละทิ้งมานาน ต่อไปนี้จะกลับคืนสู่พี่น้องประชาชน
จะสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนในสภาฯให้มีการตรวจสอบเป็นระยะ เปิดให้ภาคประชาชนข้างนอกมีสิทธิเรียกร้อง โดยจัดเวทีรับฟังความเดือดร้อน การเสนอกฎหมายและแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมือง
จากนี้ไปอะไรที่ไม่เข้าใจ ความบาดหมางใจ ขอให้ พี่น้องมั่นใจว่าเราจะเป็นกลไกอาสาสร้างความปรองดองของคนในชาติ
เพราะรู้ว่าความแตกแยก การขาดความรักความสามัคคี เป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ การขจัดสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บ้านเมืองมีความมั่นคงขึ้น เป็นเรื่องที่เราขอรับใช้ ประชาชน
ทุกประโยค ทุกถ้อยคำ สวยหรู มีหลักการ ฟังแล้วน่าสบายใจ
แต่อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเลือกนายยงยุทธ เป็นประธานสภาฯ
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในช่วงนั้น ทั้งนายยงยุทธ และพรรคพลังประชาชน ต้องลุ้นกันเหงื่อตกกับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเรื่องร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ในฐานะว่าที่ ส.ส. ระบบสัดส่วน กลุ่ม 1
กรณีถูกกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้งแจกเงินกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวคะแนน
ลุ้นเสียวโดน กกต.แจกใบแดง ลุ้นเสียวโดนคดียุบพรรค
ก่อนผ่านด่านมาได้ แบบหืดขึ้นคอ
เพราะ กกต.ปล่อยผี ประกาศรับรองผล ส.ส.ลอตสุดท้าย เพื่อให้สามารถเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้งได้ทันกำหนดเวลา 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
และจากอานิสงส์ที่ กกต.ปล่อยผี ประกาศรับรองผล ส.ส.ลอตสุดท้าย
จึงเป็นโอกาสให้นายยงยุทธได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชาชนให้เข้ามาชิงตำแหน่ง ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล เทเสียงโหวตถึง 307 เสียง ให้เป็นประธานสภาฯ
แม้เกิดปัญหาเสียงแตก มี ส.ส. ในฝ่ายรัฐบาล 3 คน แอบลงคะแนนให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน คู่ชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ จากฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์
แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของนายยงยุทธ เพราะคะแนนเสียงชนะขาดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่นายยงยุทธก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาฯทั้งๆที่ยังอยู่ในระหว่างโดน กกต.ตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง
ตรงนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ขาดความสง่างาม
เพราะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ควรเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ไม่ควรมีริ้วรอย ที่ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยของประเทศ
ดังนั้น การที่พรรคพลังประชาชนส่งนายยงยุทธเข้ามาทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ จึงทำให้เกิดมุมสะท้อนว่า
คำพูดที่ประกาศ ต้องการสร้างความสมานฉันท์ ความปรองดอง ทำเพื่อชาติ กับการปฏิบัติในการส่งคนเข้ามาใช้อำนาจ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
ทั้งนี้ การส่งนายยงยุทธ เข้ามาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นความจำเป็นของพรรคพลังประชาชน
ในฐานะที่นายยงยุทธ เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 เมื่อพรรคชนะการเลือกตั้งก็ควรได้รับรางวัล
และก็แน่นอน นักการเมืองทุกคนอยากไปอยู่ในฝ่ายบริหาร นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี
แต่ถ้านายยงยุทธในฐานะที่เป็นรองหัวหน้าพรรค ไปนั่งเป็นรัฐมนตรี แล้วบังเอิญ กกต.ตามสอยในกรณีถูกกล่าวหาทุจริตเลือกตั้ง และศาลฎีกาชี้ว่าผิด
หรืออาจไปดำเนินการอะไรในกรณีที่เป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือ กฎหมายเลือกตั้ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อพรรคด้วย
ส่วนการเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญกำหนดให้วางตัวเป็นกลาง ต้องลาออกจากกรรมการบริหารพรรค
ตรงนี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พรรคพลังประชาชน วางตัววางตำแหน่งให้นายยงยุทธ มานั่งเป็นประธานสภาฯ
ส่งไปอยู่ในจุดที่อยู่นอกวงกรรมการบริหารพรรค เพื่อความปลอดภัย
แต่ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางเสียงประกาศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชน
ที่บอกจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองภายในชาติ
การส่งนายยงยุทธเข้ามาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่รู้อนาคตว่าจะอยู่ในตำแหน่งได้นานแค่ไหน
เพราะยังไม่มีคำตอบจาก กกต.ว่า “ขาว” หรือ “ดำ” ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
นักสังเกตการณ์ทางการเมือง ก็อาจมองได้ว่า เป็นการท้าทายหรือไม่
เหนืออื่นใด หลังจากพรรคพลังประชาชนประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค และมีการเจรจาแบ่งโควตากระทรวง เตรียมจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี
แน่นอน กระทรวงกลาโหม เป็นที่จับตาของทุกฝ่าย
เพราะตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของรัฐบาลชุดนี้
มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่อำนาจเก่าหวนกลับเข้ามา คุมอำนาจรัฐและฝ่าย คมช.ต้องถอยร่นกลับที่ตั้ง
โดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลชุดที่แล้ว หลายคนยังอยู่ในตำแหน่งหลักๆของ กองทัพ ในขณะที่ผู้ถูกโค่นล้ม ได้กลับเข้ามาถือดุลอำนาจบริหารประเทศ
แม้งานนี้ ฝ่ายผู้ถือดุลอำนาจจะประกาศพร้อมสมานฉันท์ กับทุกฝ่าย
แต่เอาเข้าจริง กลับมีอาการสะท้อนกลับจากพรรคพลังประชาชน
มีการเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ว่าที่นายก รัฐมนตรี นั่งควบ รมว.กลาโหม
ในขณะที่ทาง คมช.ส่งสัญญาณออกมาชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.กลา-โหม ควรเป็นคนกลาง ไม่สังกัดพรรค การเมือง และต้องเป็นอดีตนายทหาร
เพราะทหารย่อมเข้าใจในทหาร รวมทั้งเรื่องของบุคลากรและภารกิจของกองทัพ
พร้อมทั้งมีข่าวกระเส็นกระสายว่า ทาง คมช.อยากให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ตท.6 รุ่นพี่ที่มีความสนิทสนมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เข้ามาเป็น รมว.กลาโหม
เพราะอย่างน้อยก็ยังพอเป็นกันชน ไม่ให้ คมช.ถูกฝ่ายการเมืองเล่นงานเอาคืนได้ง่ายๆ
แต่ทางพรรคพลังประชาชนก็ไม่ได้ขานรับ
พร้อมทั้งมีการเสนอชื่ออดีตนายทหารคนอื่นๆเข้ามาประกบ อาทิ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.ทบ. และ ผบ.ทหารสูงสุด ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพิเศษ
และล่าสุด นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ออกมาประกาศย้ำว่า ตำแหน่ง รมว.กลาโหม ต้องเป็นคนของพรรคพลังประชาชน
รวมทั้งมีการเตรียมทีมงานเอาไว้แล้วเพื่อช่วยงานนายสมัคร หากต้องนั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม
ปรากฏการณ์ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทางฝ่าย คมช. และกองทัพ กับฝ่ายที่ถือดุลอำนาจในการแต่งตั้ง รมว.กลาโหม
จูนคลื่นให้ตรงกันลำบาก
และเมื่อหันมามองตัวบุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายสมัคร ก็เป็นที่รู้กันตั้งแต่ตอนเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแล้วว่า
ถูกสั่งมาเป็นหัวหอก พร้อมแลกหมัดกับ คมช.
บุคลิก ลีลา ฝีปาก ไม่ใช่ผู้ประนีประนอม
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ทั้งตำแหน่งประธานสภาฯ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้ถือดุลอำนาจ ไม่ยอมถอยให้ใครทั้งนั้น
ถือเป็นยุทธศาสตร์เผชิญหน้า
ตั้งท่าเขย่ากันแรงๆ
โดยมีเป้าหมายที่จะต่อรองอะไรบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเอาสิ่งที่สูญเสียไป กลับคืนมา
เมื่อการต่อรองยังไม่บรรลุผล จึงมีความเคลื่อนไหวที่สวนทางกับแนวสมานฉันท์ออกมาให้เห็น
สไตล์แบบนี้ถ้าเป็นหนัง คงไม่ใช่หนังรักแน่ๆ
เพราะเปิดฉากออกมามีแต่พวกถนัดบทบู๊ทั้งนั้น.
“ทีมการเมือง”
คอลัมน์ ข่าวการเมือง(วิเคราะห์)