การเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร มาถึงวันนี้ถือได้ว่าลงล็อกลงตัวหมดแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อ “ทั่นประธานสายล่อฟ้า” นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก
ในการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเลือก “น้าหมัก” นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี
คนของพรรคพลังประชาชนได้นั่งคุมอำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
เบ็ดเสร็จเรียบร้อย “ลอนดอน-ฮ่องกง”
หลังจากนี้ ในพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคก็จะเข้าสู่ช่วงชุลมุนกับการต่อรองโควตากระทรวง และการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ตก รางวัลให้แก่แกนนำพรรค และผู้มีอุปการคุณที่ช่วยเหลือเจือจุนปัจจัยในการทำศึกเลือกตั้ง
แต่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ทุกตำแหน่งทุกเก้าอี้ก็คงสะเด็ดน้ำ!!!
สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งในช่วงนี้ ที่น่าสนใจไม่แพ้ การฟอร์ม ครม.ก็คือ
การสรรหาและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.
ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐสภา เพราะต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นสภากลั่นกรองกฎหมาย และมีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้มี ส.ว. 150 คน แบ่งเป็น ส.ว.ที่มาจากการลากตั้ง คือมาจากการสรรหา 74 คน และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
ในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา มีองค์กรต่างๆส่งรายชื่อบุคคลเข้าประกวดทั้งหมด 1,087 องค์กร
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก่อนส่งให้คณะกรรมการสรรหา 7 คน ที่ประกอบด้วย
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธาน ป.ป.ช. ประธาน สตง. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดฝ่ายละ 1 คน
ใส่ตะแกรงร่อนคัดให้เหลือ 74 คน เข้าไปเป็น ส.ว.ระบบสรรหา โดยคาดว่าจะเห็นโฉม หน้ากันในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
ส่วน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน จะมีการเลือกตั้งกันในวันที่ 2 มีนาคมนี้
หลังจาก กกต.ได้เปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว.เป็นเวลา 5 วัน ปรากฏว่าจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้มาสมัครลงเลือกตั้งทั้งสิ้น 505 คน
ถือว่าน้อยมาก ไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้ง ส.ว.สองครั้งที่แล้ว
ยิ่งถ้าเจาะเป็นรายจังหวัด ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าน้อย จนเข้าขั้นหร็อมแหร็ม
กรุงเทพฯเมืองหลวง มีผู้สมัคร 35 คน จังหวัดเชียงใหม่ 18 คน สมุทรปราการ 15 คน อุบลราชธานี 14 คน ขอนแก่น 12 คน นคร-ราชสีมา 8 คน นนทบุรี 7 คน สงขลา 6 คน
สุราษฎร์ธานี 4 คน หนองบัวลำภู จันทบุรี จังหวัดละ 3 คน นครปฐม กาญจนบุรี สระแก้ว นราธิวาส สตูล ลพบุรี จังหวัดละ 2 คน
ขณะที่พังงามีผู้สมัครคนเดียวโด่เด่ ต้องใช้เกณฑ์คะแนนเสียง 20 เปอร์เซ็นต์ตัดสิน
ส่วนสาเหตุที่มีผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ว.น้อย ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดสเปกผู้สมัคร ส.ว.ไว้แบบรัดติ้ว
ห้ามพ่อ แม่ คู่สมรส และบุตร ของบรรดา ส.ส.ลงสมัคร เพื่อป้องกันไม่ให้วุฒิสภากลายเป็นสภาผัวเมีย
ห้ามผู้ที่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือเคยเป็นสมาชิก เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่เกิน 5 ปี ลงสมัคร
ตัดตอนคนที่มีสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ไม่ให้แทรกเข้ามาเป็นยาดำในสภาสูง
แม้ตัวเลือกน้อยไปหน่อย แต่ถ้าสกัดนักการเมืองกินรวบได้ ก็คุ้มนะโยม!!!
“พ่อลูกอิน”
คอลัมน์ สำนักข่าวหัวเขียว