วันนี้จะเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย
ที่น่าสนใจเป็นการเลือกภายใต้กติการัฐธรรมนูญใหม่ 2550 ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระในการตัดสินใจสนับสนุนใครโดยไม่จำเป็นต้องฟังมติพรรค พรรคไม่สามารถลงโทษได้
ครับ จากประเด็นนี้ผมไปพลิกรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่ามาตรา 162 วรรคท้าย เขียนไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายและการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ไม่ได้พูดถึงการลงมติสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ด้วย
ฉะนั้น ความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการลงมติเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามที่พูดหรือเข้าใจผิดกัน ยิ่งมาตราที่ 172 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า การลงมติในกรณีนี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย ยิ่งจำกัดความเป็นอิสระของ ส.ส.ที่จะแหกโผไว้โดยตรงทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน มีหวังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้กฎกติกาที่ใช้อยู่ขณะนี้แน่นอน
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าได้เป็นหรือไม่ได้เป็น แต่อยู่ที่เป็นแล้วเป็นได้ดีมีประสิทธิภาพแค่ไหน จะพารัฐนาวาแห่งนี้สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ฝ่ามรสุมไปถึงฝั่งหรือไม่ ตรงนี้ต่างหาก
ในการลงมติสนับสนุนอาจจะมี ส.ส.บางคน กระอักกระอ่วน กังวลใจ ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคิด ท่าที บุคลิกภาพของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นชนวนทำให้รัฐบาลเกิดปัญหาก็ตาม
แต่เชื่อเถอะครับ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญ เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร เป็นหน้าตาของประเทศชาติบ้านเมือง เป็นผู้นำของพลเมืองกว่า 60 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย มีความแตกต่างทางความผิดและผลประโยชน์มากมาย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องแค่บุญวาสนา บารมีของใครคนใดคนหนึ่ง คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก มีเสียงข้างมากเสียอย่างพอแล้ว ไม่ว่านายกรัฐมนตรีนอมินีหรือตัวจริงก็ตาม จะทำหน้าที่อย่างไรก็ได้
บทบาทภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับไว้บนบ่า การนำพาบ้านเมืองให้อยู่รอด ลดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม ธำรงความเป็นชาติที่มีความสามารถที่จะอยู่ร่วมโลกกับประเทศต่างๆ อย่างเท่าเทียม และเจริญก้าวหน้าต่อไป ภายใต้ความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชน จึงเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก
แม้นายสมัครจะบอกว่า คงเข้ามาอยู่ไม่นาน มาทำภารกิจเดียวตามที่ได้รับมอบหมาย หากบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยและสามารถเดินหน้าไปได้แล้วถือว่าบรรลุภารกิจก็ตาม
การจะบรรลุภารกิจดังกล่าวใช้เวลาสั้นหรือยาวเพียงไร ไม่มีความหมายเท่าภายใต้ห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งได้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแค่ไหนต่างหาก
ฉะนั้น คนที่ต้องตัดสินใจเลือกแม้จะรู้สึกว่าหนักใจ ลำบากใจ ผมอยากจะบอกว่าผู้ที่ถูกเลือกให้ขึ้นมาแบกรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงต่างหาก หนักใจ ลำบากใจยิ่งกว่าหลายเท่านัก
เพราะมีอนาคตของชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนเป็นเดิมพัน จะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นสถาบันชาติให้ปลอดภัยและเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
อายุจะยืนยาวแค่ไหน เงื่อนไขสนับสนุนไม่ได้อยู่ที่จำนวนมือมากน้อยอย่างเดียว แต่อยู่ที่วิธีการใช้อำนาจบริหาร จัดการอย่างไร มีธรรมาภิบาล เปิดเผยโปร่งใสหรือไม่
การจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ด้วยการเรียกร้องเชิญชวน เสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียว สมานฉันท์ ร่วมไม้ร่วมมือ ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติหรือทำเพื่อตอบแทนคนส่วนน้อยยิ่งกว่าชาติบ้านเมือง
ภาระหน้าที่กำลังท้าทายอยู่เวลานี้ คือการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ นายกรัฐมนตรีใหม่จะเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนฝ่าฟันออกไปอย่างไร
คนที่เข้ามารับหน้าที่ย่อมต้องสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตมาเป็นแนวทาง วางท่าทีต่อปัญหาแต่ละเรื่องด้วยความระมัดระวังรอบคอบ อดกลั้น อดทน ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ข้าคือความถูกต้อง อีกต่อไป
ต้องโทษตัวเองก่อน เรานี้ไร้ความสามารถ เรานี้บกพร่อง โทษคนอื่นภายหลัง
ถ้าเป็นไปเช่นนี้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่เป็นธรรมในสังคมจะลดลง มีบทสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไป ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างที่หวั่นเกรงกัน