คตส. 4 ก.พ. - คตส.มีมติส่งฟ้องคดีหวยบนดินเอง หลังหาข้อสรุปร่วมกับอัยการสูงสุดไม่ลงตัว มั่นใจสำนวนคดีที่ทำมีความสมบูรณ์ เตรียมขอความร่วมมือสภาทนายความช่วยตรวจสอบ เร่งดำเนินการเร็วที่สุด ภายใน 14 วัน
นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) แถลงภายหลังการประชุม วันนี้ (4 ก.พ.) ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุม คตส.มีมติจะเป็นผู้ดำเนินการส่งฟ้องคดีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก รวม 49 คน ในคดีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว (หวยบนดิน) เอง หลังจากคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและคตส. ประชุมร่วมกัน 2 ครั้ง และอัยการสูงสุดยังยืนยันความเห็นที่แตกต่างจาก คตส.
“คตส.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง ตาม มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง คตส. จะขอให้อัยการสูงสุดส่งหนังสือยืนยันเรื่องดังกล่าวกลับมา และส่งคืนสำนวนหลักฐานที่ คตส. เคยส่งไปให้ก่อนหน้านี้” นายสัก กล่าว
ทั้งนี้ นายสัก กล่าวว่า คตส.จะขอความร่วมมือไปยังสภาทนายความให้ส่งบุคคลากร 5 คนมาตรวจสอบสำนวนดังกล่าว โดย คตส.จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายใต้กรอบเวลา 14 วัน ซึ่งอาจนับจากวันที่คณะทำงานร่วมมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือวันที่ คตส. มีมติ หรือวันที่อัยการสูงสุดส่งหนังสือและพยานหลักฐานกลับคืนมา
“คตส.มีความมั่นใจในสำนวนคดีที่ คตส.ทำขึ้นมา ว่า มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูล ข้อเท็จจริง เอกสาร พยานหลักฐาน และมีเหตุผลที่ชัดเจน จนถึงขณะนี้ คตส. ไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว” นายสัก กล่าว
ส่วนกรณที่ คตส. จะเพิ่มวันประชุม คตส. ชุดใหญ่ นายสัก กล่าวว่า เป็นการหารือในหลักการ ว่ามีเรื่องใดทำเสร็จ หรือมีเรื่องเร่งด่วน ซึ่งนายนาม ในฐานะประธาน สามารถเรียกประชุมพิเศษวันใดก็ได้ แต่ถ้า กรรมการ คตส. ติดประชุมอนุกรรมการ ก็จะประชุมหลังเวลา 17.00น. แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมาย ว่าจะมีการประชุมวันใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ คตส.และอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ตรงกัน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. อัยการสูงสุดเห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริง โดยน้ำหนักของถ้อยคำพยานยังไม่เพียงพอ 2. อัยการสูงสุดเห็นว่าการนำเสนอพยานหลักฐานสู่ศาลยังไม่สามารถชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสลากกินแบ่งกับสลากกินรวบ ขณะที่ คตส.ระบุว่าเป็นการฟ้องตามหลักการสลากกินรวบที่นำมาเทียบเคียง
3. อัยการสูงสุดเห็นว่า การออกสลากพิเศษเคยได้รับอนุญาตว่าเป็นสลากการกุศลประเภทหนึ่ง แต่ คตส.เห็นว่าต้องดูวัตถุประสงค์การออกสลาก 4. อัยการสูงสุดเห็นว่า ต้องตรวจสอบเพิ่ม กรณีนำเงินรายได้สู่สังคม ตามโครงการต่างๆ ที่ตั้งขึ้น แต่ คตส.เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี และกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ และ 5. อัยการสูงสุดเห็นว่าต้องตรวจสอบบัญชีงบดุล เพื่อจะได้ทราบว่าใครนำเงินไปใช่ผิดประเภท จึงจะฟ้องได้ชัดเจน ขณะที่ คตส.เห็นว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการตรวจสอบแล้ว จึงถือเป็นมาตรฐาน .- สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-02-04 18:36:12