WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, March 30, 2008

การยุบพรรคการเมือง......ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เขียนโดย : ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง
111 คน เป็นเวลา 5 ปีนั้น ผมกลับมีความเห็นว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ควรวินิจฉัยอย่างนั้น ถ้าตุลาการรัฐธรรมนูญยึดหลักการกฎหมายและรัฐศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปี 2540 จะมีบทบัญญัติว่า พรรคการเมืองอาจจะถูกยุบได้ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่ยากกว่าที่ปรากฏในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในการมีคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ โดยการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ทั้งที่อาจจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียง 2-3 คน

กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดเข้มงวดลงไปอีกในเรื่องการยุบพรรคการเมือง และการตัดสิทธิทางการเมือง กรรมการบริหารทั้งหมดในกรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบ

กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งในแง่ที่มา เนื้อหาสาระ และจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในขณะที่มีการยกร่าง

แม้ว่าจะมีการจัดให้มีการลงประชามติ เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการยึดโยงกับประชาชนแล้วว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพราะการตัดสินใจในการลงคะแนนว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่จะยืดเวลาของรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร หรือจะให้รัฐบาลในขณะนั้นสิ้นสุดลง และกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว จึงลงมติรับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขภายหลัง กระนั้นก็ตามคนที่ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีมากถึงกว่า 10 ล้านคน

การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือแม้จะยกเลิกไปทั้งหมดแล้วกลับไปใช้รัฐธรรมนูญประจำปี 2540 ทั้งฉบับ โดยมีการแก้ไขบางส่วน ก็มีความชอบธรรมในสายตาของผม ถ้าไม่มองด้วยแว่นตาที่มีอคติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แต่มองด้วยสายตาที่มุ่งจะพัฒนาการเมืองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลหรือคณะบุคคลมาแล้วก็ไป แต่ระบบควรจะรักษาไว้ให้ยั่งยืนและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ใครผิดใครถูกอย่างไรก็ดำเนินการไปตามระบบ

ระบบที่ว่านั้นนอกจากเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งต้องสอดคล้องเป็นสากลด้วย โลกในสมัยใหม่นี้เราคงจะฝืนกระแสและมติของประชาคมโลกไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจของเราต้องเกี่ยวข้องพึ่งพาประชาคมของโลกมากขึ้นๆ ประชาชนคนไทยคงไม่ยอมให้เราถอยหลังได้ ถ้าจะถอยออกจากประชาคมเศรษฐกิจและการเมืองของโลก เราต้องยอมลดระดับทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนลง

คนไทยคงยอมไม่ได้ถ้าเห็นประชาชนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชามีสิทธิเสรีภาพ มีระบอบประชาธิปไตยพัฒนามั่นคงกว่าประเทศไทย มีระบอบการปกครอง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลมากกว่าระบอบของเรา เท่าที่เห็นคนไทยปรับตัวกับกระแสความคิดทางด้านสากลได้ง่ายและรวดเร็วมาก เร็วและมากจนรอไม่ได้และเป็นจุดที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านของเราด้วยซ้ำ

ประเด็นที่ว่ากฎหมายควรให้อำนาจ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่ากฎหมายไม่ควรให้อำนาจ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญไว้มากมายอย่างนั้น ยกเว้นเพียงสองสามกรณี เช่น พรรคประกาศหรือกระทำอย่างโจ่งแจ้งว่า พรรคมีวัตถุประสงค์ที่จะทำลายล้างระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีนโยบายวัตถุประสงค์จะแบ่งแยกดินแดน หรือจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เท่านั้นก็พอแล้ว เงื่อนไขที่อ่อนกว่านี้ เช่น กรรมการบริหารบางคน หรือแม้แต่หัวหน้าพรรคไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ความรับผิดก็ควรอยู่แค่บุคคลที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ควรขยายไปให้กรรมการบริหารคนอื่น หรือพรรคการเมืองทั้งพรรค ทั้งที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่ามีส่วนรู้เห็นต้องรับผิดไปด้วย

พรรคการเมือง ซึ่งเป็น "นิติบุคคล" ต้องการเวลาในการพัฒนาให้เป็นสถาบันที่มีความเป็นมาอันยาวนาน มีประวัติศาสตร์ทั้งด้านดีและไม่ดี ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ตามยุคและสมัย หรือตามความสามารถของผู้นำพรรค แต่ก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ที่สำคัญพรรคการเมืองต้องพยายามนึกเสียว่าเป็นของสมาชิกพรรค ซึ่งมีเป็นจำนวนล้านๆ คน ไม่ใช่ของกรรมการบริหารพรรค แม้ว่าในช่วงต้นๆ ของประวัติความเป็นมาของพรรค คณะผู้ก่อตั้งพรรคจะมีบทบาทและอิทธิพลสูง แต่นานๆ ไปอำนาจและอิทธิพลของคณะผู้ก่อตั้งก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ การพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันจึงจะเกิดขึ้นได้ ส่วนบุคคลหรือคณะบุคคลมาแล้วก็ไป แต่พรรคการเมืองยังต้องคงอยู่เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของพรรคไว้

ลองนึกดู ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เกิดมีกรรมการบริหารบางคนไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้วพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบไปโดย กกต.ไม่เกิน 5 คน กับตุลาการรัฐธรรมนูญไม่เกิน 9 คน เราจะรู้สึกเสียดายและสังคมเสียหายและสูญเสียขนาดไหน แม้ว่าประวัติศาสตร์อันยาวนานของประชาธิปัตย์นั้น บางช่วงบางตอนก็มีทั้งดีและไม่ดี เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประสบความสำเร็จและล้มเหลว พรรคที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างพรรคประชาธิปัตย์เป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคนต้องหวงแหน และรักษาเอาไว้ ใครทำผิดผู้นั้นก็รับผิดไป พรรคและกรรมการบริหารที่เหลือไม่สมควรต้องมารับผิดชอบด้วย มิฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นแต่เพียงตำนานไป ฉันใดก็ฉันนั้น พรรคไทยรักไทยก็เช่นกัน ซึ่งน่าเสียดายและจะเสียใจมากถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับพรรคประชาธิปัตย์

ที่พูดนี้มิได้มีเจตนาให้ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก เมื่อมีกฎหมายก็ต้องปฏิบัติไปตามกฎหมาย แต่เราก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับหลักการและเนื้อหาของกฎหมายบางฉบับ และมีสิทธิที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลการเมืองหรือการบริหาร เช่น ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง หรือแม้แต่คำวินิจฉัยของศาลยุติธรรม แต่เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้วก็ต้องเคารพปฏิบัติตาม เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาล

การไปบัญญัติไว้ในกฎหมาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้ นอกจากจะขัดกับหลักการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขัดกับหลักนิติธรรม แล้วก็ยังขัดกับธรรมชาติความเป็นจริงของการเมือง ไม่ว่าที่ประเทศไหนๆ ไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดที่มีบทบัญญัติทำนองนี้ ดังนั้นหลักอันนี้จึงไม่น่าจะเป็นหลักสากล แล้วก็ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ สมาชิกอื่นๆ ของพรรคที่ถูกยุบและมิได้เป็นกรรมการบริหารก็อาจจะก่อตั้งพรรคใหม่ หรือไปซื้อหัวของพรรคเล็กๆ ที่จัดตั้งไว้ขายก็ได้ ก็เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ใครๆ ก็รู้ ถ้าไม่ชอบให้เรียกว่า "นอมินี"

พรรคการเมืองก็จะพยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคให้น้อยลง หรือในที่สุดอาจจะ "จ้าง" คนมาเป็นกรรมการบริหารพรรคให้ ส่วนคณะผู้นำพรรคก็หลบไปจัดการอยู่เบื้องหลัง กรรมการบริหารที่จ้างมาเป็นก็ไม่มีวันทำอะไรผิด เพราะไม่ต้องทำอะไรหรือไม่ต้องลงเลือกตั้งก็ได้

ถ้ายังขืนมีกฎหมายแบบนี้อยู่ ในระยะยาววันข้างหน้า พรรคการเมืองสำคัญๆ ก็จะมี "กรรมการบริหาร" ตัวปลอมอยู่ ไม่ต้องลงเลือกตั้ง และมี "กรรมการบริหารเงา" หรือ "กรรมการบริหารที่แท้จริง" อยู่เบื้องหลัง แล้วก็ลงเลือกตั้ง พรรคก็ปลอดภัยดี เราต้องการอย่างนั้นหรือ รัฐธรรมนูญแบบนี้ก็คงจะเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับฟันปลอม" อย่างแท้จริง อย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เคยกล่าวเอาไว้

ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกเลิกฉบับนี้เสียกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 โดยพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมสนับสนุนด้วย ก็จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อันดีงามของพรรค ไม่ใช่เป็นการสร้างความเสียหายให้กับประวัติศาสตร์ของพรรคในระยะยาว เสียดายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพราะมีที่มาที่งดงามกว่าฉบับอื่นๆ ทั้งหมด และอยากให้คงอยู่ตลอดไป ไม่ชอบส่วนไหน ส่วนไหนที่ล้าสมัยที่ปฏิบัติไม่ได้ก็แก้ไขเอา แบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ฉีกทิ้งทั้งฉบับแล้วร่างมาใหม่ ซึ่งแย่กว่าฉบับดังกล่าวทั้ง "ที่มา" และ "เนื้อหา"

ที่สำคัญต้องถือว่า "การแก้ไข" รัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง "ธรรมดา" แต่การ "ฉีก" รัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง "ไม่ธรรมดา" อาจจะถือว่าเป็น "อาชญากรรมทางการเมือง"ด้วยซ้ำ ผู้ "ฉีก" รัฐธรรมนูญควรถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ตอนเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิจ และอาจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย และครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็สอนไว้อย่างนั้น อาจารย์ทั้งสองท่านล่วงลับไปแล้ว แต่คำสอนของท่านก็ยังติดตรึงอยู่ในจิตใจของพวกเรานักเรียนการปกครอง เมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 ถึงกับบัญญัติแสดงเจตนารมณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "ห้ามมิให้นิรโทษกรรมให้กับผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" แม้จะรู้ว่าเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะถ้ามีการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็ฉีก "รัฐธรรมนูญ" ทันทีเป็นอันดับแรก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอาจารย์สอนประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ท่านก็สอดแทรกสอนไม่ให้เห็นด้วยกับการ "ฉีก" รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ท่านยังเคยประชดประชันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2512 ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากคณะนายทหารที่ทำการรัฐประหารในยุคนั้นว่า เป็น "รัฐธรรมนูญฉบับฟันปลอม" ไม่ใช่ฟันจริงตามธรรมชาติ ใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้ดีเท่ากับ "ฟันจริง"

การลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยใช้กฎหมายในทางที่เป็นโทษ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรอย่างชัดเจนแล้ว ยังขัดกับหลักการรับผิดไม่ว่าทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางการเมือง ไม่ต้องพูดถึงว่าขัดกับหลักกฎหมายอย่างชัดเจน น่าเห็นใจครูบาอาจารย์ทางกฎหมายและทางการปกครองหรือนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่อไปจะสอนหนังสือลูกศิษย์ลูกหาอย่างไร

การลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เท่ากับเป็นการกีดกันบุคลากรทางการเมืองชั้นนำของพรรค ซึ่งประเทศชาติมีน้อยอยู่แล้ว และในที่สุดประชาชนก็ยังเลือกพรรคอยู่ดี แต่จะเหลือบุคลากรระดับรองลงไปมาทำงานให้กับรัฐบาลและประชาชน แล้วก็ไม่พอใจที่ผู้นำทางการเมืองไม่กี่คนที่ส่งลูกบ้าง ภรรยาบ้าง มาเป็นรัฐมนตรี ถ้าไม่ให้เขาทำเช่นนั้นจะให้เขาทำอย่างไร เพราะธรรมชาติของการเมืองในความเป็นจริง ไม่ใช่ในทาง "อุดมคติ" ก็เป็นอย่างนั้น

อันนี้ก็เป็นผลพวงจากกฎหมายและคำวินิจฉัยไม่สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงในทางการเมือง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งแสดงออกจากผลการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ได้ตัวจริงได้ตัวแทนก็ยังดี ซึ่งไม่เห็นมีประโยชน์โภชผลอันใด มีแต่ความเสียหาย

ขณะนี้ก็มีข่าวว่าอาจจะมีการยุบพรรคอีก 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดเลือกตั้ง หรือมีส่วนรู้เห็นกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองนั้นจะต้องถูกยุบ ถ้าพรรคการเมืองถูกยุบอีก ก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว การเมืองไทยก็จะเป็นระบบที่เละเทะ ประชาชนซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายเล่านี้เลยก็จะเป็นผู้รับเคราะห์ เพราะระบบการเมืองที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์น่าเบื่อหน่ายที่สุด