ที่มา ประชาทรรศน์
***ประเด็นล่าสุดที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ มีแนวคิดที่จะยุบหรือเปลี่ยนแปลงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทิ้งทั้งหมด ในฐานะที่ทำงานกับท้องถิ่นมานานมองว่าอย่างไร
ตามที่เป็นข่าวเรื่องการที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ แสดงความคิดเห็นในทัศนคติใหม่ของท่าน ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ท่านอาจจะมองอีกมุมหนึ่งซึ่งท่านอาจจะได้ไปสัมผัสในความรู้สึกส่วนหนึ่งแล้วมองว่ามันควรจะมีการปรับปรุงโครงสร้างตรงนั้น แต่ถามว่าวันนี้ประเทศไทยเดินมาไกลมากแล้วในเรื่องการปกครองท้องถิ่น ถ้าเราไปดูจะเห็นว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา มันมีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ ประกอบกับเมื่อปี 2540 ตอกย้ำด้วยเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 พอมาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ยิ่งเขียนไว้ชัดเจนขึ้นอีกว่า บทบาทที่แท้จริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นคือกลไกในการบริการงานของประเทศภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล โดยองค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
คราวนี้มาดูประเด็นที่ท่านแสดงความคิดเห็นว่าจริงๆ แล้วมันควรจะเปลี่ยนแปลงไหมกับรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นมันได้เกิดขึ้นในหลายเรื่องแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและไม่ดี ในเรื่องที่ดีคือ ประชาชนได้เริ่มรู้จักการบริหารจัดการ และการพัฒนาตัวเอง แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการพัฒนา นี่คือความโดดเด่นที่เกิดขึ้น ผมว่าตรงนี้มันเริ่มตกผลึกแล้ว จริงอยู่ข้อเสียมันอาจจะมีบ้าง อย่างเช่น การที่เราไปพบเห็นเรื่องการใช้งบประมาณที่ผิดพลาด ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไขในเชิงการพัฒนาทางคุณภาพของตัวผู้บริการท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาตำบล
ถ้าถามผม ผมมองว่าตอนนี้เราเลยตรงจุดนั้นไปไกลมากแล้ว และเราจะวกกลับไปดีไหม? ในฐานะที่ผมเป็นทั้งประชาชน และผู้ที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน คือ เราน่าจะเดินหน้าต่อไป แต่ควรจะพัฒนาบุคคลเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งผู้บริหารในท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่น
***ในฐานะที่ทำงานอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมานาน มองการเสนอให้ยุบหรือเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ว่าเกิดจากความหวาดระแวงในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า
ผมไม่ได้มองเรื่องผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง แม้แต่ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนากับเขานั้น ถ้าเราเข้าใจในภาพลึกๆ ของเขา จะเห็นว่าเรื่องผลประโยชน์มันไม่ได้มาเป็นเรื่องแรก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับใคร แต่ถามว่ามันอาจจะเป็นความรู้สึกที่มองกันว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเข้าไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกของใครหรือเปล่า ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากประเด็นเหล่านั้นมากกว่า ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนผมว่ามันไม่น่าจะใช่ แต่เขาอาจจะมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งเหล่านี้ เลยทำให้เขาตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมาทบทวนกันใหม่
***แล้วจริงๆ มันเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ ควรเปลี่ยนแปลงหรือยุบทิ้งไหม
ไม่เป็น...ไม่เป็น...ถามว่าประเทศไทยวันนี้มีทุกภาค และผู้นำท้องถิ่นไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่ความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่มันต้องมีบ้าง เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่ผู้นำท้องถิ่นต้องรู้จักกับผู้แทนฯ ต้องรู้จักกับ ส.ส. เป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่าเขาเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือไม่...ไม่ใช่ เพราะว่าวันนี้เขาไม่ได้รับการตอบสนองจากนักการเมืองเลย
ผมถามว่าคนเราจะเป็นเพื่อนร่วมงานกันได้ เหมือนลูกพี่กับลูกน้อง เจ้านายหรือผู้รับใช้นั้น สิ่งแรกที่คนเป็นผู้บริหารท้องถิ่นต้องการคือการพัฒนา ต้องการงบประมาณ ผมถามว่าวันนี้รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้วางแนวทางการเติบโตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในระดับไหน
วันนี้บอกว่าจะให้งบประมาณโตไปถึง 30% ของรายได้ ตั้งแต่ปี 2542 มี พ.ร.บ.แผนการกระจายอำนาจ จนถึงวันนี้ 10 ปีแล้วนะ มันอยู่ที่ 15.1% อยู่เลย แล้วถามว่าภาครัฐได้เห็นความสำคัญ ได้มีการตอบสนองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนทำให้เขารู้สึกว่าต้องตอบแทนหรือเปล่า มันยังไม่ใช่ ถ้าบอกว่ามันต้องมีการตอบแทน แล้วทำไมวันนี้ยังมีการเรียกร้องงบประมาณ เรียกร้องความชอบธรรมจากการจัดการบนพื้นฐานของรัฐออกมา
***ทุกวันนี้ผู้นำท้องถิ่นมักจะถูกมองว่าเป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมือง
ผมถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่าผู้นำท้องถิ่นเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงนะครับ เอาเป็นว่าวันนี้มีใครเคยเห็นพรรคการเมืองไหนส่งผู้สมัครลง อบต. ไหม ไม่มี เพราะในเชิงโครงสร้างแล้วไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าลงมาส่งนักการเมืองระดับล่าง เพราะลงแล้วมันทำให้แตกแยก แล้วมันก็จะกอบกู้ไม่ติด จึงไม่มีพรรคการเมืองไหนมาเล่นการเมืองท้องถิ่นแบบนี้ ถ้าจะเล่นก็เล่นในองค์กรท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่
***เป็นไปได้ไหมที่องค์กรในท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ หรือในกลุ่มของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
คือเราต้องเข้าใจว่าความสงบของบ้านเมืองในวันนั้น ผู้นำท้องถิ่นแต่ละคนออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกันเลยนะครับ บางคนเห็นด้วยกับกลุ่มที่เรียกร้อง บางคนเห็นด้วยกับกลุ่มที่ต่อต้าน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่ามันจะต้องมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะว่ามันเป็นเรื่องความเป็นอยู่ที่แล้วแต่คนจะคิด แต่เป้าหมายของผู้นำท้องถิ่นคือต้องไปดูแลประชาชน
***เป็นไปได้ไหมว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น
ผมคิดเองนะ ผมมองว่าประเด็นเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปทับซ้อนอำนาจกับส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ผมมองว่าเป็นเรื่องที่รองลงมานะ แต่ ผมอาจจะมองว่าเป็นความหวาดระแวงทางการเมือง ที่เข้าใจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไปเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วคำถาม คำตอบ มันก็อยู่ที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ท่านมองว่าควรเปลี่ยนแปลงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านก็ยังไม่มีสมมติฐานตรงนี้เลย
***ภาพของนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่มีการฮั้วกันไหม หากยึดการเมืองท้องถิ่นได้ การเมืองระดับชาติจะได้ด้วย
ไม่จริงครับ ผมเห็นเยอะ นายก อบต. ไปลง ส.ส. สอบตกเพียบ เพื่อนผมมีอยู่เหมือนกัน ประชาชนไม่ได้บอกว่าวันนี้คนที่เป็นผู้นำท้องถิ่นแล้วจะไปชี้นำประชาชนได้นะ เยอะครับ อย่างที่บอก เพื่อนๆ ที่ไปลงสมัคร ส.ส. ทุกวันนี้ยังนอนหยอดน้ำข้าวต้มอยู่หลายคน (หัวเราะ)
***อาจจะเป็นเรื่องงบประมาณที่ไม่ถึงมือประชาชน หรือมีการรั่วไหลก่อนถึงมือประชาชน
ถ้ามองในประเด็นเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ยิ่งทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าท่านไม่เข้าใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทยนั้นผมจะบอกให้นะ องค์กรที่ถูกตรวจสอบมากที่สุดในกระบวนการบริหารจัดการคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกตรวจสอบมากที่สุดเลย เริ่มตั้งแต่ 1.คุณจะทำโครงการคุณต้องไปถามชาวบ้าน 2.คุณจะทำงบประมาณคุณต้องผ่านสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ 3.คุณจะเริ่มดำเนินการโครงการจะต้องส่งเรื่องไปให้นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นชอบวิธีการใช้งบประมาณของคุณ และเมื่อเริ่มดำเนินการคุณต้องมีตัวแทนประชาชนมาดูว่าโครงการที่จะทำนั้นมีลักษณะอย่างไร ตอนตรวจรับต้องมีตัวแทนของประชาชนไปตรวจรับว่าคุณเห็นชอบกับงานที่ทำหรือไม่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)...ตรวจ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น...ตรวจ อำเภอ...ตรวจ จังหวัด...ตรวจ ไม่นับกว่า 7-8 ขั้นตอน
นอกจากนั้น เมื่อโครงการเสร็จ 1 ปี คุณต้องไปปิดประกาศไว้ที่หน้าอบต. อีกว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้นคุณใช้งบประมาณอะไรไปบ้าง เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ ผมถามว่ามาตรการเหล่านี้ราชการส่วนใดบ้างที่ประเทศไทยมี ผมถึงบอกว่าถ้าท่านตั้งโจทย์แบบนั้นแสดงว่าท่านไม่เข้าใจเลย
***ทำไมเวลาที่มีการเลือกตั้งถึงมีข่าวการเก็บหัวคะแนน ฆ่าหัวคะแนน หรือข่าวการแย่งชิงผลประโยชน์ต่างๆ
ไม่น่าใช่ ถ้ามันฆ่ากันทุกตำบลว่าไปอย่าง ต้องมองด้วยว่าสาเหตุที่มันเกิดขึ้นนั้นมาจากอะไรบ้าง ซึ่งบางครั้งเราไปมองว่ามันเกิดจากการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง เรื่องของงบประมาณ แต่เมื่อเราดูจากบางแห่งที่มีเหตุการณ์แบบนั้น บางที่มีงบประมาณปีหนึ่งไม่เกิน 10 ล้านบาท รายจ่ายประจำ 4 ล้านบาทแล้ว เหลือ 6 ล้านบาท ผมถามว่าคนเราจะฆ่ากันเพราะแค่เงิน 6 ล้านบาทเองหรือ?
ผมว่าบางครั้งการเมืองไทย โดยเฉพาะนักการเมืองไทย สปิริตในเรื่องของศักดิ์ศรียังมีแพ้-ชนะ ยอมกันไม่ได้ ศักดิ์ศรีนั้นเรื่องใหญ่ ในท้องถิ่นนะ เรื่องผลประโยชน์ไม่เท่าไร แต่เรื่องศักดิ์ศรีมันยอมกันไม่ได้ แล้วอาจจะบวกกับมีปัญหาเดิมที่ขัดแย้งกันอยู่ แล้วใช้โอกาสที่จะมีการแย่งชิงตำแหน่งทางการเมืองมาสร้างเหตุการณ์ขึ้น
***หากมีการเดินหน้าให้ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ จะทำให้เกิดความวุ่นวายไหม
ไม่หรอกครับ...ผมคิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นคงจะมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง คงไม่ออกมาโต้ตอบอะไร แต่สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำในวันนี้ คือ 1.ต้องพิสูจน์ตัวเอง 2.ต้องคุยกับรัฐบาลโดยตรงเพื่อทำความเข้าใจกัน แต่การออกมากดดันโดยมวลชนนั้นผมว่ายิ่งทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นถอยหลังลงคลองไปอีก เลยต้องเอามวลชนเข้ามาสู้ เพราะฉะนั้นประเด็นแรกเราต้องคุยกันก่อน ถ้าหากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณประสงค์ ต้องคุยกันก่อนว่ามันคืออะไร เพราะว่าข่าวการยุบ อบต. อบจ. มันเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยของช่วงเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง
อย่างในปี 2546 พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ท่านประมวล รุจนเสรี เป็น มท.3 เสนอแนวคิดว่าประเทศไทยควรจะยุบ อบต. ให้เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับอำเภอ แต่นั่นเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นกัน แต่ไม่มีการออกมาเดินเรียกร้องตามท้องถนน แต่ใช้การไปทำความเข้าใจกันในระดับผู้บริหาร ในระดับกระทรวง แล้วสุดท้ายนำไปสู่การตั้งคณะศึกษาของคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นประธานกรรมาธิการ
พร้อมๆ กันนั้น กระทรวงมหาดไทยไปจ้างนิด้าให้ทำการศึกษาว่า 5 รูปแบบการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมันต่างกันอย่างไร และสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของนิด้า หรือของกรรมาธิการฯ กลายเป็นว่า อบต. เป็นรูปแบบที่ตอบสนองประชาชนได้ดีที่สุดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งการมีส่วนร่วมทางความคิด การกำหนดการใช้งบประมาณ ไปดูได้เลย แต่เรื่องนี้ไม่ได้นำมาเปิดเผยเท่านั้น
ผมว่าถ้าคุณประสงค์ได้ไปอ่านงานวิจัยที่กระทรวงมหาดไทยไปจ้างนิด้าทำ คุณประสงค์น่าจะเข้าใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งดี ไม่ใช่ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ถึงมีการกำหนดว่าจะต้องมีประชากรประมาณ 2 พันคน คือสิ่งที่ผมไม่ได้พูดลอยๆ แต่มีงานวิจัยยืนยันอยู่
อีกอย่าง ผมคิดว่าวันนี้คุณประสงค์คงไม่มีอำนาจ คือ การสร้างหน่วยงานบริการประชาชนบนพื้นฐานที่ถูกต้องไหม หรือการกำหนดให้มีองค์กรอะไรขึ้นมาทดแทนแล้วมันคือองค์กรที่ถูกต้องไหม ผมว่าไม่ใช่นะ เพราะการที่จะเกิดอะไรขึ้นมามันต้องวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าหรือไม่ แล้วถ้าจะเลิก มันต้องมีปัจจัยการเลิก ซึ่งมันมีกระบวนการของมัน แต่นี่ถ้าออกมาแล้วบอกว่ามีคนออกมาสนับสนุนอยู่กลุ่มหนึ่ง ผมว่ายิ่งไปกันใหญ่เลยบ้านเมือง มันยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น กลายเป็นว่ามีคนกลับมาทำให้มันแย่ลง
***เป็นไปได้ไหมว่านี่คือแผนการหนึ่งของพันธมิตรฯ ที่พยายามเสนอการเมืองใหม่ 70 : 30 จึงต้องตัดแขนตัดขาฐานเสียงทางการเมืองก่อน
ผมมองว่าการเมืองใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องเคารพนะครับ เพียงแต่ว่าการเมืองใหม่ต้องมีเหตุผลที่จะเกิด ถ้าการเมืองใหม่ คิดโดยที่ไม่ได้ถามคนที่จะได้รับการบริการจากการเมืองใหม่เลย ไม่ได้ถามคนที่เป็นเจ้าของระบบการเมืองหรือระบอบประชาธิปไตยเลย มันไม่ใช่
ผมนั่งคิดได้ การเมืองใหม่ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ถามว่าที่ผมคิดนั้นมันได้ถูกสะท้อนไปสู่สังคมแล้วสังคมตอบกลับมาว่าอย่างไร เอาหรือไม่เอา ดีหรือไม่ดี มันไม่ใช่ว่ามีอะไรแล้วโยนออกมาแล้วเอาหรือไม่เอาทั้งหมด มันยิ่งไม่ใช่ใหญ่
***ในทัศนคติของพันธมิตรฯ อาจจะมองว่าการเมืองปัจจุบันมีการซื้อสิทธิขายเสียงกัน มีการโกงกิน เลยจะตัดปัญหาจากการเมืองท้องถิ่นก่อน
ผมว่าไม่ใช่ประเด็นเหล่านั้น ยิ่งการซื้อเสียงไม่น่าจะใช่ เพราะว่าวันนี้ประเทศไทยยอมรับอะไรในระบบการเมืองการเลือกตั้ง ต้องยอมรับกติกา ซึ่งมีคณะกรรมการการเลือกตั้งกำกับอยู่แล้ว วันนี้สมมติว่าใครที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าทำไม่ถูกต้อง ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ แต่วันนี้ไปมองว่ามีการซื้อเสียงกันอย่างมโหฬาร
ผมอยู่กับการเมืองท้องถิ่นมาปีนี้เป็นปีที่ 26 ผมเห็นคนที่ใช้เงินบ้างในการหาเสียง แล้วเห็นว่านักการเมืองเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จในทางการเมืองท้องถิ่น เหตุผลคือว่าประชาชนเขาอยู่ใกล้ชิดไงครับ เขารู้ว่าการที่ผมเอาเงินไปแจกเขานั้นสิ่งที่ผมจะต้องตอบสนองเขาหรือจะทำกับเขานั้นคืออะไร นั่นคือการทุจริต ผมถามว่าการเมืองท้องถิ่นมันต่างจากการเมืองใหญ่ไหม เลือกตั้งผู้แทนฯ เป็นความคิดหนึ่งของประชาชน เลือกตั้งนายก อบจ. เป็นความคิดหนึ่งของประชาชน เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดก็เป็นอีกความคิดหนึ่ง เลือกตั้งประธาน อบต. อีกอย่างหนึ่ง
ถ้าท่านไปเข้าใจว่าปรัชญาการเมือง ความคิดคนมีความคิดเดียวในการเมืองทุกระดับนั้นมันไม่ใช่ แต่คนจะมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป ความคิดกับ อบต. นั้นเป็นความคิดแบบใกล้ชิด ผู้นำคนนี้เคยเห็นอยู่ ทำงานดี ขยัน ทำไมต้องเอาเงินมาให้เรา มีเจตนาอะไร อีกอย่างคนไทยรู้อยู่แล้วว่าการเอาเงินมาให้นั้นหมายถึงอะไร เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าคนที่ใช้เงินในการเมืองท้องถิ่นนั้นประสบความสำเร็จค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นโจทย์ที่บอกว่าการเมืองท้องถิ่นทุจริต การเมืองท้องถิ่นซื้อเสียง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นมากกว่า แต่ในความเป็นจริงมันสวนทางกัน
***ในจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 6 พันแห่งนี้ วัตถุประสงค์จริงๆ แล้วมีการบริหารจัดการอย่างไรงบประมาณลงไปแล้วจึงจะไม่หายกลางทาง ตรงนี้อยากให้ชี้แจงหน่อย
จริงๆ งบประมาณท้องถิ่นนั้นมันเป็นไปตามขั้นตอนการจัดสรรอยู่แล้ว มันจะถูกระบุโดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจ มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดสรรเม็ดเงินผ่านกรมปกครองส่วนท้องถิ่น
ถามว่าวันนี้ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นคืออะไร หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือเป็นหน่วยบริการของรัฐที่ถูกกำหนดให้มีขึ้นเพื่อสร้างระบบบริการเพื่อการแก้ไขปัญหาภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ทีนี้กฎหมายกำหนดไว้กี่เรื่องต้องไปดู เช่น พูดภาษาชาวบ้านคือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” เหล่านี้ คืองานในลักษณะอย่างนี้ เก็บขยะมูลฝอย ทำความสะอาดชุมชน ดูแลป้องกันโรคติดต่อ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเขามี เขาจะทำหน้าที่ของเขา
แต่ทีนี้มีบางคนบอกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรยุบเสียเพราะว่าเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ไปแบกภาระงบส่วนกลางของรัฐบาล ส่วนภูมิภาค วันนี้เราต้องยอมรับนะครับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือนานาประเทศนั้น ถูกกำหนดขึ้นเพราะว่ารัฐบาลส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามเป้าหมาย
ประการที่สอง คือมันเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าเงินต้นทางมีหนึ่งร้อย ผ่านมาถึงประชาชนในระบบเดิม มันเหลือไม่ถึงร้อยตามทฤษฎีแท่งไอติม มันถูกละลายไปเรื่อยๆ แต่วันนี้มันถูกยกเลิกไปแล้ว แต่นำเอาแท่งไอติมไปไว้ที่ชุมชนเลย แล้วให้ชุมชนบริหารจัดการกันเองในการสร้างระบบการบริการ
ฉะนั้น วันนี้ถ้าบอกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น มันไม่ใช่ประเด็นที่จะไปมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีหรือไม่มี แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ถูกมอบหมายให้มาทำหน้าที่แทนรัฐ ฉะนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ต้องคอยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องจัดให้มีคณะกรรมการกระจายอำนาจทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณระหว่างรัฐกับท้องถิ่นให้ชัดเจน แล้วกำหนดด้วยว่าที่มาของรายได้ของท้องถิ่นมาจากไหน 1.ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 2.รัฐจัดเก็บให้และจัดสรรให้ท้องถิ่น 3.รัฐมีหน้าที่อุดหนุนงบประมาณ
เห็นไหมว่าที่ไหนที่จัดเก็บรายได้มา รัฐต้องจัดสรรให้กับเขา ทำไมไม่สร้างระบบบริหารแทนราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ทีนี้ทฤษฎีแท่งไอติม ที่บอกว่าต้นทางมีหนึ่งร้อย มาถึงหมู่บ้านเหลือสิบบาท วันนี้ไม่มีแล้วสำหรับท้องถิ่น วันนี้ออกจากรัฐหนึ่งร้อยมาถึงหมู่บ้านหนึ่งร้อย และงบประมาณนั้นต้องไปว่ากันในชุมชน ซึ่งจะมีรั่วไหลไปบ้างหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องของระบบตัวแทน
***ในประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกี่แห่งที่สามารถจัดเก็บงบประมาณจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้
ถ้าเลี้ยงตัวเองได้นั้นผมว่ามีไม่มาก เพราะว่าท้องถิ่นมันมีข้อจำกัดในเรื่องการแสวงหารายได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาษีที่รัฐกำหนดให้ท้องถิ่นมีหน้าที่เก็บแล้วให้เป็นรายได้ของท้องถิ่น เช่น อบต. จัดเก็บภาษี อะไรได้บ้าง ประกอบไปด้วย ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เขตที่เจริญมีโอกาสเก็บได้เยอะ แล้วถามว่า อบต. ในเขตที่เจริญมันมีกี่แห่งในประเทศไทย? เพราะ อบต. มันถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยบริการในชนบทถูกไหมครับ?
ภาษีป้ายมันไม่มีให้เก็บอยู่แล้ว เพราะว่าเขตพื้นที่ของ อบต. ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจ ภาษีโรงเรือนไม่มีอยู่แล้ว เหลือภาษีบำรุงท้องที่ ไร่ละ 5 บาท 10 บาท เก็บทั้งปียังไม่พอเงินเดือนเจ้าหน้าที่เลย แต่ถามว่าเมื่อก่อนที่นี่อยู่ภายใต้การดูแลของส่วนราชการส่วนภูมิภาค มีงบพัฒนาตำบลอยู่ปีละ 3-4 แสนบาท ปีหนึ่งได้ถนนเส้นหนึ่ง แต่วันนี้ได้ถนน 3-4 เส้น ได้คลอง ได้ไฟฟ้าเพิ่ม คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ส่วนคำถามที่ว่าท้องถิ่นที่สามารถจัดเก็บภาษีแล้วมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้นั้นมีมากไหม ผมบอกเลยว่า...มีไม่มาก
***มีการบอกว่าท้องถิ่นตรวจสอบยาก ไกลปืนเที่ยงในเรื่องของการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์
จริงอยู่ ถ้าวันนี้ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นใสสะอาดทั้งหมด ผมว่ามันหลอกตัวเองนะ แต่ถามว่าเมื่อเทียบกับทฤษฎีแท่งไอติมแล้ว มันดีกว่านะ มันอาจจะรั่วไหลบ้าง แต่ผลการตรวจสอบของ สตง. ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ที่พบมีแค่ ผิดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่กรณีที่งบประมาณหายไปเลยนั้นมันไม่มีครับ ส่วนไกลปืนเที่ยงมันต้องยอมรับ แต่ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม มีความเข้มแข็ง ชุมชนนั้นอยู่ได้ ฉะนั้น นี่คือหน้าที่ที่รัฐจะต้องไปแก้ไขในเรื่องขององค์ความรู้ให้มากขึ้น
***ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผู้รับเหมาเข้ามาเยอะไหม
มีนะ...มีตั้งแต่ผู้รับเหมามาลงสมัครรับเลือกตั้ง โรงงานอุตสาหกรรมส่งผู้สมัครลงมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง ผมฟังมาเยอะ แต่ผมถามว่าใครจะเป็นคนออกระเบียบห้ามผู้รับเหมาลงเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่ามันมี แต่เยอะไหม มันไม่ได้มีเยอะนะ เพราะว่าคนที่เป็นนักการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบันนี้เริ่มเป็นคนที่มีความคิด และถูกสกรีนจากชาวบ้านมากขึ้นแล้ว
***มองการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ดีนะ...ผมมองว่าเป็นกระแสที่ประชาชนมีมุมมองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งผมว่าคงอยากเห็นบ้านเมืองสงบ
***สรุปแล้วการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญต่อประชาชน และควรมีต่อไปใช่ไหมครับ
อย่างที่บอกว่าวันนี้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่ 5 รูปแบบ อบต. ถือว่ามีการตอบสนองต่อประชาชนได้ดีที่สุด เพียงแต่ว่ามันอาจจะต้องไปปรับเรื่องเชิงพฤติกรรมมากกว่า เพราะการปกครองส่วนท้องถิ่นคือการพัฒนารากฐานของระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น ได้มีการเรียนรู้จากการเลือกผู้นำว่าถ้าเราไม่มีตัวแทนที่ดี ในชุมชนก็จะไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้าประชาชนในชุมชนยังไม่ให้ความสำคัญในจุดนี้ ยังเห็นแก่อามิสสินจ้าง...มันจะลดลง
***ความนิยมต่อคุณทักษิณลดน้อยลงไปหรือไม่
ผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ใช่คำตอบนะ การเมืองมันต้องยอมรับนะว่ามันไม่ได้อยู่ที่ความนิยมอย่างเดียว แต่มันต้องมีปัจจัยประกอบด้วย
***หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้ามองว่าคุณทักษิณจะกลับมาได้ไหม
ผมว่าวันนี้อยู่ที่ว่าใครจะมีผลงาน แล้วสามารถที่จะนำประเทศเดินหน้าไปได้มากกว่า สร้างความสามัคคีได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดยอมรับมากกว่า
***คนไทยยังติดภาพความนิยมในนโยบายของรัฐบาลคุณทักษิณอยู่หรือไม่
ผมว่าตอนนี้มันเหมือนกันหมดนะ นโยบายของรัฐบาล แถมตอนนี้มียกกำลังสองอีกต่างหาก
***นโยบายแจกเงินให้ประชาชนคนละ 2,000 บาท มองว่ามันจะเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาลในอนาคตไหม
ผมมองว่ามันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีแรงในการจับจ่ายใช้สอยนะ มันเป็นเหมือนระบบรัฐสวัสดิการ ที่ทำให้คนที่ไม่มีโอกาสได้มีโอกาส แต่ถามว่าจะมีผลกระทบในระยะยาวไหม ผมว่ามีนะ มีตรงที่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะกลายเป็นว่าภาระของรัฐบาลจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเดิมพันของรัฐบาลนี้อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจเดินไปได้ไหม เพราะว่างบประมาณนี้ต้องใช้เพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของประเทศวันนี้ลดลง ผมเพิ่งประชุมมา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องจัดสรรให้ท้องถิ่นมีผลกระทบไปแล้วกว่า 8 พันล้านบาท นี่ไงคือสาเหตุที่ผมบอกว่าต้องกระทบแน่ แต่ถ้ารัฐบาลเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจได้ รายได้ประเทศเพิ่ม นโยบายเหล่านี้เข้มแข็ง
//////////////////