ที่มา ประชาไท
หากย้อนกลับไปมองวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา จะพบว่ามีเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมองหาทางออกก็พบว่า ยังตีบตันหาไม่เจอ สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนประชาธิปไตย จึงได้จัดเสวนา “วิกฤติการเมือง รัฐธรรมนูญ ทางออกประเทศไทย” ขึ้น
นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา ผู้ดำเนินรายการได้เกริ่นนำเขาสู่การเสวนาว่า หากย้อนกลับไปมองวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา จะพบว่ามีเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมองหาทางออกก็พบว่า ยังตีบตันหาไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นการถวายฎีกาของเสื้อแดง หรือการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของฝั่งเสื้อสีน้ำเงิน
นายชัยวัฒน์ ตระกาลรักษ์สันติ จากสมัชชาสังคมก้าวหน้า มองความแตกต่างระหว่างเสื้อแดงกับฝ่ายตรงข้าม โดยชี้ว่า จริงๆ แล้วมวลชนเสื้อแดงนั้นต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว ส่วนฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีหลายฝ่ายโดยเฉพาะพันธมิตรฯ ก็มองว่า ทักษิณ เป็นบุคคลที่อันตราย นักการเมืองโกง เมื่อมีกระบวนการทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ เสื้อแดงจึงออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงมีการต่อสู้ช่วงชิงรัฐธรรมนูญ “ซึ่งตลอดระยะเวลา 77 ปี กลุ่มอำนาจหลายๆ ฝ่ายที่ขัดแย้งกันก็มีการช่วงชิงรัฐธรรมนูญไม่ต่างกันเพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางตอบสนองต่อกลุ่มตนเอง”
การเมืองเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ มีการแข่งขันกันชัดเจนระหว่างไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ แต่รัฐธรรมนูญ 40 กลับผิดคาดตรงที่ว่า แทนที่จะตอบสนองต่อกลุ่มอำนาจเก่า และพวกจารีตนิยม กลับไปตอบสนองชนชั้นล่างในชนบท และชนชั้นกลางบางส่วนที่ได้ประโยชน์เชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มอำนาจจารีตนิยมที่ครอบงำรัฐบาล รัฐธรรมนูญ 50 จึงต้องถูกสถาปนาขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะล้าหลังหลายประเด็น อาทิ “ลดอธิปไตยของปวงชน” เช่น เมื่อเปรียบเทียบอำนาจของปวงชนกับประเทศสหรัฐฯ พบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาล หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ จะต้องมีลักษณะเกี่ยวโยงกับอำนาจประชาชน คือมีการรับรองจากสภาครองเกรส แต่ในประเทศไทยนั้นไม่มีการเกี่ยวพันกับอำนาจประชาชนเลย
ในเรื่องนี้ชัยวัฒน์มองว่า “ในระบอบประชาธิปไตย ระบบตัวแทนยังเป็นกลไกที่สำคัญอยู่ มันสะท้อนประชามติของประชาชนได้” ส่วนในหมวดที่ว่าด้วยการลงพระปรมาภิไธยในฉบับก่อนๆ นั้น สามารถให้สภาเสนอซ้ำ หรือพิจารณาโหวตยืนยันใช้ได้ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ในรัฐธรรมนูญ 50 พบว่าหายไป ซึ่งชัยวัฒน์มองว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการลดอำนาจของประชาชนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งองค์กรอิสระ หรือที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ มีการต่ออายุราชการเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง การสร้างเงื่อนไขสำหรับผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งที่กันไว้เฉพาะกลุ่มของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า เราจะได้องค์กรที่มีประสิทธิภาพ หรือมีการยึดโยงกับอำนาจประชาชนแต่อย่างใด ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่าง คดี “ชิมไปบ่นไป” โดยชี้ว่า เป็นการตัดสินที่ผิดเจตนารมณ์กฎหมายที่มุ่งควบคุมนักการเมือง ห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ใช่รายการอาหารที่มีรายได้รวมแค่แปดหมื่นบาท
หรือเรื่องการยุบพรรค มองโดยเปรียบเทียบแล้ว“กฎนี้จะเท่ากับว่า ถ้าผู้เล่นคนหนึ่งได้รับใบแดง คือทั้งหมดจะหมดสภาพจากการแข่งขัน...” หรือกรณีสองมาตรฐานอื่นๆ ที่เกิดกับกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา“การซื้อเสียงเป็นสิ่งที่อดทนไม่ได้แต่การทำลายสถานที่สาธารณะ ทำร้ายเจ้าหน้าที่... ไม่เพียงแต่ทนได้เท่านั้นแต่ยังได้รับรางวัลอีกด้วย”
นายชัยวัฒน์ ได้กล่าวสรุปว่า วิกฤตการเมืองครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ชิงอำนาจที่ยังไม่ลงตัว โดยมีกติการัฐธรรมนูญ 50 ที่เอื้อให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง ไม่เคารพเสียงประชาชน เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอ ไม่สามารถทำอะไรได้ บริหารประเทศไม่ได้อย่างที่เห็นในรัฐบาลปัจจุบัน
ด้านนายอนุธีร์ เดชทวพร กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่ตัวปัญหาทั้งหมด แต่ปัญหาจริงๆ คือโครงสร้างอำนาจนั้ มันสะท้อนออกมาในลักษณะถูกกำกับดูแล “ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในประชาธิปไตยแบบกำกับดูแล...และกระแสต่อสู้นี้กำลังขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยแบบเสรี”
อนุธีร์อธิบายคำว่า “ประชาธิปไตยแบบกำกับดูแล” โดยมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปที่ 2475 ที่ริเริ่มกระแสประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็มีการผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตลอดระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอำมาตย์ จนมีการเปิดเผยตัวมากที่สุดในความขัดแย้งปัจจุบันนี้ โดยแนวคิดของฝ่ายอำมาตย์ อนุธีร์ สรุปว่า เป็นแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มองว่า คนอื่นโง่ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องมีการดูแลกำกับ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบุญบารมีด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่อง ประชาชนชนบทโง่หรือต้องการการดูแลนี้ อนุธีร์ได้ยกทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งมองว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล แล้วคนกรุงเทพเป็นคนล้มรัฐบาล” อนุธีร์ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดทางความคิดไม่สอดคล้องกับการเมืองปัจจุบันที่ได้เริ่มเข้าสู่การเมืองแบบนโยบายแล้ว ลักษณะอุปถัมภ์จะเริ่มหายไป ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญของการเมือง
“ประชาชนไม่ได้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว ในทางกลับกันนักการเมืองก็เป็นเครื่องมือของประชาชนในการทำนโยบายให้เป็นจริงด้วย เพราะถ้านักการเมืองทำนโยบายไม่ได้ เขาก็ไม่จะไม่ได้รับเลือกจากประชาชน สองสิ่งนี้อาศัยซึ่งกันและกัน...ประชาชนเริ่มใช้ประชาธิปไตยเป็น” ลักษณะที่กำลังพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยเสรี คือสิ่งที่ อนุธีร์ เรียกว่า “เจตจำนงเสรีของประชาชน” ซึ่งเป็นสิ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดของอำมาตย์ที่ต้องการควบคุมประชาชน
อนุธีร์มองว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวปัญหาทั้งหมด แต่ที่เป็นต้นตอของปัญหาคือ กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำประเทศอยู่ ทั้งนี้ในประเด็นที่เกี่ยวกกับทางออกนั้น อนุธีร์มองว่า การสมานฉันท์ใช้ไม่ได้ ต้องมีการปลดแอกประชาชนไทยจากการกำกับดูแล และแนวโน้มในขณะนี้คือ ประชาชนไทยได้เติบโตและไม่ยอมรับการกดขี่แล้ว