ที่มา ไทยรัฐ
จับตาแก้รัฐธรรมนูญแฝงปมปลดล็อก "ทักษิณ"
ถึงแม้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
แต่รัฐธรรมนูญก็สามารถที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้
เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระ-บวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับไปแล้วในห้วงเวลาหนึ่ง หากพบว่ามีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นจากการบังคับใช้
ก็สามารถที่จะพิจารณาทบทวนแก้ไขเพื่อคลี่คลายปัญหาอุปสรรคต่างๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ได้ประกาศบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลา 2 ปีเต็ม
ต้องยอมรับว่า ในห้วงที่ผ่านมา มีปัญหาพอสมควร ทำให้ต้องมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความกันอยู่บ่อยๆ
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกมองว่า เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นำมาสู่ความแตกแยกทางสังคม
นอกจากนี้ปรากฏการณ์ที่เห็นกันเป็นประจำ ก็คือ
เมื่อใดที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคุณกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือสมประโยชน์จากบทบัญญัติของรัฐ-ธรรมนูญ ก็จะหยิบยกมาอ้างเป็นหลักเป็นเกณฑ์
แต่ถ้าเมื่อใดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ผลในทางเป็นโทษ ไม่สมประโยชน์ ก็จะออกมาโจมตีว่า
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร
เหนืออื่นใด จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกทางสังคมที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี จนนำมาสู่ เหตุการณ์จลาจลเลือดช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
ทำให้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกในสังคม
ถึงขั้นที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบ หมายให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา รับหน้าเสื่อดำเนินการเรียกประชุมวิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา
ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี เป็นประธานฯ
ทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ
ในช่วงนั้นรัฐบาลทำขึงขัง ประกาศว่าพร้อมจะดำเนินการตามแนวทางการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ฯพิจารณาศึกษาเสร็จและส่งผลสรุปให้แก่นายกรัฐมนตรี
โดยระบุในรายงานผลการศึกษาว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ได้แก่
1. มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส.ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือ ใช้ระบบแบ่งเขต เขตละคน หรือวันแมนวันโหวต และระบบบัญชีรายชื่อแบบปาร์ตี้ลิสต์
2. มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือให้มาจากการเลือกตั้ง
3. มาตรา 190 การทำหนังสือสนธิสัญญา ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้มีการกำหนดประเภทสนธิสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ชัดเจน
4. มาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยให้เพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
5. มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาทิ ให้รับตำแหน่งเลขานุการ หรือที่ปรึกษารัฐมนตรีได้
6. มาตรา 266 ให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถเข้าไปประสานงานหน่วยราชการในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้
รวมทั้งในระยะยาวให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ามาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป
ปรากฏว่าหลังจากได้รับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรม-การสมานฉันท์ฯแล้ว นายกฯอภิสิทธิ์ก็ยังนิ่ง ไม่ดำเนินการอะไร
ทำให้หลายฝ่ายที่ติดตามเรื่องนี้ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลเอง ต้องออกมาทวงถามความคืบหน้ากันเป็นระยะ
จนในที่สุด ส.ว.และ ส.ส.บางส่วน ทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้เข้าชื่อกันจำนวน 152 คน ประกอบด้วย ส.ว. 64 คน ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย 80 คน พรรคประชาราช 3 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน
ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ให้แก่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภา ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
เร่งปฏิกิริยา บีบรัฐบาลให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้มีการหารือกัน โดยมีข้อสรุปว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. มาตรา 93-98 เรื่องที่มาของ ส.ส. เพื่อกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน หรือวันแมนวันโหวต
2. มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสนธิสัญญา จัดประเภทหนังสือสนธิสัญญาให้ชัดเจนว่า สนธิสัญญาใดที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
ส่วนประเด็นอื่นๆที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคม จะให้จัดทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนก่อน
พร้อมทั้งเริ่มตั้งลำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นหลักที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน โดยมีมติ ครม.ขอให้รัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในวันที่ 16-17 กันยายนนี้
เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.และ ส.ว.
ก่อนที่จะเดินไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการต่อไป
แน่นอน การขยับของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้จะพยายามโยนให้เป็นเรื่องของรัฐสภา
แต่คนวงในก็รู้กันว่า เป็นการขับเคลื่อนของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลักที่หวังผลกันจริงๆก็คือ
การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นแบบเขตละคน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง หวังเจาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ
ส่วนประเด็นเรื่องการทำหนังสือสนธิสัญญาโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นประเด็นพ่วง เพื่อประโยชน์ในการทำงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ การที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 ประเด็น ก็เพราะมองว่าแก้ไขน้อยประเด็นมีโอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสูง
ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งบานปลาย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เมื่อรัฐบาลขยับเปิดเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้เพียงแค่ 2 ประเด็น แต่ก็มีหลายฝ่ายที่จ้องผสมโรง
เห็นได้ชัดจากการที่ ส.ว.และ ส.ส.ทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาลบางส่วน ชิงตัดหน้าเสนอร่างแก้ไข 6 ประเด็นนำร่องไว้
ที่สำคัญ โดยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา อาจมีการสอดแทรกขอแถมประเด็นอื่นๆได้ตลอดเวลา
แม้ในบางเรื่องบางประเด็น ส.ส.และ ส.ว.อาจสมประโยชน์ รวมหัวกันแก้ไข ผลักดันให้ผ่านรัฐสภาไปได้
แต่ก็อาจเกิดปัญหาเจอแรงจากนอกสภา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกคดีความให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย แสดงเจตนาและมีการเคลื่อนไหวเพื่อการนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ไล่ตั้งแต่สมัยของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ในยุคที่ยังเป็นพรรคพลังประชาชน
ที่มีความพยายามจะแก้ไข ตัดมาตรา 309 ที่ให้การรับ-รองการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
หวังผลปลดล็อกคดีความ "นายใหญ่"
รวมทั้งเปิดช่องปลดล็อกโทษเว้นวรรค 5 ปีของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109
แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมีแรงต้านจากสังคม
เมื่อมาถึงยุคที่แปลงร่างเป็นพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีความพยายามที่จะปลดล็อกคดีความให้ "นายใหญ่" อยู่เหมือนเดิม
โดยมีการเคลื่อนไหวยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เพื่อหวังนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีในห้วงหลังจากมีการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549
ตามมาด้วยการสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงในการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ
ล่าสุด ในห้วงที่พรรคร่วมรัฐบาลขยับให้มีการแก้ไขรัฐ-ธรรมนูญ แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนก็เริ่มออกมาจุดพลุ
เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดมาตรา 309 เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์
ประเด็นร้อนๆตรงนี้ หากมีการเสนอเข้าสู่สภาเพื่อให้มีการ แก้ไข แม้จะเป็นปมให้มีการถกเถียง แต่สุดท้ายก็คงจบลงได้
เพราะตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก
แต่ที่น่าห่วงก็คือ มันจะเป็นหัวเชื้อให้เกิดเหตุวุ่นวายนอกสภาตามมา
เพราะถ้ากลุ่มเสื้อแดงออกมารวมพลเคลื่อนไหวสนับสนุน ขณะที่กลุ่มเสื้อเหลืองระดมพลคัดค้านต่อต้าน
อาจนำไปสู่การเผชิญหน้า เกิดเหตุปะทะรุนแรงขึ้นได้ง่ายๆ
จากร่องรอยทั้งหมด ทีมข่าวของเราขอชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือไว้ 2 ประเด็นนั้น แม้จะแก้ไขผ่านไปได้สำเร็จ
แต่ความสมานฉันท์และความปรองดองก็คงไม่เกิด
เหนืออื่นใด การเปิดเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจกลายเป็นชนวนระเบิดลูกใหญ่
ทำให้เกิดวิกฤติขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่.
"ทีมการเมือง"