ที่มา ประชาไท
คิดจากมุมมองของพุทธศาสนา “การยึดมั่น” (อุปาทาน) ไม่ว่าจะยึดมั่นในสิ่งใดย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ไม่มากก็น้อยตามความเข้มข้นของความยึดมั่น หรือตามการใช้ความยึดมั่นนั้นๆ เป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆและสังคมมากหรือน้อย
แม้แต่การยึดมั่นในสิ่งที่เรียกกันว่า “ความดี” ก็อาจก่อความทุกข์ได้ เช่น บางคนยึดมั่นใน “บุญ” ขายทรัพย์สินบริจาคทำบุญกับวัดจนไม่เหลือเงินส่งเสียให้ลูกเรียน บางคนยึดมั่นว่าคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือเป็นสัจธรรมสมบูรณ์ เมื่อถูกใครตั้งคำถามหรือโต้แย้งคำสอนนั้นก็โมโห ไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลที่ต่างออกไป
ในประวัติศาสตร์ สงครามศาสนาเกิดขึ้นหลายครั้ง มีคนตายเป็นสิบๆล้านคนก็เพราะความยึดมั่นในศาสนาหรือพระเจ้าของตนเองว่าดีกว่าเหนือกว่า หรือยึดมั่นว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายที่อยู่ข้างความถูกต้องที่มีหน้าที่ต้องขจัดฝ่ายที่ไม่ถูกต้องให้สิ้นซากไปนั่นเอง
จะว่าไปแล้วสงครามครั้งใดๆไม่ได้เกิดจากความยึดมั่นในความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ชั่วร้าย หากเกิดจากความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่แต่ละฝ่ายต่างก็ป่าวประกาศว่า เป็นความเชื่อที่ดีหรืออุดมการณ์ที่ดีแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ตาม
แต่กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนเราจะไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์เท่าที่ควร หรือไม่มีการนำประวัติศาสตร์มาเป็น “บทเรียน” ให้เกิดปัญญาที่ทำให้เราข้ามพ้นไปจากการใช้ความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า “ความดี” เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกและความรุนแรงในสังคม
เช่น อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เราถือกันว่าเป็นอุดมการณ์ที่ดีงามที่คนไทยทุกคนพึงยึดถือเป็นหลักในการสร้างสามัคคี หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และความมั่นคงแห่งรัฐ แต่เมื่อมีการใช้อุดมการณ์ดังกล่าวนี้ในการต่อสู้ทางการเมืองเรามักใช้กันด้วย “อุปาทาน”
ดังที่แสดงอุปาทานผูกขาดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และกล่าวหาศัตรูทางการเมืองของฝ่ายตนว่าเป็นฝ่ายที่มุ่งทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผลที่ตามมาก็คือความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในสังคมจนนำไปสู่การนองเลือดครั้งแล้วครั้งเล่า นับแต่ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 กระทั่ง 7 ตุลา 51 และสงกรานต์เลือด 52
นอกจากนี้แต่ละฝ่ายยังอ้าง “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งทำตัวเป็นแนวร่วมรัฐประหาร และอีกฝ่ายสมัครใจเป็นเครื่องมือ, สมยอม หรือพร้อมจะเป็นแนวร่วมการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของ “ตัวบุคคล”
แถมยังสร้างวาทกรรมเพื่อสร้าง “อุปาทานร่วม” เช่น ต้องล้ม “ระบอบทักษิณ” ต้องโค่น “ระบอบอมาตยาธิปไตย” ทั้งที่ “แกนนำ” หรือคนส่วนใหญ่ในแต่ละฝ่ายต่างก็มีเส้นทางการเติบโตทางธุรกิจ การเมือง เกาะเกี่ยวสัมพันธ์ หรือมีพฤติกรรม การกระทำที่สอดคล้องเหลื่อมซ้อนในทั้งสองระบอบดังกล่าวนั้น
เช่น ทักษิณก็เติบโตทางธุรกิจโดยใช้เส้นสายของอำมาตย์ในยุค รสช. เมื่อมีอำนาจทางการเมืองก็มีการวางเครือข่ายอำนาจของตนเองทั้งในกองทัพ ตำรวจ ผู้ว่าฯ และอื่นๆ แทรกแซงสื่อ แทรกแซงองค์กรอิสระเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ตนกับพรรคพวกอย่างที่ระบอบอมาตยาธิปไตยเคยทำมา
และฝ่ายที่โจมตี “ระบอบทักษิณ” ก็ได้ทำอย่างที่ทักษิณทำ เช่นการสนับสนุน “รัฐบาลอำมาตย์-อภิสิทธิ์” ซึ่งต่อมาก็แทรกแซงสื่อ (องค์กรอิสระ?) และพยายามวางเครือข่ายอำนาจของฝ่ายตนในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. และอื่นๆในขณะนี้
สรุปแล้ว ที่แต่ละฝ่ายต่างสร้าง “อุปาทานร่วม” ว่าฝ่ายตนดี ถูกยึด “อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง” และมีภารกิจต้องล้มอีกฝ่ายให้ได้ ทำให้แต่ละฝ่ายมุ่งเอาชนะคะคานจนลืมมองตนเองอย่างตรงไปตรงมา มองไม่เห็นพฤติกรรมที่เป็นจริงของตนเองที่มีปัญหาเหมือนๆกัน และไม่อาจให้คำตอบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเช่นกัน
ที่สำคัญ ดูเหมือนแต่ละฝ่ายกำลังเร่งสังคมให้ก้าวไปสู่จุดวิกฤตความรุนแรงที่เกินคาดเดา และไม่มีคำตอบว่าหลังวิกฤต สังคมจะดีขึ้นอย่างไรนอกจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง
ทางหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่น่าจะเป็น คือ
- แต่ละฝ่ายต้องละทิ้ง “อุปาทานร่วม” หันมาสร้าง “อุดมการณ์ร่วม” ซึ่งอุดมการณ์ร่วมต่างจากอุปาทานร่วมตรงที่ อุดมการณ์ร่วมเกิดจากการใช้เหตุผล การถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้จนตกผลึก และเกิดข้อสรุปร่วมกันว่าต้องการให้สังคมเราเป็นประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรมมากขึ้นอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ที่ไม่ใช้ความรุนแรง
- ทุกฝ่ายควรวาง “ทักษิณ” และ “สนธิ” (หรือแกนนำคนอื่นๆที่พยายามสร้างอุปาทานร่วมเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้เอาแพ้เอาชนะ) ลง แล้วตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปประเทศของเราให้เป็นประชาธิปไตย ก้าวหน้า เป็นธรรม และมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่าทันหรือเกินกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฯลฯ ได้อย่างไร
- สังคมทั้งสังคมควรตระหนักร่วมกันว่า ความขัดแย้งที่เป็นมาทำให้ประเทศบอบช้ำและถดถอยทุกด้านเกินพอแล้ว เราต้องไม่คล้อยตามเกมเอาแพ้เอาชนะของฝ่ายใดๆก็ตาม ต้องตั้งคำถามกับแต่ละฝ่ายให้มากขึ้น และกำกับตรวจสอบการเมืองในสภาฯให้เร่งหาทางปลดล็อคความขัดแย้ง คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว
การเลือกตั้งใหม่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ “อุปาทานร่วม” ลดดีกรีลง และเป็นโอกาสที่สังคมจะเรียกร้องให้ขั้วการเมืองแต่ละฝ่ายเสนอนโยบายที่เป็น “อุดมการณ์ร่วม” แข่งกัน เพื่อให้สภาพสังคมการเมืองโดยรวมคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่