ที่มา Thai E-News
ที่มา นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
12-18 กันยายน 2552
องค์กรสื่อต้องถามตัวเองว่าได้ยืนหยัดที่จะทำให้สื่อที่เป็นสมาชิกขององค์กรรับใช้ประชาชน และต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน เพราะหากองค์กรสื่อไม่ยืนหยัดในจริยธรรม ไม่ยืนหยัดที่จะปกป้องประชาธิปไตยที่แท้จริง องค์กรสื่อและสื่อมวลชนก็ไม่ต่างอะไรกับองค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาว่ารับใช้เผด็จการ และกลุ่มอำนาจต่างๆ เป็น “สุนัขรับใช้เผด็จการ” มากกว่า “สุนัขเฝ้าบ้านที่รับใช้ประชาชน”
องค์กรสื่อรับใช้ใคร?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อและองค์กรสื่อเป็นองค์กรที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐ สื่อภาคธุรกิจเอกชน และสื่อภาคประชาชน นอกจากจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน เป็นธรรม และยืนหยัดทำหน้าที่อย่างเป็นกลางแล้ว ยังต้องตีแผ่ความไม่ชอบธรรมต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง 7 ตุลาคม การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง “สงกรานต์เลือด” การสอบคดีการยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และความผิดต่างๆในการชุมนุมทางการเมือง
ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าสื่อกระแสหลักต่างๆที่ไม่ใช่สื่อของรัฐ รวมทั้งองค์กรสื่อ ไม่เพียงเลือกข้างเลือกปฏิบัติ ยังมีส่วนยุยงและสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงอีกด้วย
อีกทั้งยังมีข่าวที่เชื่อถือได้ว่าสื่อใหญ่บางแห่งที่ได้ชื่อว่าเป็นมัลติมีเดียก็ยอมรับใช้ฝ่ายการเมืองด้วยการแลกผลประโยชน์ในรูปของโฆษณา และการเข้าไปมีส่วนในสื่อต่างๆของรัฐ ( หมายเหตุไทยอีนิวส์:ดูข่าว สื่อเห้สุมหัวรัฐบาลโจรปล้นชาติต่างตอบแทน ประกอบ
องค์กรสื่อต้องถามตัวเองว่าได้ยืนหยัดที่จะทำให้สื่อที่เป็นสมาชิกขององค์กรรับใช้ประชาชน และต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน เพราะหากองค์กรสื่อไม่ยืนหยัดในจริยธรรม ไม่ยืนหยัดที่จะปกป้องประชาธิปไตยที่แท้จริง องค์กรสื่อและสื่อมวลชนก็ไม่ต่างอะไรกับองค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาว่ารับใช้เผด็จการ และกลุ่มอำนาจต่างๆ เป็น “สุนัขรับใช้เผด็จการ” มากกว่า “สุนัขเฝ้าบ้านที่รับใช้ประชาชน”
บทเรียนสื่อ
อย่างกรณีนายจอม เพ็ชรประดับ ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 MHz ที่สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกดดันจนต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุติบทบาทการเป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อไม่ให้ผู้บริหารใน อสมท ต้องได้รับผลกระทบ โดยยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนด้วยเจตนาที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ความถูกต้อง รวมทั้งสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารได้พิจารณาตัดสินใจในสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และเพื่อแสดงถึงหลักการแห่งความเป็นอิสระและเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ ที่หวังจะทำร้าย หรือสร้างความเสียหาย หรือประสงค์ที่จะให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อรัฐบาล หรือขั้วการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซงการทำงานใน อสมท และไม่เคยห้ามให้สื่อของรัฐสัมภาษณ์บุคคลที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาล แต่ยอมไม่ได้ที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษแผ่นดินใช้สื่อของรัฐ ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณก็ออกมาระบุว่า ประเทศมีปัญหาหมักหมมและแก้ไขไม่ได้ เพราะไม่เอาความจริงมาพูด หรือจริงแค่ครึ่งเดียว ในขณะที่สมาคมสื่อฯ สมาคมนักข่าวฯต่างๆ ที่สมควรมีบทบาทในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารกลับมุดหัวไม่กล้าทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณที่ควรทำ
อารยะขัดขืน
การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นักการเมืองมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ส.ส., ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นักการเมืองจะต้องไม่ยอมก้มหัวหรือรับใช้เผด็จการ อย่างกรณีการยุบพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งทุกพรรคการเมืองต่างเห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพราะกฎหมายที่สร้างขึ้นมาโดยเผด็จการ หรือกระบวนการยุติธรรมที่ 2 มาตรฐานก็ตาม พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและชอบธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง แต่สามารถใช้ “อารยะขัดขืน” อย่างอหิงสาจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ไม่ใช่ยอมรับชะตากรรมเหมือนนักการเมืองที่ไร้ศักดิ์ศรีและหน้าโง่ ทั้งที่เห็นว่าเป็นอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรม แต่ยังสู้แบบไร้อารยะ
เช่นเดียวกับการรัฐประหารที่ผ่านมา แทนที่นักการเมือง ประชาชน และสื่อจะออกมาต่อสู้และต่อต้าน กลับนิ่งเฉยและยอมจำนนกับอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถือเป็นความตกต่ำและล้มเหลวที่สุดของประชาธิปไตยไทย เพราะนักการเมือง ประชาชน และสื่อจำนวนมากกลับออกแสดงความชื่นชมเหมือนเป็นชนชั้นวรรณะทาสที่ไม่กล้าอารยะขัดขืน
โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่ถือว่ามีอิสระและสิทธิเสรีภาพมากที่สุด แต่กลับกักขังตัวเอง ยอมอยู่ใต้อำนาจหรือรับใช้อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม แต่หากประชาชนไม่ยอมรับ ไม่ว่าทหาร กลุ่มอำมาตย์ หรือนักการเมืองก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศและมีอำนาจแท้จริง ไม่ใช่กองทัพหรือกลุ่มอำมาตย์อำนาจใดอำนาจหนึ่ง
การต่อสู้ของประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะแค่ประชาชนทุกคนร่วมกันแสดง “อารยะขัดขืน” อย่างจริงจัง อารยะขัดขืนไม่ใช่การฉีกบัตรเลือก แต่อารยะขัดขืนจะต้องไม่ยอมรับกฎหมายเผด็จการ หรือองค์กรใดๆที่รับใช้อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม
เพราะการรัฐประหารที่ทำโดยคณะทหาร ไม่ว่าจะใช้ชื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” ล้วนรับใช้กลุ่มอำนาจทั้งสิ้น ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ
การได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่การทำสงครามปาก แต่ต้องเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนเท่านั้นจึงจะทำให้สังคมที่วิปริตขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
“ยุติธรรม” ต้องหมายถึง “ยุติได้ด้วยความเป็นธรรม” ไม่ใช่หมายถึง “ยุติแล้วซึ่งความเป็นธรรม”
“NO JUSTICE..NO PEACE”
ที่ใดไร้ซึ่งยุติธรรม ที่นั้นไร้ซึ่งสันติสุข!!