ที่มา มติชน บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ก็ไม่ต่างจากรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆที่เป็นขุมทรัพย์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแสวงหาประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันมาเป็นเวลานาน
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
วิธีการหลักๆ ในการเข้ามหาประโยชน์คือ การจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงๆ ผลักดันให้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง จากนั้นส่งคนของตนเอาเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก (แต่ไม่ถูกต้อง) ที่จะเห็นบุคคลที่เป็นคนใกล้ชิดของผู้มีอำนาจฯ มาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจแบบที่ขำไม่ออก เช่น สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ส่งพ่อค้าพริกไทยมาเป็นกรรมการการบินไทย หรือปัจจุบันมีพี่ชายคนสนิทของ "พี่เน" เป็นกรรมการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร
แม้จะมีระเบียบว่า หนึ่งในสามของกรรมการรัฐวิสหกิจต้องแต่งตั้งจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่ขึ้นบัญชีไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและมี พ.ร.บ.คุณสมบัติและมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กำหนดคุณสมบัติกรรมการโดยเน้นมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ผู้มีอำนาจก็อาศัยความ "หน้าด้าน" เลี่ยงกฎหมายส่งคนของตนเองเข้ามาเป็นกรรมการอยู่ดี
จึงเป็นไปได้ยากที่บุคคลเหล่านี้จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการ นอกจากผลประโยชน์ของ "นาย" และของตนเอง
พฤติกรรมของกรรมการการบินไทยรายหนึ่งที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่า ขนสัมภาระ 40 ชิ้น น้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัมในเที่ยวบินโตเกียว-กรุงเทพ เมื่อกลางพฤศจิกายนที่ผ่านมา และยังใช้ช่องทางพิเศษที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่เสียภาษีศุลากรอีกด้วย บ่งบอกได้อย่างดีว่า กรรมการการบินไทยรายดังกล่าวซึ่งได้รับการหนุนหลังจาก "พี่เน" (เหมือนกับคนในตระกูลเดียวกันทำให้มีอำนาจอยู่ในแวดวงตลาดทุน) รักษาผลประโยชน์ของใคร
ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการในการบนินไทยหละหลวม ไร้กฎเกณฑ์ กรรมการและฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจแล้ว ยังทำให้เห็นปัญหาอื่นทั้งในการบินไทยและหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ
หนึ่ง โครงสร้างการบริหารรัฐวิสาหกิจไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีฐานะเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ แต่กรรมการบริษัทไม่รู้จักอำนาจหน้าที่ของตนเองว่า มีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ ติดตามประเมินผลฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามนโยบายและกฎหมาย
แต่นี่กลับล้วงลูกทั้งในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับกลางถึงผู้อำนวยการฝ่าย เข้าไปทำหน้าที่แทนฝ่ายบริหาร ทำให้ผู้บริหารที่ได้รับการสรรหาไม่มีอำนาจที่แท้จริง ไร้น้ำยา เพราะพนักงานมักจะวิ่งเข้าหากรรมการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแท้จริง
การบินไทยนั้น มีงบประมาณมหาศาลทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างและด้านการตลาด ทำให้กรรมการบริษัทต้องเารเข้ามามีอำนาจโดยเฉพาะงบฯด้านการตลาดปีละกว่า 2,000 ล้านบาท อำนาจการอนุมัติใช้เงินก้อนนี้อยู่ที่ประธานคณะกรรมการบริหารคือ นายวัลลภ พุกกะณะสุตซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แทนที่จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
สอง ไม่ใช่กรรมการรัฐวิสาหกิจที่ผู้มีอำนาจฯส่งเข้ามาเท่านั้นที่ก่อปัญหา กรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็อาจก่อปัญหาได้เช่นเดียวกัน
ลองไปพลิกดูชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ มีผลตอบแทนในรูปเบี้ยประชุมและโบนัสสูง จะพบชื่อข้าราชการชั้นใหญ่เป็นกรรมการอยู่เพียบ
แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่เคยสนใจดูว่า อำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งที่ตนเองดำรงอยู่นั้นขัดแย้งกับการเข้าไปทำหน้าที่กรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ อาทิ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย
แต่นายอำพนกลับยอมรับเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ซึ่งโครงการลงทุนของ ปตท.และบริษัทในเครือ จำนวนมากต้องผ่านความเห็นชองของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
จึงน่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า การที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รายใดจะรับเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจใด ต้องไม่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ตามกำหมายของตนเอง
สาม ถ้ากรรมการการบินไทยรายดังกล่าวใช้ช่องทางพิเศษในสุวรรณภูมิขนสินค้าเข้ามาจำนวนมากโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรจริง
คำถามคือ มีผู้ยิ่งใหญ่และผู้มีอำนาจทางการเมือง ใช้ช่องทางพิเศษแบบเดียวกันขนสินค้าเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษีใมากมายขนาดไหน เพราะเมื่อผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้เดินทางไป-กลับแต่ละครั้งจะมีข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐแห่แหนไปอำนวยความสะดวก
เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะกรมศุลากรได้ปล่อยปละละเลยหรือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีการเก็บภาษีจริงหรือไม่
รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้รื้อแดนสนธยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ มิให้มีการกระทำตามอำเภอใจได้ต่อไป