ที่มา ไทยรัฐ
วงสัมมนา ต้านคอรัปชันของ ป.ป.ช.ภาคประชาชน และนักวิชาการ จี้ให้สังคมตื่นตัวในการที่จะรวมตัวกันออกมาต่อต้านการทุจริตคอรัปชันให้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันสังคม ละเลยปัญหาการคอรัปชันจนกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการคอรัปชันถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมไทย
ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มองว่าสังคมไทยไม่มีการปลูกฝัง หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย เลยคิดกันว่าประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้งเท่านั้น นอกจากนี้ สังคมไทยยังมองว่าการทุจริตคอรัปชันเป็นเรื่องส่วนตัว
เป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
เนื่องจากปัญหาการคอรัปชันนำไปสู่ ความไม่เป็นธรรมและการเอาเปรียบ และที่สำคัญคือเป็นการทำลายศรัทธาที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องมองถึงภาพรวม
อย่างแรกเลย ประชาชนจะต้อง ปลูกฝังความรู้สึกเกลียดชังการคอรัปชัน สังคมรับไม่ได้ และกีดกันการคอรัปชันทุกวิถีทาง สังคมจะต้องเป็นก้าวแรกในการที่จะเดินต่อไปสำหรับการแก้ปัญหาคอรัปชันในประเทศไทยไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือภาครัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า เกมโกงของนักการเมืองมีอยู่ 5 แบบ และสามารถที่จะจับได้ คือ โกงแบบบูรณาการ โกงแบบฮั้วผลประโยชน์ โกงเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง โกงเชิงนโยบายซึ่งถือว่าเป็นการโคตรโกง และสุดท้ายคือ โกงแบบอุปถัมภ์
เข้าใจว่านักการเมือง นายกรัฐมนตรี องค์กรอิสระ รู้เรื่องเหล่านี้ ดี อยู่ที่ว่าจะกล้าดำเนินการหรือไม่เท่านั้น แถมยังบอกฝากไปถึงนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยว่า ถ้ามีความตั้งใจที่จะปราบปราม การคอรัปชันจริง ก็ต้องกล้าที่จะตรวจสอบกลโกงใน 5 รูปแบบดังกล่าวให้ได้
อันที่จริงแล้ว ปัญหาการคอรัปชันดูจะอยู่กับสังคมไทยมา ช้านานด้วยซ้ำ ต้นตอของการคอรัปชันจริงๆก็คือ ระบบอุปถัมภ์ จากการช่วยเหลือกันธรรมดาก็มีสินน้ำใจ จากสินน้ำใจก็เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ ลามไปทุกสังคม จะฝากเด็กเลื่อนชั้นโยกย้าย ไปจนกระทั่งการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็จำเป็นต้องใช้เงินนำหน้า เป็นธรรมเนียม เป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาที่จะขาดไม่ได้
สังเกตว่าก่อนโน้นการคอรัปชันไม่มาก ร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ก็เหลือเฟือ แต่เมื่อมีการแข่งขันในระบบอุปถัมภ์กันมากขึ้น กลายเป็นร้อยละ 20 จนถึงร้อยละ 70 ก็มี เอกชนกับเอกชน หรือรัฐ กับเอกชนก็ยังพอทน แต่ปัจจุบันภาครัฐโกงได้แม้แต่ประชาชน
โคตรคอรัปชัน
สุดท้าย องค์กรตรวจสอบก็โกงเพราะอำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซงก็ดี เพราะวิกฤติการเมืองเป็นสาเหตุก็ดี หรือคิดจะโกงอยู่แล้วก็ดี ทำให้เกิดช่องว่างในการต่อรองการทุจริตคอรัปชันกันอย่างมโหฬาร.
หมัดเหล็ก