WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, December 13, 2009

"แดง"ส่งไม้ต่อ"เพื่อไทย" การเมือง"ขับเคลื่อน"จากถนนสู่สภา ความรุนแรงไม่แปรเปลี่ยน

ที่มา มติชน

วิเคราะห์




การชุมนุมของคนกลุ่มเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ผ่านพ้นไปแล้ว

ผ่านพ้นไปในสภาพของรูปแบบ "งานพิธีกรรม" เนื่องในวันรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะเป็นการชุมนุมเพื่อกดดันทางการเมือง

เพราะดูจากปริมาณผู้ร่วมชุมนุม ที่ฝ่ายตำรวจประเมินไว้หมื่นกว่าๆ และดูจากเนื้อหาของการชุมนุมแล้ว ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ทำให้รัฐบาลสั่นสะเทือนอะไรมากนัก

และยิ่งแกนนำ นปช.ประกาศชัดเจนว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงจะไม่มีอีก รอจนกระทั่งปีหน้า คือปี 2553 ถึงจะว่ากันอีกที

ทำให้สิ่งที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแบบแตกหักในช่วงปลายปี ไม่น่าจะเป็นจริง

ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด

จะเป็นทางลบต่อคนเสื้อแดง อย่างที่ นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตีปี๊บก่อนหน้านี้ว่า แกนนำคนเสื้อแดงมีความแตกแยกทางความคิดอย่างหนัก

กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ควรชุมนุมใหญ่ เพื่อเร่งให้เกิดการแตกหัก

แต่อีกกลุ่มเห็นว่า ทุกอย่างควรค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้ต้องเลื่อนการชุมนุมใหญ่ "แดงทั้งกรุงเทพฯ" ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม ออกไป

ขณะเดียวกัน แม้จะมีการชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคม แต่ก็เป็นการชุมนุมในเชิงพิธีกรรมอย่างที่ว่ามากกว่า ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะมุ่งแตกหัก อย่างที่ประกาศไว้

หรือจะมองในทางบวก ตามมุมมองของฝ่ายเสื้อแดง คือยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์

เมื่อกระแสสังคมพุ่งสูงไปยังเรื่อง "งานเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวาคม" การไปขัดขวางหรือทวนกระแส รังแต่จะทำให้ความรู้สึกของคนทั่วไปต่อคนเสื้อแดง เป็นไปในทางที่ไม่ดี ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปดื้อดึง

จึงเป็นเรื่องที่น่าจะถูกต้องกว่ากับการที่จะยืนอยู่บนความเป็นจริงของสถานการณ์ นั่นคือชะลอการชุมนุมใหญ่ออกไป

ไม่ดื้อรั้น หรือดันทุรัง

ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เป็น ลบ หรือ บวก ก็ตาม

สิ่งที่สรุปได้ขณะนี้ก็คือ นับตั้งแต่วันนี้ ยาวไปกระทั่งถึงต้นปีหน้า การชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงเพื่อ "แตกหัก" กับรัฐบาล ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ทำให้ "การเมืองนอกสภา" หรือ "การเมืองบนท้องถนน" ผ่อนคลายความรุนแรงลง

แน่นอน ฝ่ายที่สบายใจต่อสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมเป็นฝ่ายรัฐบาล

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คงไม่ยอมปล่อยให้ภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ยาวนานเพราะจะไม่เป็นผลดีกับการต่อสู้ของฝ่ายตนเอง

เมื่อการเมืองนอกสภาเย็นลง ก็ต้องไปเติมเชื้อไฟ "การเมืองในสภา" ให้ลุกโพลงขึ้น

ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณส่งสัญญาณผ่านระบบวิดีโอลิงก์มายังเวทีเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ว่า "อยากให้จับตาการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า เพราะยืนยันว่ามีข้อมูล รับรองว่าสนุกแน่"

ดูตามสัญญาณนี้ ก็ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังขับเคลื่อนความร้อนแรง จากท้องถนน เข้าสู่ "สภา" โดยใช้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2553 เป็นอาวุธสำคัญ

มีการขานรับอย่างทันทีทันควันจาก นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ซึ่งก็เริ่มแย้มๆ รายชื่อผู้ที่จะถูกซักฟอกออกมาบ้างแล้ว คือ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่คาดหมายว่าเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเป็นประเด็นร้อน รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาต่างประเทศ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง การประกันราคาสินค้าเกษตร ต้นกล้าอาชีพ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีการควบคุมดูแลสื่อของรัฐ

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีปัญหากับเขมร และประเทศเพื่อนบ้าน

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีปัญหาการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ปัญหาในการรถไฟฯ ฯลฯ

คาดว่าเมื่อใกล้เวลาที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงจะมีการเพิ่มจำนวนรัฐมนตรีขึ้นมาอีก ซึ่งก็ต้องติดตามว่าจะเป็นใคร อาจจะเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงจะมุ่งไปยังพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเป็นหลัก

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่น น่าจะยั้งมือเอาไว้ เผื่อจับพลัดจับผลู หลังเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การจับขั้วใหม่ทางการเมืองอาจเกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทยจึงอาจไม่ไปแตะพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อหวังที่จะเป็น "พันธมิตร" ในวันข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ที่น่าจับตาอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อยุทธวิธีของ พ.ต.ท.ทักษิณขับเคลื่อนเข้าสู่สภา สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้อง "ขจัดจุดอ่อน" ของตัวเอง ที่คาราคาซังมานาน นั่นก็คือ การหา "หัวหน้าพรรคตัวจริง" เพื่อที่จะมานำการขับเคลื่อนทางการเมืองอันสำคัญที่สามารถ "ชี้เป็นชี้ตาย" รัฐบาลได้

ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ ได้แย้มว่า "ให้จับตาดูว่าอาจมีบุคคลสำคัญลงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ปราจีนบุรี ช่วงต้นปี 2553 โดยบุคคลดังกล่าวอาจมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา"

ทำให้มีการคาดหมายไปต่างๆ นานาว่าจะเป็นใคร ซึ่งก็ยังสับสนและคลุมเครืออยู่

แต่ภายใต้ความไม่ชัดเจนนั้น การที่พรรคเพื่อไทยหยิบเรื่องผู้นำฝ่ายค้านในสภามาพูด นั่นก็ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า การขับเคลื่อนในสภาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ต้องมีหัวหน้าพรรคตัวจริงถือธงนำ

ก็ต้องจับตาดูว่า จะเป็นใคร และมีเพาเวอร์มากขนาดไหน

ถ้าหาก "ไพ่" ใบนี้หงายออกแล้ว มีการตอบรับจากคนภายนอก เชื่อว่าจะทำให้เกมในสภาเพิ่มความร้อนแรงขึ้นอีกหลายดีกรี

แน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็คงต้องเฝ้ามองความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

และเชื่อว่าคงไม่ยอมนิ่งเฉย

ต้องไม่ลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์เองก็เป็นเจ้าแทคติคในทางสภา ซึ่งก็คง "งัดลูกไม้" อันแพรวพราวออกมารับมือ

ที่พูดถึงมากขณะนี้ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์อาจใช้เกมลดแรงปะทะของญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยการชิงปรับคณะรัฐมนตรี โดยอ้างถึงระยะเวลาที่เหมาะสม คือ รัฐบาลบริหารงานมาครบ 1 ปี สมควรที่จะมีการสับเปลี่ยนบุคลากรในการทำงาน

จึงต้องจับตาว่าในช่วงต้นมกราคม 2553 นายอภิสิทธิ์จะใช้แทคติคนี้หรือไม่

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเฝ้ารอจังหวะและโอกาส ที่ตกมาใส่ "เท้า" ก่อนที่จะเตะกระหน่ำออกไป ซึ่งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถหาประโยชน์จากลูก "ส้มหล่น" ได้หลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมาถล่ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีที่ไปรับเป็นที่ปรึกษาให้กับสมเด็จฯฮุน เซน

หรือชูกระแสจงรักภักดีขึ้นมา "ขับเน้น" หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปให้สัมภาษณ์หมิ่นเหม่กับไทม์สในเรื่องสถาบัน รวมถึงเมื่อเสื้อแดงจะชุมนุมในช่วงเฉลิมพระเกียรติ วันที่ 5 ธันวาคม รัฐบาลก็ได้ทุ่มเทงบประมาณและกำลังคน จัดงานเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้คนเสื้อแดงขับเคลื่อนด้วยความยากลำบาก และต้องถอยร่นไปในบางจังหวะ

และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่ออยู่ นั่นก็คือ คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาในคดียึดทรัพย์ 7 หมื่นกว่าล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่คาดว่าระยะเวลาตัดสินคงจะเป็นช่วงต้นปี 2553

ซึ่งถ้าหากออกมาในทางร้ายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คือมีการยึดทรัพย์ เชื่อว่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพลพรรคเสื้อแดง อ่อนกำลังลงอย่างมาก นั่นย่อมเป็นคุณอย่างมหาศาลต่อพรรคประชาธิปัตย์

และพรรคประชาธิปัตย์เองก็แอบคาดหวังที่จะให้ "ส้ม" ลูกใหญ่ลูกนี้หล่นลงมาใส่เท้าอย่างสูง

เกมการเมืองต่อไปนี้จึงยังถือว่าเข้มข้น โดยเริ่มเปลี่ยนจากการเมืองบนท้องถนน ไปยังการเมืองในสภา

ซึ่งแม้จะดูเข้าสู่ระบบและเป็นแบบแผนที่ถูกต้อง แต่น้ำหนักแห่งการฟาดฟัน รุนแรงไม่แพ้กัน

นั่นคือ มุ่งไปสู่การหักโค่นกันอย่างเต็มที่ และดูจะเป็นความคาดหวังที่สูงยิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ที่จะรุกไล่ให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้าสู่มุมอับ และยุบสภา ในที่สุด

แน่นอนพรรคประชาธิปัตย์ก็คงสู้สุดฤทธิ์ และพร้อมที่จะช่วงชิงหรือฉวยจังหวะที่พรรคเพื่อไทยรุกแล้วพลาด สวนกลับเอาคืน ซึ่งทำได้ผลมาแล้วช่วงระยะที่ผ่านมา

ดังนั้น ไม่ว่าการเมืองจะขับเคลื่อนจากถนนเข้าสู่สภา ความร้อนแรงก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง!