ที่มา Thai E-News
โดย คุณ อคนี คคนัมพร
ที่มา เวบไซต์ โลกวันนี้
15 ธันวาคม 2552
วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากเป็นวันรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นวันสิทธิมนุษยชนของชาวโลกโดยทั่วไปอีกด้วย
เรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย พวกที่สนใจการเมืองและทำกิจกรรมทางการเมืองในยุค จอมพลถนอม จอมพลประภาส ยังไม่มีใครพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน ได้รับการหยิบยกขึ้นมาสู่ความสนใจของชาวโลก และรู้จักกันกว้างในประเทศไทย หลังสิ้นสุดสงครามเย็น โดยเฉพาะหลังการแตกสลายของสหภาพโซเวียตรุสเซีย เพราะหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกา ต้นกำเนิดโลกยุคโลกาภิวัตน์ ก็ประกาศลัทธิเสรีทางการค้า สิทธิมนุษยชน และการดูแลสภาพแวดล้อม
โลกทั้งโลกเอียงไปทางนั้น
ประเทศไทยก็มีคนเห่อสิทธิมนุษยชนกับเขาเหมือนกัน พวกนักวิชาการ พวก NGO และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง สร้างชื่อโด่งดังขึ้นมาด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้บัญญัติรองรับเรื่องนี้ไว้อย่างทันสมัย ทันเหตุการณ์ เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งผ่านการคัดสรรจากบุคคลที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ให้เข้าไปทำงาน กินเงินเดือนกันแพงๆ
แต่แล้วพอเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย ก็เห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจนั้นอย่างหมอบราบคาบแก้ว
มีแต่ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย คนเดียวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ออกมาต่อสู้คัดค้าน เพราะเห็นว่าการยึดอำนาจโดยกำลังทหาร เป็นการทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
แต่นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ก็ถูกกรรมการคนอื่นขับไล่ไสส่ง
ผู้เขียนเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเขาทั้งชุด หมดความชอบธรรมที่จะอยู่กินเงินเดือนแพงๆ กันตั้งแต่วันนั้น เพราะกรรมการสิทธิมนุษยชน ถ้ามองไม่เห็นว่า การฉีกรัฐธรรมนูญ การขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการกระทำความผิดแล้ว เปรียบไปก็เหมือนพระปาราชิก อยู่ไปอย่างลวงโลก
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงไม่สนใจงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีก ในทางตรงกันข้ามกลับรู้สึกต่อต้าน โดยต้องการชี้ให้เห็นว่า
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ก็เหมือนพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ คือหาหลัก หาเกณฑ์อะไรไม่ได้
ในวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านจึงไม่พบว่า งานวันสิทธิมนุษยชน (สากล) นั้น ใครได้ทำอะไร ที่ไหนในเมืองไทย พร้อมๆ กันนั้น เราก็ไม่เห็นว่า ในวันรัฐธรรมนูญของเรานั้น รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดกิจกรรมอะไรขึ้นตรงไหน
พรรคประชาธิปัตย์อาจมีความรู้สึกละอายต่อบาป ที่พึ่งพิงพวกรัฐประหารขึ้นสู่อำนาจ จึงไม่กล้าจัดกิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญก็เป็นได้
แต่ถ้าเช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรเอาป้ายพรรคลงเสีย เปลี่ยนชื่อเป็น พรรครัฏฐาธิปัตย์ หรือไม่ก็พรรคอำมาตยาธิปัตย์ จะเหมาะสมกว่า อย่าเปิดร้านขายเนื้อสุนัข แต่แขวนหัวแพะหลอกลวงคนไว้หน้าร้านเลย
ในบรรดาสิทธิเบื้องต้นทั้งหลายของมนุษย์นั้น ผู้เขียนเห็นว่า สิทธิในการปกครองตนเองเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้น คงจะไม่เกิดประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นในโลก และถ้ามนุษย์ไม่มีสิทธิปกครองตนเอง (อำนาจอธิปไตยของปวงชน) เสียแล้ว ก็ไม่ต้องไปพูดถึงสิทธิอย่างอื่น
ประเทศ ถ้าเป็นเมืองขึ้นเขา ก็ไม่มีสิทธิพูดเรื่องอำนาจอธิปไตย
ประชาชนถ้าไม่มีอำนาจอธิปไตย ก็ป่วยการพูดเรื่องการปกครองและบริหารอื่นๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าเมืองไทยของเรา จะเล่นเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างต่างประเทศเขา เราก็ควรปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน
ถ้าบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า อำนาจอธิปไตยยังไม่เป็นของปวงชน ก็ป่วยการที่ไปเล่นเรื่องอื่น
วันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา คนเสื้อแดงจัดงานวันรัฐธรรมนูญ เพื่อบ่งบอกว่า เขาจะสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่กลุ่มเดียวนั้นดีแล้ว แต่ผู้เขียนอยากบอกเพิ่มเติมว่า ถ้าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย จงอย่ารอพรรคประชาธิปัตย์