ที่มา มติชน
โดย วิโรจน์ วงษ์ทน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จเรียบร้อย หาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ "ประธานคณะราษฎร" ไม่ได้ ต่างคนต่างไม่ยอมเป็น กลัวจะถูกกล่าวหาว่าต้องการอำนาจ คณราษฎรจึงไปเชิญเอา "พระยามโนปกรณ์นิติธาดา" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อาจารย์สอนกฎหมาย องคมนตรี และอื่นๆ มาเป็น ซึ่งคณะราษฎรเห็นว่าน่าจะเป็นผู้ที่ประนีประนอมกับฝ่าย "เจ้านาย" ได้เป็นอย่างดี พระยามโนฯตอบรับ
การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีกฎเกณฑ์หรือกฎหมายในการปกครองซึ่งเรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญ" จาก พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2552 ประเทศเราใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 18 ฉบับ มากกว่าประเทศใดๆ ในโลกนี้
10 ธันวาคม 2475 ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย
รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้มี 2 ลักษณะ คือ รัฐธรรมนูญมุ่งจะบังคับใช้เป็นการถาวร โดยมีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบ เช่น มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ อีกประเภทหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญมุ่งบังคับใช้เป็นการชั่วคราว หรือรัฐธรรมนูญที่มุ่งบังคับใช้ชั่วคราว ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอำนาจนั่นเอง เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร การยึดอำนาจ ฯลฯ
ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502 ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้บังคับเป็นเวลา 9 ปีเศษ แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรบางฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้นๆ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งมิได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายทหารระดับสูง
ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งบังคับใช้ถาวร จึงมักจะถูกยกเลิกโดยการทำรัฐประหาร โดยการยึดอำนาจ โดยคณะผู้นำทางทหาร เมื่อคณะรัฐประหารซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ยึดอำนาจได้สำเร็จก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วจึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่เมื่อตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไปได้สักพักก็จะเกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ ต่อมาก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทิ้ง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมีการประกาศร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นวงจรกันอยู่เช่นนี้นับแต่ปี พ.ศ.2475 มาไม่เป็นอันจบสิ้น
เรียกกันว่า "วงจรอุบาทว์" แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ วงจรนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่
แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เสียเลือดเนื้อในการเรียกร้องประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญของประชาชนถึงสามครั้ง และรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีผลให้วงจรอุบาทว์สลายไป ตรงกันข้ามกลับหาวิธีการที่แนบเนียนในการยึดครองอำนาจ
ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า การปฏิวัติยึดอำนาจ หรือรัฐประหารในแต่ละครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนทางสังคมอย่างมากมาย ผู้คนในประเทศแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน สีเหลือง สีแดง พร้อมจะทำลายกันให้สูญสลายไปข้างหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น
ก
ารแก้ไขกลุ่มบุคคล หรือบุคคล หรือกลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ เข้ายึดอำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปีพุทธศักราช 2550 มาตรา 64 ได้กำหนดเอาไว้ว่า
"บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตรมวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้"
มาตรานี้น่าจะป้องกันอำนาจอื่นหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงอำนาจรัฐธรรมนูญได้ แล้วรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยก็จะอยู่ยั้งยืนยง ไม่ใช้กันสิ้นเปลืองเหมือนอย่างทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้ประชาชนแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่ายกันอย่างชัดเจน จะปฏิเสธกันไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 หลายฝ่ายพยายามหาทางให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น แต่ตราบใดที่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้าไปชี้นำอำนาจของรัฐธรรมนูญ ความสมานฉันท์เห็นจะเกิดขึ้นได้ยาก