ที่มา thaifreenews
"กำเนิดพระนางตอแหล" พระแม่ธรณีบีบมวยผม ทำไมต้องแนะนำให้"มาร์ค"และคนปชป.อ่าน ?
ฝ่าย ค้านและฝ่ายรัฐบาล เปิดศึกด่ากันรูปแบบใหม่ "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" แนะให้ โอบามาร์คและคนประชาธิปัตย์ อ่าน กำเนิดพระนางตอแหล บทเรียนประสบการณ์เมื่อรัฐไทยแตกแยกเป็น 6 ก๊ก "เทพไท เสนพงศ์" สวนกลับว่า คนที่อยู่ ดูไบ น่าอ่านมากกว่า อยากรู้ว่า กำเนิดพระนางตอแหล มีความเป็นมาอย่างไร เรานำมาให้อ่านแล้ว...
จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตการช่วยเหลือนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย ที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกฐานจารกรรมข้อมูลการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการจัดฉาก
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ออกมาสวนกลับว่า ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์และคนในรัฐบาลเลิกเล่นเกมดิสเครดิตพรรค เพื่อไทยได้แล้ว
และขอแนะนำให้นายอภิสิทธิ์ ไปซื้อหนังสือชื่อ "กำเนิดพระนางตอแหล" มาหาอ่าน เพราะหนังสือนี้เป็นหนังสือที่ดีทำให้เห็นว่าความแตกแยกในสมัยโบราณก่อนยุค สุโขทัยเกิดขึ้นได้อย่างไร
ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า หนังสือเรื่อง "พระนางตอแหล" ควรจะส่งหนังสือดังกล่าวไปให้คนที่"ดูไบ"อ่านมากกว่า เพราะนั่นเป็นต้นเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้คนไทยแตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า
และสำหรับสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่เป็น ส.ส. ตนตั้งใจจะส่งหนังสือนิทานอิสปเรื่อง "กบเลือกนาย" ให้ได้อ่าน เพื่อที่จะได้มีสติในการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาต่อ ไป เพราะขณะนี้ใช้เวลาเป็นปีก็ยังหาคนดีที่เหมาะสมกับตำแหน่งไม่ได้ เพราะแตกแยกและขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน"
นิทานอิสป เรื่อง กบเลือกนาย ไม่ต้องสาธยาย ให้มาก เพราะเด็กอนุบาลก็เล่านิทานเรื่องนี้ได้
แต่ กำเนิดพระนางตอแหล เป็นมาอย่างไร ทำไม อภิสิทธิ์ และ คนประชาธิปัตย์ ควรหามาอ่าน !!!
เอาเข้าจริง กำเนิดพระนางตอแหล ประวัติศาสตร์รัฐไทยโบราณ ช่วง พ.ศ.1129-1215 ที่เรียบเรียงโดย คนหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ เรืองยศ จันทรคีรี สำนักพิมพ์สุวรรณภูมิอภิวัฒน์ ราคาปกเล่มละ 110 บาท เนื้อหาบางตอนมีสาระสำคัญ ดังนี้
@พระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือ พระนางอุษา
พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งประทับหรือประดิษฐานบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา หลาย ๆ คนอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง คือ อาจจำกัดกรอบการรับรู้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น...
ความจริงรูปปั้นดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ ในรัชกาลที่ 5 หรือ "สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และ 7"
พระราชดำรินั้นก็เพื่อจะแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบริสุทธิ์ให้กับผู้คนทั่ว ๆ ไป เป็นสาธารณทานแก่ชาวกรุงเทพฯ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษาของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2456...
เรื่องของแม่ธรณีหรือแม่พระธรณี หรือ พระแม่ธรณี ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคติดั้งเดิมในสังคมไทยและสังคมชาวพุทธ เป็นมรดกทางความเชื่อที่ครอบอยู่ในความคิดและจิตใจ กระทั่งปรุงแต่เป็นมูลฐานแห่งวัฒนธรรมจารีตประเพณี
ต่อมาเกิดเป็นพิธีรีตองต่าง ๆ ถูกปรับปรุงมาเรื่อยให้ประณีตงดงาม เป็นผลสัมฤทธิ์ในความเป็นสวัสดิมงคลสำหรับวิถีชีวิต กลายเป็น "เทวดา" ในพื้นความเชื่อของสังคมแบบไทย ๆ
พระแม่ธรณีตามคติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ได้รับการเคารพ เพราะถือว่าแผ่นดินเป็นสิ่งค้ำจุนสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ จึงเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลก ทำให้เกิดการยกย่องเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่งถือเป็นเพศหญิง เรียกขานนามว่าธรณิธริตริ แปลเป็นไทยคือผู้ค้ำจุนพระธรณี
เทพแห่งแผ่นดินหรือพระธรณีนั้น ไม่ได้มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาปรากฏมากมายเหมือนปวงเทพองค์อื่น ๆ หรือยังอาจสับสนด้วยซ้ำ
บางตำนานก็ว่าพระธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์ ได้แก่ พระอังคาร แต่ไปแย้งบางตำนานให้พระอังคารเป็นโอรสระหว่างพระธรณีกับพระธุรวะหรือดาว เหนือ ...ส่วนจะเป็นชายาของเทพใด ? เห็นจะค้นคว้าหาหลักฐานได้ยากทีเดียว...
สำหรับคติความเชื่อเรื่องพระแม่ธรณีที่ได้เผยแพร่เข้ามาสู่สังคมไทย สันนิษฐานได้ว่ายังเป็นจากอิทธิพลเกี่ยวข้องของพระพุทธศาสนาเสียส่วนใหญ่ มีเข้าไปโยงเกี่ยวกับหลาย ๆ พิธีกรรม เช่น ก่อนพิธีไปจับคล้องช้าง ก็ยังมีการบูชาพระแม่ธรณี
แต่ความเชื่อส่วนใหญ่ของสังคมไทยในเรื่องพระแม่ธรณี เห็นจะไปในทางเดียวพ้องกับความเชื่อในแบบฉบับอินเดียเอง หรือในทางวรรณคดีไทยคงมีนามของพระแม่ธรณีถูกเอ่ยถึงอยู่ไม่น้อย ดังตัวอย่างของหนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา หรือลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
เราอาจพอกล่าวอีกอย่างได้ว่าเรื่องราวของพระธรณีนั้น แสดงถึงความเป็นเทพแห่งความสงบ รักสงบ อยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไรในโลก คงเฝ้าแต่หล่อเลี้ยงโลก ประดุจมารดาถนอมเลี้ยงลูก คอยรับรู้การทำบุญกุศลของมนุษย์โลก โดยการใช้มวยผมรองรับรับน้ำจากการกรวดน้ำ เสมือนกับเป็นอรูปกะ คือเป็นสภาพไม่มีตัวตน แต่ยามเกิดเหตุการณ์สำคัญหรือมีผู้ร้องขอ พระธรณีจะปรากฏรูปขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ?
...พระแม่ธรณีที่กล่าวถึงข้างต้น แตกต่างจากพระแม่ธรณีกรรแสงหรือพระแม่ธรณีบีบมวยผมหรือพระแม่ธรณีแห่งแผ่น ดิน ในตำนานทางปักษ์ใต้ซึ่งหมายถึงพระนางอุษาในยุคสหราชอาณาจักรคีรีรัฐตอนปลาย ๆ ราว พ.ศ. 1200 นั้นยังเรียกตามตำนานเป็นพระแม่ธรณีเหมือนกัน เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาตอแหลไทย จนแว่นแคว้นของรัฐไทยโบราณยุคนั้นแตกกระจัดกระจาย ก่อนเข้าสู่ยุคศรีโพธิ์หรือศรีวิชัย...
เป็นข้อน่าปุจฉาว่า คนในสังคมไทยสำหรับบ้านเมืองยุคแตกแยกขัดแย้งปัจจุบันกำลังหลงทางเข้าใจผิด ไปบ้าง นับถือพระแม่ธรณีที่เป็นตำนานทางปักษ์ใต้หรือเปล่า ?
@ กำเนิดพระนางตอแหล
รัฐของคนไทยโบราณหรือที่สืบเชื้อสายดั้งเดิมมาจากบรรพบุรุษในอาณาจักรหนัน เจ้า ซึ่งเป็นดินแดนอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน คงหาหลักฐานได้ยากว่าย้อนหลังเกิดขึ้นเมื่อใด ? แต่มีตำนานที่อาจเก่าแก่มากกว่า 5,000 ปี ก่อนสมัยพุทธกาล
ชาวไตหรือบรรพบุรุษอ้ายไตเหล่านั้นได้อพยพลงมาสู่ดินแดนที่ขึ้นต่อกับแผ่น ดินแม่ของอาณาจักรหนันเจ้า กระทั่งได้แยกตัวออกมาต่างหาก ก่อตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรสุวรรณภูมิ เมื่อสมัยของมหาราชาท้าวโกศล
กระทั่งในราว พ.ศ.297 โดยประมาณก็เป็นยุคสมัยของสหราชอาณาจักรเทียน ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบระบบการปกครองขึ้นมาใหม่ มีมหาจักรพรรดิท้าวกุเวร พระราชโอรสของมหาราชาท้าวกู เป็นรัชกาลที่ 1 สืบทอดราชสมบัติจนถึงรัชกาลของมหาจักรดรรดิท้าวเทียนสน เมื่อ พ.ศ.623 จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อกลายเป็นสหราชอาณาจักรเทียนสน เป็นแผ่นดินของรัฐไทยโบราณขณะนั้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ มาสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.693 ยุคสมัยของขุนเทียน หรือมหาจักรพรรดิท้าวพันตา
มหาจักรพรรดิท้าวพันตาได้เปลี่ยนชื่อจากสหราชอาณาจักรเทียนสน กลายมาเป็นสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ พระองค์เป็นรัชกาลที่ 1 ของคีรีรัฐและอยู่ในราชสมบัติจนถึง พ.ศ.753 แล้วสืบทอดอำนาจการปกครองต่อช่วงมาเรื่อย ๆ อีกหลายรัชกาล กระทั่ง พ.ศ.1224 ก็มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่ง เป็นสหราชอาณาจักรศรีโพธิ์ หรือสหราชอาณาจักรเสียมที่เราเข้าใจผิดมาตลอด ไปเชื่อตามข้อมูลหลักฐานของตะวันตก เรียกเพี้ยนเป็น "ศรีวิชัย"
สำหรับหนังสือเล่มนี้มุ่งเจาะจงลงไปสู่ห้วงเหตุการณ์ระหว่าง พ.ศ.1129-1215 อันเป็นช่วงปลายของแผ่นดินสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ จึงได้นำเสนออย่างรวบรัด ตัดความหรือข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องทิ้งไป โดยงานเขียนชิ้นนี้ต้องการนำเสนอให้เห็นภาพของเจ้าหญิงอุษา หรือ พระนางอุษา พระราชธิดาของมหาจักรพรรดิ หยางจ้าวหลีชุน ผู้เป็นรัชกาลที่ 37 แห่งสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ
เรื่องราวของประวัติศาสตร์รัฐไทยโบราณในช่วงตอนนี้ นับว่าน่าศึกษาและค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงเหตุการณ์ที่รัฐไทยมีความแตกแยกจวนเจียนล่มสลาย ...ไม่มีห้วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะร้าวรานและทุกข์ระทมขนาดนี้ เป็นความร้าวรานสุดเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าการเสียเอกราชกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ให้แก่พม่า เพราะเป็นเวลาของกาลกาลียุคโดยแท้จริง คนไทยแตกแยกขัดแย้งแบ่งออกเป็น 6 ก๊ก ทำลายล้างก่อสงครามเข่นฆ่ากันเอง เสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง !
แทบไม่น่าเชื่อว่าเพียงสตรีผู้หนึ่งที่ผิดหวังรุนแรงในความรักแล้วต้องการ สร้างทายาทของตัวเองให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน คือเจ้าหญิงอุษา ได้ก่ออำนาจมิจฉาทิฐิที่แรงกล้า ภายใต้การซ้อนแผนวางกลอุบายให้ของพระเจ้าจิตรเสน กษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์มอญ-ขอม-ทมิฬ
ทั้งนี้เนื่องจากความไม่พอใจที่สะสมมาตั้งแต่ พ.ศ.1129 เมื่อท้าวอุเทนโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาจันทร์ ใน พ.ศ.1129 พระราชโอรสองค์ที่ 3 ของท้าวเทพนิมิตร ให้เป็นมหาอุปราชปกครองอาณาจักรคามลังกา โดยมีศูนย์กลางอยู่ ณ แคว้นจันทร์บูรณ์ นี้เป็นเหตุชนวนตั้งต้นอีกประการ ทำให้พระนางขอมอินทปัต, พระเจ้าศรีพาระ, พระนางมุสิกะ, พระเจ้าจิตรเสนและพระเจ้าศรีภววรมัน ซึ่งล้วนเป็นเชื้อสายราชวงศ์มอญ มีความไม่พอใจเป็นอย่างมากจึงร่วมกันสมคบคิดวางแผนการลับ ๆ มีเป้าหมายที่จะผลักดันฝ่ายเชื้อสายราชวงศ์ขอม-มอญ และทมิฬให้ขึ้นไปมีอำนาจอิทธิพลเหนืออาณาจักรคามลังกา เข้าแทนที่เชื้อสายราชวงศ์อ้ายไต ซึ่งเป็นสายราชวงศ์จิว
พระราชจิตรเสนนั้นเป็นตัวละครหลัก ได้กระทำการหลาย ๆ อย่างโดยต่อเนื่อง เสี้ยมสอนกโลบายแยกยล เป็นวิชามารใส่ความกล่าวหา บิดเบือนข้อเท็จจริง พูดจริงผสมเท็จ หรืออาจเรียกให้เป็นวิชาตอแหล ซึ่งเป็นหนึ่งในเล่ห์กลสำคัญของการยุแยกแตกทำลายเพื่อทำสงคราม บั่นทอนให้คู่สงครามอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย ไร้สามัคคี บ่อนทำลายกันเอง !
พระนางอุษา หรือ "พระแม่ธรณีกรรแสง" หรือพระแม่ธรณีตำนานประวัติศาสตร์รัฐไทยโบราณ ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เป็นตัวแสดงหลัก ใช้วิชากระทำตอแหล ปล่อยข่าวทำลายสารพัด ซึ่งดำเนินไปอย่างซับซ้อน กระทั่งสุดท้ายไฟสงครามก็ลุกท่วมทั้งแผ่นดินสหราชอาณาจักรคีรีรัฐ
นี้เป็นประวัติศาสตร์ไทยช่วงหนึ่งที่ไม่ควรลืม เป็นอุทาหรณ์บอกให้รู้ถึงความเจ็บปวดที่คนไทยกระทำสงครามระหว่างกันเอง เป็นความหายนะที่ตั้งต้นเกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ชี้ให้เห็นความร้ายแรงที่คาดหมายไม่ได้สำหรับวิชามารตอแปลไทย ที่ยังกลายเป็นวัฒนธรรมครอบงำด้านสามานย์ ซึ่งสืบต่อช่วงมาจนถึงปัจจุบัน ?
นี่เป็นเพียง บางส่วน บางตอน จากหนังสือ กำเนิดพระนางตอแหล เวอร์ชั่น เรืองยศ จันทรคีรี