การฟอร์มรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามลำดับ ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนที่สามารถกวาด ส.ส.ได้มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียง 233 ที่นั่ง ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
แม้ตัวเลข 233 ยังไม่นิ่ง เพราะต้องรอบทสรุปในการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ก็ถือเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.จำนวนมากเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ ส.ส.ห่างกันกว่า 60 ที่นั่ง
แต่ตัวเลขของพรรคพลังประชาชนก็ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด
ดังนั้น สถานการณ์ความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาลจึงดำเนินขึ้น ท่ามกลางการต่อรองทุกรูปแบบทุกปัจจัย เพื่อรวมรวบพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ "รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ" ตามที่ "นายใหญ่" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ออกชิมลางล่วงหน้าก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม
โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์ ศัตรูขู่อาฆาต ให้เป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคการเมืองเดียวอีกหนึ่งสมัย ด้วยคะแนนเสียง 165 เสียง
ส่วนฝากรัฐบาลด้วยจำนวน 315 เสียงจากพรรคพลังประชาชน รวมใจไทยชาติพัฒนา ประชาราช มัชฌิมาธิปไตย
ส่วนพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ถึงแม้จะยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ แต่จากการประสานเป็นการภายในและท่าทีการแสดงอออกของทั้ง 2 พรรค คงจะร่วมเป็นหนึ่งในรัฐบาลใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่กว่าที่จะมาร่วมรัฐบาลได้นั้น พรรคการเมืองต่างงัดกลยุทธ์ออกมาชิงไหวชิงพริบกันอย่างเต็มที่
เริ่มจากพรรคการเมืองที่ออกสตาร์ตเป็นพรรคแรก จะเป็นพรรคใดไม่ได้นอกจากพรรคชาติไทย เจ้าของฉายา "พรรคปลาไหล" ที่หลังจากกลับลำประกาศแยกทางกันเดินกับพรรคประชาธิปัตย์ อดีตพรรคพันธมิตร ก่อนการเลือกตั้งก็ตั้งท่าจะไหลกลับมาชื่นมื่นกับพรรคพลังประชาชน เพื่อขอพรรครัฐบาลร่วมกัน โดยมีกระแสข่าวว่าพรรคชาติไทยได้ยื่นเงื่อนไขขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการร่วมรัฐบาล
แต่เงื่อนไขข้อนี้กลับไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะพรรคพลังประชาชนเห็นว่า เป็นการขอที่มากเกินกว่าที่จะให้ได้ แกนนำของพรรคพลังประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจต่อท่าทีของนายบรรหารอยู่แล้ว ได้เสนอไม่ให้นำพรรคชาติไทยมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
แต่พรรคชาติไทยอาศัยความเก๋าเกมทางการเมือง รีบรวบรัดจับมือทำสัญญาใจกับพรรคเพื่อแผ่นดิน ประกาศเป็นพันธมิตรกันทางการเมือง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ กับพรรคพลังประชาชน แต่หนทางเดินสู่ทำเนียบรัฐบาลของสองพรรคการเมืองไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตามที่คาดการณ์ไว้
เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน มีภาพที่ยืนตรงข้ามพรรคพลังประชาชน และ พ.ต.ท.ทักษิณ มาโดยตลอด แถมยังมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ "อำนาจพิเศษ" และบุคคลระดับสูงในประเทศ ซึ่ง "บิ๊กเติ้ง" เองก็เคยออกมาระบุว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันมากว่า 30 ปีผิดหวัง"
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนชัยชนะจากการเลือกตั้งตกเป็นของพรรคพลังประชาชน
ทั้งสองพรรคจึงจำเป็นต้องหาเหตุผลมารองรับการแปรพักตร์ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน
เงื่อนไข 5 ข้อของพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจึงถือกำเนิดขึ้น คือ 1.ต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ต้องไม่ก้าวล่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 3.ต้องไม่มีการล้างแค้น 4.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องไม่มีการแทรกแซงและก้าวก่าย 5.ต้องไม่ยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
แต่เกมนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่ทั้ง 2 พรรคตั้งความหวังเอาไว้ เพราะพลันที่เงื่อนไข 5 ข้อนี้เข้าหูนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ผู้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มขวาจัดได้ออกมาตอบโต้อย่างทันควัน เพราะเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้มีการตีความได้ว่าพรรคพลังประชาชนไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นการไม่สมควรที่นำสถาบันเบื้องสูงมาต่อรองทางการเมือง
ในห้วงเวลานั้นเอง "คอการเมือง" ทั้งหลายฟันธงได้ทันทีว่า ประตูการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนของพรรคชาติไทยได้ปิดลงแล้ว
แต่ยังไม่ทันข้ามคืน เกมการจับขั้วก็พลิกผันอีกรอบ เมื่อนายบรรหาร ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ภายหลังเกิดอาการโลกหมุนที่มีสาเหตุเกิดจากความเครียด จนความดันพุ่งสูง บรรดาแกนนำพรรคพลังประชาชน นำโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคและน้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำพรรคหลายคน ตบเท้าเข้าเยี่ยม "บิ๊กเติ้ง" อย่างพร้อมเพรียง ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคพลังประชาชนส่งตัวแทนเข้าพบนายบรรหารอย่างเปิดเผย ทำให้บรรยากาศที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในวันนั้นเป็นไปด้วยความชื่นมื่น
ซึ่งพรรคพลังประชาชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอีกต่อไป พลิกเกมย้อนกลับ 2 พรรคพันธมิตร ด้วยการจับ 3 พรรคการเมืองขนาดเล็กมาเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ประกาศจัดตั้งรัฐบาลด้วยจำนวน 254 เสียงในเบื้องต้น
กลวิธีนี้ส่งผลให้ 2 พรรคพันธมิตรไม่สามารถดิ้นไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ได้แล้ว เนื่องจากคะแนนเสียงการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมีเกินกึ่งหนึ่ง
ส่วนความคืบหน้าการจัดคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลชุดปีใหม่นี้ วงในพรรคพลังประชาชนเล่าว่า พรรคจะขอดูแลในกระทรวงหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและมวลชนเอง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะแต่งตั้งให้ "คนนอก" ที่มีความสามารถและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มากกว่าที่จะแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ของพรรค
เพื่อเป็นการป้องกันหาก กกต.แจกใบแดงให้พรรคเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อความเข้มแข็งของรัฐบาล กรณีที่ ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่มีสิทธิลงมติซักฟอกเรื่องที่ตัวเองเกี่ยวข้องได้ และเพื่อสร้างภาพให้สาธารณชนได้เห็นว่ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนอาสาเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
หลายคนที่มีอคติคงต้องถึงเวลายอมรับและทำใจหากประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "สมัคร สุนทรเวช" เพราะเป็นนายกฯที่มาตามครรลองกติกาประชาธิปไตย ที่สากลถือว่าเสียงสวรรค์ของประชาชนเป็นใหญ่
หรือถ้าทนไม่ได้ต้องการนายกรัฐมนตรีที่ตนเองต้องการ ที่มาจากนอกกติกาที่วางไว้ ก็ต้องออกมาป่าวร้องโหยหาอำนาจนอกระบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากระบอบประชาธิปไตยอีกซักครั้ง โดยเอาประเทศชาติเป็นเดิมพัน
แต่ใครจะกล้าลองและกล้าทำเท่านั้น...
จาก http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php