เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงจะอิดหนาระอาใจ กับการดิ้นเฮือกสุดท้ายของผู้เฒ่าทางการเมือง เพื่อต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ใครต่อใครเคยมองว่าเป็นมังกรการเมือง วันนี้เป็นแค่ปลาไหลชรา แถมยังโหยหิวอีกต่างหาก เพราะในรัฐบาลครั้งหน้า ก็จะเป็นฝ่ายค้านติดต่อกัน 2 สมัย
คงไม่ใช่แค่อดอยากปากแห้งอย่างที่นายบรรหารเคยพูดไว้ เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ก็เข้าใจล่ะครับว่า ผู้เฒ่าทางการเมืองอย่างนายบรรหาร พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และ นายวัฒนา อัศวเหม เวลาที่จะเดินบนถนนการเมืองเหลือน้อยเต็มที หรือแทบไม่มีอีกแล้วด้วยซ้ำไป
หากเป็นนักการเมืองชราที่เป็นฝ่ายค้าน ย่อมจะเหงาเป็นธรรมดา เพราะลูกหลานไม่อยากจะเข้าไปหา บารมีก็จะถดถอยน้อยลงไปทุกวัน แล้วจะฝ่อไปเอง
ทางกลับกัน ถ้าเป็นรัฐบาล อย่างน้อยก็ยังมีนักธุรกิจหรือ ส.ส. แวะเวียนไปทักทาย เพราะเข้าหารัฐมนตรีที่กระทรวงไม่ได้ มาหาผู้เฒ่าดีกว่า ทำให้หัวใจผู้เฒ่ากระชุ่มกระชวยได้บ้าง
นี่คือเหตุและผลที่ทำให้ผู้เฒ่าการเมือง 3 ท่าน ดิ้นรนจนน่าอิดหนาระอาใจ โดยเฉพาะ นายบรรหาร ศิลปอาชา ถึงกับแสดงอาการเกรี้ยวกราดไล่นักข่าวที่ถามคำถามจี้ใจดำออกจากพรรค
เพราะสิ่งที่เดินเกมอยู่ไม่ได้ดั่งใจ เวลาที่จะเล่นการเมืองไม่เหลือแล้ว จึงเกิดอาการหงุดหงิดอย่างที่เห็นๆ
จริงๆ แล้วเมื่อฟังสาเหตุแล้วน่าจะสงสารนายบรหารและคณะผู้เฒ่า แต่หากคิดรอบด้าน นายบรรหารต่างหากที่กำหนดขึ้นมาทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้ส่งไมตรีไปล่วงหน้า แต่กลับขยี้ไมตรีทิ้ง เพราะมั่นใจว่าพรรคพลังประชาชนสู้ไม่ได้
ส่วนกรณีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีเวลาอีกยาวไกลที่จะเดินบนถนนการเมือง แต่การดิ้นรนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น
น่าขยะแขยงกว่าพฤติกรรมของท่านผู้เฒ่าทางการเมืองเสียอีก
นายสุเทพผ่านเส้นทางการเมืองมานาน จนก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด น่าจะรู้ดีว่าจำนวน ส.ส. ที่ได้มา ไม่ว่าจะจัดสูตรไหน ถึงแม้จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 240 เสียง แต่เกินมาแค่ 7 คนเท่านั้น
ยกเว้นคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใบแดงพรรคพลังประชาชนสัก 25 ใบ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้
เมื่อจำนวน ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งเพียง 7 คน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะให้สิทธิ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ โดยไม่พ้นสภาพการเป็น ส.ส. แต่ไม่สามารถที่จะใช้เสียงของตัวเองในการยกมือสนับสนุนญัตติที่เกี่ยวพัน เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ
หากจะเอาคนนอกมาเป็นรัฐมนตรี ต้องถามตัวเองก่อนว่า ตัวนายสุเทพจะยอมหรือที่ไม่ขอเป็นรัฐมนตรี
ก็เปล่าทั้งเพ
แล้วไม่รู้จะดิ้นรนไปหาพระแสงอะไร ให้ประชาชนคนไทยพากันอิดหนาระอาใจ
ประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกคว่ำกลางสภา ก่อนที่จะบริหารราชการแผ่นดินเคยมีมาแล้วไม่ใช่หรือ ในสมัยที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็ถูกคว่ำทันทีในการแถลงนโยบายรัฐบาล
นั่นแหละ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มี ส.ส. 18 คน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีต้องยุบสภา
ประวัติศาสตร์ของประชาธิปัตย์เคยบันทึกไว้แล้วมิใช่หรือ
หรือว่ากระสันที่จะเป็นรัฐบาล จนลืมความสำนึกผิดชอบชั่วดี เหมือนตอนที่แจก สปก.4-01 ให้กับเศรษฐีภูเก็ต ซึ่งเป็นสามีของเลขานุการของตนเอง กระนั้นหรือ
ล่าสุดประกาศ หากวันที่ 4 มกราคม ปีหน้า พรรคพลังประชาชนไม่สามารถจัดรัฐบาลได้ ก็จะขึ้นมาจัดรัฐบาลแข่งอีก ไม่รู้จะเอาจำนวน ส.ส. ที่ไหนมาเพิ่มให้เกินครึ่งหนึ่ง มากพอที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
จำนวน ส.ส. มีจำนวนจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ 480 คน ต่างจากบัตรผีที่กากบาทไว้ล่วงหน้าเท่าไรก็ได้ แต่อย่าให้เกินจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งเท่านั้น แล้วนำมาปนกับบัตรของคนที่ไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง นะขอรับ
ตอนแรกมีคนพูดให้ฟังว่า ที่นายสุเทพดิ้นรนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เกรงว่าจะถูกสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เปิดเกมให้นายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เหมือนที่ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ทำตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว เมื่อการเลือกตั้งแพ้พรรคไทยรักไทย
เป็นเหตุผลที่พอฟังได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว แต่มาคิดอีกที ใครล่ะจะไปเดินเกมให้หัวหน้าพรรคที่รูปหล่อที่สุด แสดงสปิริตลาอออก
อายุก็ยังน้อย ยังมีเวลาเดินบนถนนการเมืองอีกนาน รอเวลาอีกไม่นานนักการเมืองเก่าๆ จะเลิกกันหมด ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจ
ตามที่นายสุเทพพูดไว้ ชาวบ้านเปิดทีวีเห็นหน้านายกรัฐมนตรีหล่อๆ ดูแล้วสบายตา
แต่จะทำงานเป็นหรือไม่เป็น ค่อยว่ากันอีกที