ผลการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรนูญชุดใหมจากผู้เข้าประกวดชายงามทั้งสิ้น 22 คน ก็เลือกได้ตัวจริง 4 คนครบสเปคทุกประการ
แยกเป็นสายนิติศาสตร์ 2 คน ได้แก่ “จรัญ ภักดีธนากุล” ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์
โผออกมาตรงเป๊ะอย่างที่ “แม่ลูกจันทร์” ทำนายล่วงหน้าไว้เลย
ส่วนสาขารัฐศาสตร์ ได้แก่ “สุพจน์ ไข่มุกด์” และ “เฉลิมพล เอกอุรุ” อดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศทั้งคู่ กลายเป็นม้ามืดแหกโค้งเข้าวิน
เล่นเอาบรรดาตัวเก็งๆผิดหวังไปตามๆกัน
สรุปว่าทั้ง 4 คนนี้ คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญที่ผ่านการสรรหาโดยตรงและมีความเหมาะสมดี
แต่ยังต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมาอีก 3 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง สูงสุดเลือกมาอีก 2 คน ก็จะได้ตุลาการ รัฐธรรมนูญชุดใหม่ครบ 9 คนตามกติกา
อย่างช้าไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน
เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่มีงาน สำคัญรอการตัดสินใจ
คือคดียุบพรรคการเมือง
อนาคตพรรคชาติไทย? พรรคมัชฌิมาฯ? พรรคพลังประชาชน? อยู่ในกำมือของคนทั้ง 9 คนจะเป็นผู้ชี้ชะตา
แต่ดูแนวโน้มก็ไม่น่าจะรอดสันดอน??
เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่มีอดีต ส.ส.ร. ซึ่งเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. อยู่ถึง 2 คน!!
แถมเป็นผู้สนับสนุนเพิ่มโทษยุบพรรค การเมือง
ฉะนั้น ถ้า กกต.ส่งคดียุบพรรคให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้พิจารณา
โอกาสจะโดนยุบพรรคก็ใกล้ความจริง!!
คือตัดสินโดยใช้หลักนิติศาสตร์เป็นแนวทาง
เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ยุบพรรคก็ต้องยุบพรรคสถานเดียว
จะหวังให้ใช้หลักรัฐศาสตร์มาถ่วงดุล หรือให้พิจารณาผลกระทบต่อประเทศที่จะเกิดขึ้นจากการยุบพรรคการเมือง
“แม่ลูกจันทร์” ดูแล้วคงยากส์ บอกตรงๆ
สรุปว่า หลังได้เห็นโฉมหน้าของผู้ที่จะตัดสินคดี ก็พอมองเห็นอนาคตว่าคดียุบพรรคจะจบอย่างไร??
โหงวเฮ้งบ่งชี้ว่ายุบพรรคชัวร์
ฉะนั้น ฝ่ายที่จะโดนยุบพรรคก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดไม่ให้ถูกฆาตกรรมหมู่ ทางการเมือง
ด้วยการรีบชิงจังหวะขอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เขียนเปิดช่องให้ยุบพรรค การเมืองง่ายเกินไป
หลักการคือ ผู้กระทำความผิดทุจริตเลือกตั้งยังถูกลงโทษอย่างเดิม
แต่ความผิดส่วนบุคคลจะไม่ถูกโยงเป็นเหตุยุบพรรคการเมือง
อนึ่ง ตอนแผนแรก รัฐบาลจะลุยถั่วแก้ฉุกเฉินมาตราเดียว
เพราะถ้าแก้ไขพร้อมกันหลายประเด็นก็ต้องใช้เวลาพิจารณากันยาว
ยิ่งแก้หลายประเด็น ก็ยิ่งเพิ่มกระแสคัดค้านให้บานปลาย
แต่ก็มีเสียงทักท้วงว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 อย่างเดียวมันโจ๋งครึ่มเกินไป
เพราะรัฐบาลได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
ฉะนั้น ไหนๆจะแก้แล้วก็ควรแก้ไขให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยในหลักการ คือควรแก้ให้ครบวงจร
ประเด็นไหนไม่ดี ก็แก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์
โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งต้องรื้อทิ้งหมดทั้งยวง
แต่การจะแก้รัฐธรรมนูญครั้งเดียวให้ครบวงจรก็ต้องใช้เวลา กว่าจะตกลงกันได้ว่าจะแก้ตรงไหนบ้างคงต้องเถียงกันอีกนาน
ถ้าแก้ไม่ทันโดนยุบพรรคซะก่อน ก็หมดท่าละโยม.
“แม่ลูกจันทร์”