WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, March 27, 2008

‘ยุบพรรค’ ในสายตานักการเมือง และความกังวลของนักกฎหมาย

กระแสการยุบพรรคการเมือง เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลใจของหลายฝ่าย ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของพวกจ้องล้มรัฐบาล ที่มีเครือข่ายโยงใยเป็นขบวนการ มีพฤติกรรมสอดรับกับอีกหลายเรื่องราวในการบ่อนทำลายประชาธิปไตย และทำลายระบอบการเมืองที่มาจากเสียงของประชาชน

ในปีกของพรรคชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรค มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า เป็นความบกพร่องหรือเป็นหลุมพรางของรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เพราะเป็นการจงใจที่ทำให้การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่ายเกินไป

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน ที่แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณายุบพรรคเหมือนอย่างชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย แต่ก็แท้ที่จริงแล้วอาจจะเป็นเป้าหมายหลัก หากพิจารณาถึงความพยายามในการสกัดกั้นหรือจ้องทำลายกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง มาจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล และต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งบรรดาสมาชิกพรรคพลังประชาชน ไล่เรียงมาตั้งแต่หัวหน้าพรรค อย่างนายสมัคร สุนทรเวช ก็เห็นไม่แตกต่างกันว่าเป็นเรื่องของ “มือที่มองไม่เห็น” หรืออาจจะเสริมด้วยนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ว่าอาจจะหมายถึง “เท้าที่มองไม่เห็นด้วย” เหมือนเป็นพวกที่มือไม่พายแต่กลับเอาเท้าราน้ำ

นอกจากนี้ประเด็นของการยุบพรรคดังกล่าว ก็ยังเป็นที่ห่วงใยของภาคประชาชน และชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ที่ไม่อยากเห็นการสะดุดหรือการชะงักงันทางการเมือง เพราะเศรษฐกิจของชาติทุกวันนี้ก็แย่เต็มทีอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับนักกฎหมาย ที่มีการแสดงความเป็นห่วงอย่างกว้างขวาง เหมือนอย่างคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และ อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 เพื่อยุบพรรคการเมือง เพราะเท่ากับความผิดของบุคคลคนเดียวนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมากซึ่งไม่ได้ทำผิด เป็นการขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล

ทั้งยังมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองตามมา โดยฉพาะมาตรา 237 ที่บัญญัติไว้ให้เกิดการยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย

อีกทั้งยังมองว่าพรรคการเมืองนับเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน การรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพอันจะขาดเสียมิได้ ตามหลักกฎหมายที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปในนานาอารยะประเทศ

เพราะฉะนั้นการยุบพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเหตุอันจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปแล้วเท่านั้น

เพราะการยุบพรรคการเมืองนอกจากจะทำลายสถาบันทางการเมืองลงแล้วยังมีผลเป็นการทำลายเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อสร้างเจตจำนงทางการเมืองของราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกด้วย

ดังัน้นหากพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบกับความเห็นของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางท่านแล้ว กรณีอาจเปนไปได้ว่าเมื่อกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนหนึ่งกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว รัฐธรรมนูญให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้น และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจสั่งยกเลิกการกระทำได้ เพราะการกระทำได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะต้องวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองนั้น และต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นทุกคนเป็นเวลาห้าปี

การตีความกฎหมายในลักษณะเช่นนี้จึงดูเหมือนจะเป็นความเข้าใจในหมู่ของบุคคลที่มีบทบาทชี้นำสังคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้ ในทางนิติศาสตร์ การใช้และการตีความกฎหมายไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การอ่านถ้อยคำของกฎหมายหรือการสอบถามความเห็นของผู้ร่างกฎหมาย แล้วให้ความหมายของบทกฎหมายนั้นตามถ้อยคำหรือตามความต้องการของผู้ร่างกฎหมายเท่านั้น

ถึงแม้ว่าถ้อยคำของบทกฎหมายจะเป็นปฐมบทของการตีความกฎหมายทุกครั้ง แต่การตีความกฎหมายก็ไม่ใช่การยอมตนตกเป็นทาสของถ้อยคำ ถึงแม้ว่าความเห็นของผู้ร่างกฎหมายจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาคำนึงประกอบในการค้นหาความหมายของบทกฎหมาย แต่ความเห็นของผู้ร่างกฎหมายก็ไม่ใช่เครื่องชี้ขาดความหมายของบทกฎหมายบทนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ร่างกฎหมายได้ร่างกฎหมายขัดแย้งกันเองในกฎหมายฉบับเดียวกัน

และเมื่อดูเฉพาะการตีความกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกับการยุบพรรคการเมืองที่กล่าวมาข้างต้น หากตีความตามถ้อยคำหรือตีความตามความประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางท่าน ก็เท่ากับว่าการกระทำความผิดของบุคคลเพียงคนเดียวย่อมนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วยสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีการยุบพรรคการเมืองแล้ว ก็จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด

ถึงแม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้มีส่วนผิดในการกระทำนั้น เท่ากับตีความกฎหมายเอาผิดบุคคลซึ่งไม่ได้กระทำความผิดซึ่งขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ประเด็นที่ผู้สนับสนุนการตีความกฎหมายเอาผิดกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนและการให้ยุบพรรคการเมือง แม้กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเพียงคนเดียวเป็นผู้กระทำความผิดอาจหยิบยกขึ้นอ้างก็คือ รัฐธรรมนูญบัญญัติ “ให้ถือว่า” พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

คำว่า “ให้ถือว่า” เท่ากับไม่เปิดช่องให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถตีความกฎหมายเป็นอย่างอื่นได้ และเท่ากับผู้ร่างกฎหมายทำตัวเป็นผู้พิพากษาเสียเองแล้ว

เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นโดยฝ่าฝืนกับหลักเหตุผลเช่นนี้ ในการตีความรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ตีความจึงต้องตีความกฎหมายไปในทางแก้ไขให้สอดรับกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญนั้นมีทั้งบทบัญญัติที่เป็นคุณค่าพื้นฐานและบทบัญญัติที่เป็นรายละเอียด บทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญย่อมได้แก่ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักราชอาณาจักรที่เป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับรองไว้ในมาตรา 291 ห้ามมิให้เสนอญัตติขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญได้ยกคุณค่าของเรื่องดังกล่าวนี้ให้สูงกว่าบทบัญญัติอื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ในมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้บัญญัติให้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และบทบัญญัติในมาตรา 29 ก็บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ การจำกัดตัดทอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

เมื่อพิเคราะห์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำย่อมขัดกับคุณค่าพื้นฐานในตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งหมายความว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามหลักการที่ตนเองได้ประกาศไว้ เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิด จะถือว่าเป็นการกระทำตามหลักนิติธรรมไม่ได้

ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคผู้หนึ่งกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้วถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยที่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ย่อมถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของพรรคการเมืองนั้น

นอกเหนือจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว หากพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วจะตีความกฎหมายให้ดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้นโดยอัตโนมัติ ผลในทางกฎหมายก็เสมือนกับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นผู้มีอำนาจยุบพรรคการเมืองนั้นเองในทางความเป็นจริง เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยศาลฎีกาได้ตีความรับรองไว้ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดไม่อาจถูกตรวจสอบได้

หากยึดติดกับถ้อยคำตามกฎหมายแล้ว เมื่อมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กลไกการยุบพรรคการเมืองจะตามมาทันที และหากไม่ตีความรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวมาแล้ว แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็อาจจะไม่มีดุลพินิจที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้

ที่สำคัญกลไกทางกฎหมายที่ได้รับการออกแบบไว้โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แม้ว่าอาจจะเกิดจากความหวังดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะขจัดการทุจริตการเลือกตั้ง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดและรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุ

การดำเนินการกับผู้ทุจริตการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ แต่ต้องดำเนินการกับบุคคลนั้น ไม่ใช่กับพรรคการเมืองหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย

นอกจากนี้นักกฎหมายยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลจากการทำรัฐประหาร บุคคลที่เข้าไปมีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นแม้บางท่านจะมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แต่จากวิกฤติการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ทำให้บุคคลเหล่านั้นกลายเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็นหลายมาตรา ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งฉบับจึงเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำโดยเร็ว

นอกจากนี้กลุ่มนักกฎหมายยังได้เรียกร้องให้บรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันในอันที่จะดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศนับถือ และไม่ควรจะจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นขอยืนยันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติ จึงไม่ควรแก้ไขหรือยังไม่ควรแก้ไขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่จงใจละเลยบริบทของการออกเสียงประชามติที่ประชาชนจำนวนมากถูกบีบบังคับโดยเทคนิคทางกฎหมายให้ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน

เป็นการทำไปเพื่อให้ประเทศพ้นจากสภาวะของรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนออกเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่าสิบล้านเสียง