คอลัมน์ : วิภาคแห่งวิพากษ์ มอง วิกฤต สังคม ผ่าน รากฐาน รัฐธรรมนูญ อะไรคือปัญหา คือทุกข์ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ล้วนถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นต้นตออันก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่ามองมาจากมุมใด และเป็นการมองของใคร หากมองจากมุมของพรรคประชาธิปัตย์ มองจากมุมของ คปค. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีส่วนอย่างสำคัญในการเปิดทางให้สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" เติบใหญ่ ขยายตัวและได้ขึ้นไปอยู่ในฐานะผู้ยึดครองอำนาจ จึงได้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้ม จึงได้นำไปสู่การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทิ้ง ตรงนี้เองคือรากที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ขณะเดียวกัน เมื่อมองจากมุมของพรรคพลังประชาชน มองจากมุมของพรรคชาติไทย มองจากมุมของ พรรคมัชฌิมาธิปไตย รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ร่างโดยการควบคุมและบงการของคณะรัฐประหาร ต่างหากที่เป็นตัวปัญหา เพราะไม่เพียงแต่คงอำนาจของอำมาตยาธิปไตย หากยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างกับดักและวางยาอันนำไปสู่ความอ่อนแอของพรรคการเมือง ตรงนี้เองที่เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลต้องรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประเด็นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอันเป็นความต่างไปจากสถานการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อทำลายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 การเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การโค่นสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" เป้าหมาย 1 คือ การโค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป้าหมาย 1 คือ การโค่นพรรคไทยรักไทย และ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ออกจากสารบบทางการเมือง เครื่องมือที่นำเสนอในการโค่นและทำลาย คือ เครื่องมือ "รัฐประหาร" จากนั้นก็มีการออกประกาศจำนวนมากมาย ยอมรับสถานะ ป.ป.ช. ยอมรับสถานะ กกต. จัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเสมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ จัดตั้ง คตส.เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะ จากนั้นก็ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผด็จศึกต่อสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ที่สำคัญก็คือ การยอมรับโครงสร้างแห่งอำนาจจากการรัฐประหารให้ดำเนินต่อไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตรงนี้เองที่ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดดเด่นในฐานะอาวุธของคณะรัฐประหาร ความโดดเด่นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น ด้านหนึ่งโดดเด่นในฐานะอันเป็นเครื่องมือที่ตกค้างมาจากกระบวนการรัฐประหาร ด้านหนึ่ง ได้ทำให้ตัวของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นปัจจัยหลักในทางการเมือง ถามว่าเหตุใดข้อเสนอในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผลักดันโดย 6 พรรคร่วมรัฐบาลจึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งใหม่ ที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าอาจจะกลายเป็นวิกฤตใหม่ขึ้นมาได้ คำตอบเพราะว่ามุมมองต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีความแตกต่างกัน คู่ความขัดแย้งอาจยังเหมือนเดิมอย่างที่เคยปรากฏขึ้นก่อน และภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ปัจจัยอันถือว่าเป็นตัวสุดท้าย เป็นตัวปัญหา ก็มีความแปรเปลี่ยน แปรเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้ง ขณะที่รากฐานที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาจากสภาร่างฯ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน รากฐานที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาจากสภาร่างฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ความแตกต่างในเรื่อง "รากฐาน" ของรัฐธรรมนูญนี้เองที่เสนอคำถามแหลมคมยิ่งต่อสังคม ขณะเดียวกัน ก็สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทางเนื้อหาระหว่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หากนำเอาหลักแห่งอริยสัจ มาทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่เข้าใจว่าอะไรคือตัวทุกข์ ตัวปัญหา ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะรับรู้ได้ถึงมรรคหรือกระบวนการในการแก้ปัญหา ในการดับทุกข์ โอกาสที่จะนิโรธย่อมมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นอยู่ที่ว่ารากฐานของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาจากเหตุปัจจัยอะไร