WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 26, 2008

คำเตือนจาก “ประวิตร” ถึงคนที่คิดจะร่วมม็อบ

โดย : ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ส่งคำเตือนก่อนเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรฯ ระวังอย่าตกไปเป็นหางเครื่องให้กับการก่อรัฐประหารครั้งใหม่ หากร่วมชุมนุมคุณควรเรียกร้องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

1. ระวังอย่าตกไปเป็นหางเครื่องให้กับการก่อรัฐประหารครั้งใหม่

กลุ่มที่เรียกตนเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อ “ประชาธิปไตย” ได้มีบทบาทสำคัญทั้งทางตรงและอ้อมในการสนับสนุนให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ การเข้าร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ (ถ้าคุณอยากเข้าร่วมจริง) จึงต้องเข้าร่วมอย่างมีสติ เพราะว่าบรรดาแกนนำพันธมิตรฯ ดูจะชื่นชอบรัฐประหารและระบอบทหารเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่นำขบวนผู้ประท้วงไปยื่นจดหมายกลางดึกแก่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในคืนวันที่ 4 ก.พ. 49 และขอให้ทหารยืนอยู่ “ข้างประชาชน” ซึ่งคงไม่ต้องแปลต่อไปอีกว่า มันหมายความว่าอย่างไร

หลังเกิดรัฐประหารได้ไม่กี่เดือน (7 ม.ค. 2550) ก็มีงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จในหมู่สมาชิกพันธมิตรฯ “ผู้สูงศักดิ์” และภาพถ่ายภาพหนึ่งที่รั่วออกมาก็คือภาพที่นายสุริยะใสยืนถือแก้วเครื่องดื่ม ร่วมกับผู้นำรัฐประหารคนหนึ่งชื่อ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

ก่อนเกิดรัฐประหารหลายเดือน ช่วงที่พันธมิตรฯ นัดชุมนุมที่โน่นที่นี่ ดร.วุฒิพงศ์ เพรียบจริยวัฒน์ ได้เคยตอบผู้ชุมนุมผู้หนึ่งที่ถาม ณ จุดประท้วงหน้าสถานทูตอังกฤษในตอนนั้นว่า เมื่อไหร่พันธมิตรฯ จะชนะซักที ซึ่งผู้เขียนอยู่ ณ ที่นั้น และได้ยินนายวุฒิพงศ์ตอบแก่ผู้ชุมนุมคนนั้นว่า ไม่ต้องห่วง มันเหมือนมวย ชกแย็บไปเรื่อยๆ เดี๋ยวหมัดน็อกเอาท์มีคนอื่นจัดให้เอง ซึ่งในที่สุด ทุกคนคงทราบว่าใครเป็นผู้จัดหมัดน็อกเอาท์ให้

ข้อมูลล่าสุด ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์นายวีระ สมความคิด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายวีระยืนยันว่า ช่วงพันธมิตรฯ ตัดสินใจเรื่องจะเอารัฐประหารและธงเหลือง (ม.7) หรือไม่นั้น บรรดาแกนนำพันธมิตรฯ 20 คนที่ร่วมประชุม มีเพียงสามคนที่บอกว่าไม่เอา “เราไม่ได้เป็นตัวสร้าง (รัฐประหาร) เราไม่เคยรู้และไม่เคยเรียกร้อง ในแกนนำพันธมิตรฯ 20 คน มีอยู่สองสามคนเท่านั้นที่ประกาศตัวชัดเจนไม่เอา ม.7 และไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารจะมาปฎิวัติเพราะประชาชนเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง คือ ผม หมอเหวง โตจิราการ และจ๋า (ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์) ที่เหลือเขาจะเฉยๆ ไม่ว่าเป็นพิภพ ธงไชย สุริยะใส หรือสมศักดิ์ โกศัยสุข เขาก็เห็นว่า ถ้ามันจำเป็นก็คงรับได้มั้ง แต่ผมเชื่ออยู่อย่างว่าพวกนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้ทหารปฎิวัติ”

อย่างไรก็ตาม นายวีระยังพูดเสริมอีกว่า ถึงแม้รัฐประหาร 19 กันยาฯ เป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” และเป็นการ “ซ้ำเติมบ้านเมือง” แต่ก็ยังได้เสริมว่า หากมีรัฐประหารอีกโดยทหารดำเนินการกวาดล้าง “ความเลวร้าย” อย่างเด็ดขาด ก็รับได้ “ถ้าทหารจะทำปฎิวัติก็ต้องคิดใหม่ ถ้าจะทำแบบ คมช. อย่าทำเลย ซ้ำเติมบ้านเมือง ถ้าจะทำคุณต้องเด็ดขาด และใช้อำนาจเด็ดขาดของคุณไปจัดการกับความเลวร้าย แต่ไอ้สิ่งที่พูดยังไม่เคยเห็นทหารชุดไหนทำได้... และก็ไม่เชื่อว่าจะมี”

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ หลายคนคงทราบดีว่า ครป. นำโดยนายสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งเป็นโฆษกพันธมิตรฯ นอกจากจะมิได้ต่อต้านการรัฐประหารและระบอบเผด็จการทหารแล้ว ยังทำตัวคล้ายกับเป็นโค้ชกิตติมศักดิ์ให้กับเผด็จการทหาร โดยแนะนำว่าควรทำโน่นทำนี่ผ่านสื่อเป็นระยะๆ พอมาช่วงหลังนายสมัคร สุนทรเวชขึ้นเป็นนายกฯ และมีรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเป็นใหญ่ นายสุริยะใสก็ได้ออกมาพูดอีกทำนองว่า ความขัดแย้งของสังคมอาจนำไปสู่การปฎิวัติได้อีก โดยที่ไม่พูดออกมาว่า หากเกิดขึ้นอีก พวกนายสุริยะใสและพันธมิตรฯ จะมีจุดยืนเช่นไร จะรับผิดชอบอย่างไร (หรือรับประโยชน์อย่างไร) หรือจะออกมาต่อต้าน (หรือต้อนรับ) อย่างไร

ในหนังสือเล่มล่าสุดของนายคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งเป็นลูกจ้างนายสนธิ ทำงาน ณ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ นายคำนูณได้เขียนอารัมภบทไว้ว่า หากมิเกิด “ปรากฎการณ์สนธิ” ตนก็คงไม่ได้เข้าสู่สภาหินอ่อน ซึ่งก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เผด็จการทหารแต่งตั้งนั่นเอง มิหนำซ้ำ ตอนนี้ก็ยังได้เป็น ส.ว.สรรหา ตามรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารอีก

2. หากร่วมชุมนุมคุณควรเรียกร้องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผู้เขียนได้เคยถามนายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ว่าเรื่องชูธงเหลือง หรือ ม.7 นั้นแท้จริงแล้ว 5 แกนนำพันธมิตรฯ ตัดสินใจกันอย่างไร เพราะสาธารณะไม่มีส่วนได้รับรู้เลย และผู้ร่วมชุมนุมมีโอกาสก็แค่เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาด้วยแค่นั้นเอง นายสมศักดิ์ ตอบว่ามีการโหวตกันอย่างลับๆ 5 คน เสียงออก 3 เอา 2 ไม่เอา และแกอ้างว่า แกอยู่ 1 ใน 2 เสียงส่วนน้อย แต่กำชับกับผู้เขียนว่า แต่อย่าไปบอกผู้อื่น เพราะเดี๋ยว “ไอ้สนธิมันด่าพี่”

ผู้เขียนต้องขอโทษนายสมศักดิ์ ณ ที่นี้ แต่ข้อมูลนี้ถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเผย ในเมื่อพันธมิตรฯ ยังยืนกรานที่จะลากสังคมไปสู่ทิศทางที่พวกตนต้องการด้วยวิธีเดิมต่อไป

ผู้เขียนยังจำได้ว่า ตอนพันธมิตรฯ ก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นได้ยิงคำถาม (ในฐานะนักข่าว) ไปยัง 5 แกนนำพันธมิตรฯ เพื่อสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่นายพิภพ ธงไชย กลับได้เดินมาโวยวายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น และต่อว่าว่าทำไมถึงถามคำถามแบบนั้น แถมยังพูดเสริมว่า เขานึกว่า “เราเป็นพี่น้องกัน” ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนนั่งอยู่ข้างๆ นายเดช พุ่มคชา เอ็นจีโอระดับซีเนียร์ท่านหนึ่ง ได้ฟังเช่นนี้ ผู้เขียนจึงตอบกลับไปว่า propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อนั้น ไม่ว่าจะมาจากปากฝ่ายไหนก็คือโฆษณาชวนเชื่อ ผู้เขียนจะไม่เชื่ออย่างเซื่องๆ เด็ดขาด

เรื่องนี้คงทำให้นายพิภพโกรธมิน้อย เพราะตอนหลังเมื่อมีโอกาสได้คุยกับผู้อุปภัมถ์กลุ่มพันธมิตรฯ อาวุโส อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ อาจารย์ก็ได้ติงว่าอย่าได้ทำอะไร (เชิงตรวจสอบและวิพากษ์) ตอนนี้เพราะสถานการณ์กำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน (จึงควรปล่อยให้เดินเครื่องเต็มที่โดยไม่ต้องตรวจสอบหรือตั้งคำถาม?) และกล่าวเสริมว่าได้ยินว่ามีคนมาบ่นเรื่องนี้

หลายคนในแวดวงพันธมิตรฯ คงยังจำได้ถึงอีเมล์ของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ส่งอีเมล์ไปบอกบรรดาเพื่อนๆ ว่าอย่าได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ช่วงที่กำลังชุมนุม หากควรรอให้การต่อสู้จบเสียก่อน

นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่นายสมกียรติ พงษ์ไพบูลย์ได้เข้าพบนายเสนาะ เทียนทองอย่างลับๆ เพื่อโน้มน้าวให้นายเสนาะ (เทียนทอง) ไขน็อตออกจากไทยรักไทย ซึ่งผู้เขียนตอนนั้นได้รับความไว้วางใจจากนายสมเกียรติให้ไปร่วมรับฟังการเจรจา ณ บ้านนายเสนาะด้วย

ด้วยสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ผู้ที่คิดจะเข้าร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ วันศุกร์นี้ ควรเรียกร้องให้กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยและเปิดเผยโปร่งใสอย่างแท้จริง มิใช่แกนนำ 3-4 คนตัดสินจะให้เดินขบวนก็ไปเดินตาม บอกให้หยุดก็หยุด บอกชูธงเหลืองก็ชู บอกกราบก็กราบ และหากสิ่งเหล่านี้มิสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ควรทบทวนเสียใหม่ว่า กลุ่มนี้ควรใช้คำว่าประชาธิปไตยอยู่ในชื่อของกลุ่มตนต่อไปหรือไม่

3. กลุ่มพันธมิตรฯ ดูเหมือนจะไม่ยอมเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

แกนนำส่วนใหญ่ของพันธมิตรฯ ยังยืนยันว่ามิได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนรัฐประหาร แถมบางคนอย่างนายวีระ สมความคิด ก็ยังได้กล่าวในข้างต้นว่ายังรับได้หากมีรัฐประหารเพื่อประชาชนอีกในอนาคต ถึงแม้ว่า นายวีระจะยอมรับว่ารัฐประหารเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม

จะว่าไปแล้วกระบวนการทบทวนร่วมกันในสาธารณะจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่โปร่งใสและไม่มีกลไกในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พบกันในห้องไม่กี่คน ปิดประตู แล้วออกมาแถลง และดูเหมือนพวกเขาก็กำลังจะทำผิดซ้ำซ้อนอีก

4. โปรดตระหนักว่าในขณะที่ผู้คนมีสิทธิในการแสดงออกต่อต้านทักษิณ โอกาสที่ผู้คนจะแสดงออกผ่านสื่อต่อสาธารณะนั้นมีความไม่เท่าเทียมเป็นอย่างยิ่ง

มีใครตอบได้บ้างไหมว่า ทำไมคนอย่างนายสุริยะใสจึงสามารถพ่นอะไรต่อมิอะไรผ่านสื่อได้ทุกอาทิตย์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสจะแสดงความเห็นผ่านสื่อกระแสหลักแม้เพียงประโยคเดียว

หรือการที่นายสนธิมีสื่อเป็นของตนเองอยู่ในมือช่วยให้การสื่อสาร (หรือโฆษณาชวนเชื่อ?) กระทำได้อย่างราบรื่นสะดวกรวดเร็ว หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หรือดูเอเอสทีวี ก็จะพบแต่ข่าวและภาพผู้นำพันธมิตรฯ ผลัดกันขึ้นปกเป็นข่าวใหญ่แทบไม่เว้นแต่ละวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ (เพราะ นสพ.ผู้จัดการไม่ออกฉบับวันอาทิตย์) และถึงแม้คุณอาจเห็นด้วยกับจุดยืนทั้งหมด หลายอย่าง หรือบางอย่างของแกนนำพันธมิตรฯ คุณก็ยังควรตระหนักว่า ความเป็นจริงมีอยู่หลายด้านหลายมิติซึ่งน่าจะมากกว่าสองด้านของเหรียญเหรียญหนึ่งด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในขณะที่คุณใช้สิทธิในการชุมนุมและแสดงออกกรุณาฟังเสียงข้างอื่นๆ อย่างจริงใจและจริงจัง แน่นอนมันคงไม่สบายและรื่นหูที่คุณจะลองไปฟังกลุ่ม นปก. อ่านหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ หรือดูทีวีเอ็มวีนิวส์ แต่ก็ควรปฏิบัติหากมีโอกาสเพื่อที่จะได้รู้ว่าแต่ละกลุ่มที่หลากหลายในสังคมคิดอย่างไร (หรือยัดเยียดโฆษณาชวนเชื่อโดยใช้รูปแบบคล้ายกันแค่ไหน) เพราะในที่สุด ความหลากหลายและแตกต่างในสังคมเป็นเรื่องปกติ แต่การจัดการและอยู่ร่วมกับความหลากหลายควรทำอย่างสันติและมีสติ

5. โปรดระวังอาการคึกคะนองจนหลงว่าสิ่งที่ตนคิดนั้นถูกต้องไปเสียทั้งหมด

ที่บอกให้ระวังเพราะว่าในการชุมนุมของคนจำนวนมากนั้น การพูดคำโตๆ เว่อร์ๆ แบ่งขาวดำชัดเจนได้กลายเป็นเรื่องปกติจนแทบหลีกเลี่ยงมิได้ ความจริงที่สลับซับซ้อนจะถูกหั่นทิ้งจนทำให้ดูเข้าใจง่าย แต่อาจมิได้นำไปสู่การเข้าใจอย่างแท้จริง ในการต่อสู้ระหว่างเทพกับมารที่เห็นแค่ดีกับชั่ว มิตรกับศัตรู (และใครไม่ร่วมกับกูก็ย่อมเป็นศัตรู) ย่อมไม่มีที่สำหรับรายละเอียดปลีกย่อย ความสลับซับซ้อนและย้อนแย้งของสังคมและการเมือง

คุณอาจรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเพลงเพื่อชีวิต หรือกลอนทางการเมืองร่ายรำอย่างรุนแรงโดยวสันต์ สิทธิเขตต์ (ผู้ซึ่งออกมาประท้วงทหารประมาณ 10 เดือนหลังเกิดรัฐประหาร หลังจากจัดนิทรรศการเชียร์ คมช. หรือ “ทหารเพื่อประชาธิปไตย” ไปในช่วงแรกๆ) โปรดกรุณาอย่าเคลิบเคลิ้มและโปรดระลึกอยู่เสมอว่า นี่คือการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่คอนเสิร์ตยามเฝ้าแผ่นดิน หรือการร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อต้อนรับผู้ปลดปล่อยองค์ใหม่

ความแตกแยกทางความเห็นทางการเมืองไม่น่าจะแก้ได้โดยการพูดเว่อร์ๆ มองอะไรเป็นขาวเป็นดำ หรือเรียกรถถังออกมาอีกรอบ