“พันธมิตร”เตรียมสุมหัวหามาตรการคัดค้านการแก้ไข รธน. เน้นเป็นวาระสำคัญวันปลุกม็อบ 28 มีนาฯ อ้างขนคนฟังลำบากรัฐคอยส่งคนข่มขู่ ด้าน “มาร์ค” ประสานรับชี้รัฐฯ แก้กฎหมายได้อันตราย เหน็บ “บรรหาร” ปชป. คิดถึงแต่ส่วนรวม ด้าน “ชูศักดิ์” อ้างเสียงส่วนใหญ่ให้ยกเลิก ม.309
วันนี้ (26 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า แกนนำพันธมิตรฯ จะมีการกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้อย่างแน่นอน และในวันที่ 28 มี.ค. ก็จะนำไปเป็นวาระสำคัญในการอภิปรายปราศรัยของแต่ละคน รวมทั้งหามาตรการคัดค้านร่วมกันกับสมาชิกที่มาร่วมกิจกรรมในวันนั้น
“การเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.237 เพื่อหนีความรับผิดชอบ ทำให้เห็นธาตุแท้ว่ากรรมการบริหารพรรคการเมืองของทั้ง 3 พรรค ได้สารภาพผิดกลางแจ้งว่าคนของพรรคทั้ง 3 ทุจริตเลือกตั้งจริง จนไม่สามารถที่จะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในชั้นการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญได้ พูดง่ายๆ คือสู้ไปก็แพ้ก็เลยแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้กับตัวเองเลยดีกว่าง่ายดี” นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้แกนนำหลายๆ จังหวัดแจ้งมาว่าการระดมคนมาร่วมชุมนุมในต่างจังหวัดเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากมีการสกัดการเดินทางสารพัดวิธี เช่น ข่มขู่เจ้าของรถตู้ รถบัส ไม่ให้นำคนเข้ามา หรือการปล่อยข่าวแก๊งปาหิน อาละวาดที่โน่นที่นี่ กระทั่งการดักฟักโทรศัพท์แกนนำ ก็กระทำกันอย่างกว้างขวางทั้งคนในบริษัทเอกชนเจ้าของมือถือ รายใหญ่บางค่าย และหน่วยงานการข่าวของทางราชการ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีแก้การรัฐธรรมนูญ ว่า ทุกฝ่ายต้องมาหารือร่วมกันเพื่อดูภาพรวมของรัฐธรรมนูญ หากไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ แต่ไม่ใช่เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาเฉพาะกลุ่ม เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย (ชท.) ออกมาตัดพ้อกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าอยากให้นายบรรหาร คิดถึงภาพรวมของบ้านเมือง หากใช้ตรรกะว่าคนที่มีอำนาจสามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันคนในองค์กรตัวเองจะได้รับความผิดได้
“ในฐานะพรรคการเมืองไม่ใช่ไม่เห็นใจ ผมรู้ว่าภาระมันหนักแค่ไหน พรรค ปชป. ก็กังวลเรื่องนี้ ปัญหาแบบนี้มีการพูดกันมาตลอด แต่อยากให้นายบรรหารนึกถึงส่วนรวมมากกว่า ถ้าทำทุกอย่างโดยสุจริตใจ ก็ไม่ใช่จะไม่มีช่องทางการต่อสู้ อย่างไรก็ดีในฐานะพลเมืองในสังคมที่มีกฎหมายใช้บังคับอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อมีกฎหมายแล้วคนมีอำนาจไปแก้ไขกฎหมายได้มันจะอันตราย' นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายชัย ชิดชอบ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวก่อนการเข้าประชุมวิปฯถึงกรณีญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 โดยเป็นการเสนอจากนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมา เพราะต้องเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนของระเบียบวาระ เรื่องด่วนที่สุดคือเรื่องปัญหาภาคใต้ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่
ประธานวิปรัฐบาล ยังกล่าวถึงเรื่องการคัดค้านของอดีต ส.ส.ร.ว่าตนไม่ทราบ แต่ ส.ส.ร. เป็นผู้สร้างบรรทัดฐานของกฎหมายไว้ เหมือนการสร้างบ้านคนที่ปลูกบ้านพอใจอยู่ เมื่อขายให้คนอื่นไปอาศัยคนที่มาใหม่ก็ต้องแก้ไขบ้านให้อยู่ได้อย่างสบาย เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานในระบอบประชาธิปไตย ส่วนกรอบเวลาในการทำงานนั้นไปกะเกณฑ์เวลาอะไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุม' นายชัย กล่าว
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า ในส่วนของพรรคพลังประชาชนยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน แต่เท่าที่ระดมความเห็น มีหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไข อาทิ มาตรา 237 (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และการยุบพรรค) , มาตรา 261 (เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ) , มาตร 266 (ข้อห้ามในการใช้ตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายระบบราชการ) และมาตรา 309 (การรับรองรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2549)
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรา 309 บทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้มีการนิรโทษกรรมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่ให้ยกเลิกมาตรา 309 เพราะเห็นว่าการบัญญัติว่า บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม ถ้ามีการแก้ไขตรงนี้ ก็จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องด้วยสามารถต่อสู้ได้ว่า ประกาศ คปค.ทั้งหมดไม่ถูกกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เราต้องทำให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม
“อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือกับวิปรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยุ่งยาก ต้องทำร่างแก้ไข ถ้าผิดเพี้ยนเพียงเล็กน้อย ความหมายก็จะเปลี่ยนไป เกิดปัญหาเรื่องการตีความ จึงจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์มาช่วย” นายชูศักดิ์ กล่าว